DotProperty.co.th

ดร.สามารถ ไขปริศนา ใคร? ทำให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงหาย 1 กม. ส่งผลสูญเสียใหญ่หลวง

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,รถไฟฟ้าสายสีม่วง

วันนี้ (13 มิ.ย.) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ระบุว่า

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,รถไฟฟ้าสายสีม่วง 01

ในวันที่ 6 สิงหาคม 2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางใหญ่ถึงเตาปูน ต่อจากนั้นผู้โดยสารจะต้องนั่ง Shuttle Bus (ชัตเติลบัส) ไปถึงสถานีบางซื่อ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางตามเส้นทางของรถไฟฟ้าใต้ดินระหว่างบางซื่อถึงหัวลำโพงต่อไป ใครทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไปถึงสถานีบางซื่อ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารจำนวนมากต้องเสียเวลาโดยใช่เหตุ บทความนี้มีคำตอบ

รถไฟฟ้าสายที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงประกอบด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม หรือรถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งระหว่างบางซื่อ-หัวลำโพง ซึ่งรฟม.เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใหม่ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิมจากบางซื่อ-เตาปูน-ท่าพระ-หัวลำโพง และจากท่าพระ-บางแค รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใหม่นี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างงานโยธาจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี พ.ศ.2561

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใหม่ช่วงบางซื่อ-เตาปูน มีการก่อสร้างงานโยธาเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร และระบบตั๋ว รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางใหญ่ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใหม่ที่สถานีเตาปูนเพื่อเดินทางไปสู่สถานีบางซื่อหรือสถานีอื่นตามเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิมได้ รฟม.จึงแก้ปัญหาด้วยการให้ผู้โดยสารนั่งชัตเติลบัสไปจนถึงสถานีบางซื่อแล้วเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิมเพื่อเดินทางสู่จุดหมายปลายทางต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นเช่นนี้เป็นเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใหม่ช่วงบางซื่อ-เตาปูน ถูกฝากการก่อสร้างไว้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เนื่องจาก รฟม.เห็นว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะเสร็จก่อนสายสีน้ำเงินใหม่ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางใหญ่สามารถเดินทางถึงบางซื่อด้วยรถไฟฟ้าได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ชัตเติลบัสให้เสียเวลา แต่การดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่ รฟม.คาดหวังไว้ เพราะคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินการ ไม่สามารถเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้รับสัมปทานบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้า (Operator หรือโอเปอเรเตอร์) สายสีน้ำเงินเดิมให้ขยายการเดินรถจากบางซื่อถึงเตาปูนได้เป็นผลสำเร็จ

เบื้องหลังของความล้มเหลวในการเจราจากับบีอีเอ็มนั้นเกี่ยวโยงกับการหาโอเปอเรเตอร์สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใหม่ช่วงเตาปูน-ท่าพระ-หัวลำโพง และช่วงท่าพระ-บางแค เนื่องจากการคัดเลือกโอเปอเรเตอร์สำหรับช่วงดังกล่าวนั้นเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติให้เจรจาโดยตรงกับบีอีเอ็ม เพื่อให้เกิดความสะดวกกับผู้โดยสารที่สามารถเดินทางเป็นวงรีได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้า แต่มีการทักท้วงโดยผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวคือ สภาพัฒน์ต้องการให้มีการเปิดประมูลแข่งขัน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้โอเปอเรเตอร์รายใหม่ ไม่ต้องการให้โอเปอเรเตอร์รายเดิมหรือบีอีเอ็มผูกขาด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าบีอีเอ็มจะได้เป็นโอเปอเรเตอร์ของช่วงดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บีอีเอ็มไม่ยินดีที่จะรับเดินรถไฟฟ้าช่วงสั้น ๆ ระหว่างเตาปูน-บางซื่อ

หลังจากมีการชักเย่อคัดเลือกโอเปอเรเตอร์มาประมาณ 5 ปี โดยสภาพัฒน์ยืนกรานให้เปิดประมูลตลอดมา แต่อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะมีการเจรจาโดยตรงกับบีอีเอ็มสำหรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใหม่ตลอดสาย ซึ่งผมคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะสามารถเจรจาและทำสัญญากับบีอีเอ็มได้ หลังจากนั้นบีอีเอ็มจะต้องเร่งติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร และระบบตั๋ว รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับช่วงเตาปูน-บางซื่อ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ดังนั้น ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะต้องใช้บริการชัตเติลบัสไปเป็นเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งหากทุกฝ่ายเห็นชอบให้เจรจาโดยตรงกับบีอีเอ็มตั้งแต่แรก เหตุการณ์เช่นนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

ความล่าช้าในการหาโอเปอเรเตอร์สำหรับสายสีน้ำเงินใหม่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายเฉพาะผู้โดยสารสายสีม่วงเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้โดยสารสายสีน้ำเงินใหม่อีกด้วย กล่าวคือ หลังจากการก่อสร้างงานโยธาของสายสีน้ำเงินใหม่แล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ.2561 จะต้องรอไปจนถึงปลายปี พ.ศ.2562 จึงจะสามารถเปิดให้บริการได้ เพราะจะต้องรอให้การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋ว ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการจัดหาขบวนรถแล้วเสร็จ ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใหม่เสียโอกาสไปอย่างน้อย 1 ปี และในช่วง 1 ปีดังกล่าว รฟม.จะต้องเสียเงินบำรุงรักษางานโยธาที่ก่อสร้างเสร็จแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย

ทั้งหมดนี้ พอจะรู้ใช่ไหมครับว่าใครทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเดือดร้อน และทำให้ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินใหม่ต้องเสียโอกาสใช้รถไฟฟ้าไปไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งถือเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวง

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก prachachat.net

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/