คงไม่มีใครปฎิเสธได้ว่า วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วได้กลายเป็นจุดชนวนครั้งสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจและการบริโภคต่างๆ ชะลอตัวไปทั่วโลกและทั่วทุกวงการ สินค้าและรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยต่างๆ ถูกตัดออกจากแผนการใช้จ่ายของผู้คนในสังคมเพราะความไม่มั่นใจในอนาคตที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ชัดเจน
ถึงกระนั้นก็ตามตลาดอสังหาฯ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย แต่ยังมีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นสินค้าในกลุ่มปัจจัย 4 ซึ่งมีความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา หมายความว่าไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจดีหรือตกต่ำอย่างไร ก็ยังมีกำลังซื้อเรียลดีมานด์เข้ามาอยู่เรื่อยๆ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่สถานการณ์และความนิยมของสินค้าในประเภทย่อยต่างๆ
บ้านแนวราบ รวมถึงคอนโดแนวราบ ยังเป็นตัวทำรายได้หลักให้กับบริษัทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
จากผลสำรวจล่าสุดพบว่าสินค้าที่อยู่อาศัยประเภท บ้านแนวราบ รวมถึงคอนโดแนวราบ ยังเป็นตัวทำรายได้หลักให้กับบริษัทต่างๆ ได้เป็นอย่างดีเมื่อเปรียบเทียบกับที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ เช่น อสังหาฯ แนวสูงหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนั้นนักวิเคราะห์ต่างมองว่า เพราะกำลังซื้อตลาดบ้านแนวราบส่วนใหญ่เป็นกำลังซื้อในกลุ่ม เรียลดีมานด์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มองหาที่อยู่อาศัยเพื่อสนองความต้องการในช่วงนั้นจริงๆ แผนในการซื้อจึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก ซึ่งแตกต่างจากที่อยู่อาศัยแนวสูงหรือคอนโดมิเนียมที่กลุ่มลูกค้ามีหลากหลาย ทั้งกลุ่มเรียลดีมานด์ รวมถึงกลุ่มลูกค้าอีก 2 กลุ่มสำคัญ นั่นคือ “นักลงทุน” กับ “นักเก็งกำไร” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดครั้งนี้แบบเต็ม ๆ ทำให้ความต้องการลดลง มีการปรับแผนและชะลอการลงทุน อย่างเห็นได้ชัดส่งผลให้ยอดผลประกอบการโดยภาพรวมลดลงอย่างชัดเจน
ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจยอดผลประกอบการใน ปี 2563 ที่บริษัทที่ผลประกอบการอยู่ในแดนบวกส่วนใหญ่ ได้วางกลยุทธ์คล้ายคลึงกัน นั่นคือการเพิ่มพอร์ตบ้านแนวราบขนานใหญ่ โดยมี AP ครองตำแหน่งรายได้สูงสุดของตลาดปี 2563 ที่ยอดการรับรู้รายได้ 4.6 หมื่นล้าน ซึ่งถือเป็นยอดที่สูงสุดที่เคยทำได้นับแต่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งหากวิเคราะห์กันดีๆ แล้ว สิ่งที่โดดเด่นที่ทำให้ AP โต สวนกระแสโควิดครั้งนี้ได้ มาจาก 2 ส่วนสำคัญ นั่นคือ กลยุทธ์ทางธุรกิจที่วางแผนให้โฟกัสพอร์ตแนวราบมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต ในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งเป็นยุคที่ ใครๆ ต่างจับจ้องกลุ่มลูกค้าจากจีนที่ถาโถมเข้ามา จับจองคอนโดฯ ในไทย แต่ทาง AP มองตลาดอย่างเฉียบขาดและเลือกที่จะแตกต่างด้วยวางนโยบายเพิ่มรายได้จากกลุ่ม บ้านแนวราบ คอนโดแนวราบ ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตครั้งสำคัญในปี 63 ที่กำลังซื้อจากนักลงทุนและ ชาวต่างชาติหดหายไปจนแทบไม่เหลือ AP ก็จะเติบโตด้วยพอร์ตโปรดักส์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์ ได้อย่างไม่สะทกสะเทือนมากนัก ซึ่งต้องยกให้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับวงการอุตสาหกรรมอสังหาฯ จะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจต่อไปในอนาคต
และเมื่อเปรียบเทียบกับ แบรนด์พี่ใหญ่วงการอสังหาฯ อย่างค่าย แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผู้ยืนหนึ่งที่ทำกำไรสุทธิสูงสุดตลอดกาล แต่ในปี 2563 แลนด์ฯ มีกำไรสุทธิ 7,144.92 ล้านบาท ลดลงถึง -28.73% จำนวน -2,880 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจาก โควิด เพราะกำไรขั้นต้น หรือ gross margin ของบริษัท มักเกิดจาก กลุ่มนักลงทุนเป็นหลัก
คล้ายคลึงกับ อีกหลายบริษัท ที่ตัวเลขผลประกอบการอยู่ในแดนบวก ไม่ว่าจะเป็น “เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น” ซึ่งยอดรายได้ปี 63 อยู่ที่ 18,976 ล้านบาท โดยมาจากยอดขาย บ้านแนวราบ ถึง 14,757 ล้านบาท ทำให้แบรนด์เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 37% จากปี 2562
รวมถึงแบรนด์ ศุภาลัย อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญ บ้านแนวราบ ที่ทำยอดขายนิวไฮที่ 24,376 ล้านบาท ในปี 63 ฝ่ากระแสคลื่นลมความผันผวน ของวิกฤตโควิด ไปได้อย่างสวยงาม
ทั้งหมดนี้คงเป็นเครื่องยืนยันคำพูดที่ว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาสได้เป็นอย่างดี ขอเพียงเรียนรู้และปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายแบรนด์เลือกใช้ในการประคับประคองฝ่าคลื่นลมวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ก็คือการ เลือกเจาะกลุ่มลูกค้าบ้านแนวราบ และ คอนโดแนวราบ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญและได้กลายเป็นรากฐานหลักของการบริโภคในประเทศ ในยุคที่การเดินทางเชื่อมต่อได้อย่างสะดวกสบายโดยรถไฟฟ้า ทำให้ราคาบ้านแนวราบในบริเวณที่ไกลออกจากเมืองแต่สะดวกด้วยการเดินทางโดยรถไฟฟ้ากำลังเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่นับปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ที่ว่าหลายคนเริ่มสนใจอยากมีที่พักอาศัยที่มีบริเวณส่วนตัว ไม่ต้องอยู่ปะปนกับคนจำนวนมากอย่างคอนโดแนวสูง อันอาจเกิดปัญหาเรื่องโรคติคต่อดังที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างส่งผลให้ตลาดบ้านแนวราบยังเป็นขุมทรัพย์สำคัญ ที่หลายแบรนด์ต่างต้องการช่วงชิงในยุคที่กำลังซื้อจากภายนอกและการลงทุนยังไม่ฟื้นกลับมา
ที่มา : https://www.reic.or.th/News/RealEstate/453267