DotProperty.co.th

ต่างกันมั้ย…สงกรานต์ไทย 4 ภาค


สวัสดี วันพญาวันค่ะ…วันนี้เป็นวันดี วันยิ่งใหญ่ เป็นวันเริ่มต้นสิ่งดีๆ ให้กับชีวิตค่ะ ใครไปทำบุญตักบาตรกันแล้ว ก็ขอให้บุญรักษากันตลอดปี ตลอดไปเลยนะคะ

           สำหรับวันนี้เรามีเรื่องเบาๆมาฝากสำหรับคนที่ไม่ได้ไปเที่ยวเล่นที่ไหนวันสงกรานต์ ขอเวลาสัก 3 นาที ลองมานั่งอ่านกันดูหน่อยก็แล้วกันนะคะ

สงกรานต์ 4 ภาค ต่างกันยังไง…?

นอกจากภายนอกที่เราจะเห็นได้ชัดก็คือ การแต่งตัวสวยงาม มาประชันกันแล้ว ยังมีอะไรที่ต่างกันอีก ลองมาดูกันค่ะ

ภาคเหนือ

           สงกรานต์วันแรก ประเพณีปี๋ใหม่เมือง จุดประทัด กวาดบ้านเรือน อาบน้ำ สระผม ชำระร่างกายให้เอี่ยม แห่พระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล วันต่อมาคือวันเนา เป็นวันเตรียมของทำบุญ ขนทรายเข้าวัด ตกแต่งด้วยตุงและแต่งกายพื้นเมือง วันพญาวัน หรือวันเถลิงศก วันที่ 3 ของสงกรานต์ วันนี้จะทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรมและขอขมาผู้ใหญ่ และวันสุดท้ายวันปากปี จะรดน้ำขอพรเจ้าอาวาส ถวายอาหารพระ ถวายทานอุทิศส่วนกุศล

ภาคกลาง

           วันแรก วันมหาสงกรานต์, วันเนา และวันเถลิงศก ทั้งสามวันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย และนิยมกวนกาละแมแจกจ่าย

ภาคอีสาน

           คนอีสานจะนิยมจัดงานกันอย่างเรียบง่าย และเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ “ตรุษสงกรานต์” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ โดยจะมีพิธีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระ และรดน้ำผู้ใหญ่ ด้วยการนำเอาน้ำอบ น้ำหอมไปสรงพระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ เพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข จะปรารถนาสิ่งใดขอให้สมหวัง เช่น ขอน้ำขอฝน ขอให้ตกต้องตามฤดูกาล และให้ข้าว น้ำ ปลา อุดมสมบูรณ์ และในเดือนนี้ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอีสาน โดยถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันเริ่มต้นทำบุญ

ภาคใต้

           ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้ สงกรานต์เป็นช่วงเวลาของการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง จึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (๑๓ เมษายน) เป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” หรือ “วันเจ้าเมืองเก่า” โดยเชื่อกันว่าในวันนี้เจ้าเมืองหรือเทพยดาประจำปีผู้ทำหน้าที่รักษาดวงชะตาของบ้านเมืองจำเป็นต้องละทิ้งบ้านเมืองที่ตนรักษาไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ในวันนี้ชาวบ้านจึงทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและร่างกาย บางทีก็ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยทำพิธีลอยเคราะห์ลงในแม่น้ำ เพื่อฝากเคราะห์กรรมซึ่งตนประสบไปกับเจ้าเมืองเก่า และอธิษฐานประสบโชคดีตลอดปีใหม่

           สรุปได้ว่ากิจกรรมหลักๆมีใจความที่คล้ายคลึงกัน แต่กระบวนการ หรือพิธีการนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละภาคและท้องถิ่น ยังไงก็…อย่าลืมให้ความสำคัญกับสงกรานต์ภาคของคุณกันด้วยนะคะ