เรียกว่าเป็นปัญหาที่คิดไม่ตกกันเลยทีเดียวก็ว่าได้นะครับกับ ‘การถมที่ดิน’ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ถมที่เองหรือจะเป็นเพื่อนบ้านต่างก็ต้องมีข้อควรรู้และข้อควรระวังเอาไว้ เพราะเมื่อเกิดปัญหาตามมาอย่าง ‘ถมที่บ้านเธอ แต่น้ำดันท่วมบ้านฉัน’ ขึ้นมา แล้วจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งในด้านกฎหมายเองก็มีข้อควบคุมดูแลอยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวกับเรื่องทางน้ำไหล และตามพระราชบัญญัติการขุดดินถมดิน พ.ศ. 2543 กำหนดไว้ โดยสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้
1. ตามกฎหมายมาตรา 1340 ป.พ.พ.
คนอยู่ที่ในพื้นที่ต่ำจำต้องรับน้ำไหลตามธรรมชาติหรือที่ไหลเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ปฎิเสธไม่ได้ จำเป็นต้องรับสถานเดียว แต่หากน้ำไหลเกิดจากการกระทำของคน (เพื่อนบ้าน) ก็มีสิทธิเรียกร้องให้เพื่อนบ้านที่ทำดินสูง จัดทำทางระบายน้ำและออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งปวง หรือเจ้าของที่ดินต่ำจะทำเองและไปเรียกค่าทดแทนภายหลังก็ได้
2. ตามกฎหมายมาตรา 26 วรรคแรก
หากพื้นที่ไม่เกิน 2000 ตารางเมตร (ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน) สามารถถมได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ต้องจัดให้มีทางระบายน้ำอย่างเพียงพอไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ที่ดินข้างเคียง
3. ตามกฎหมายมาตรา 26 วรรคสามและวรรคสี่
บุคคลใดจะถมที่ตัวเองก็มีสิทธิถมทั้งนั้น แต่ถ้าถมเกิน 2,000 ตารางเมตร ต้องแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นและต้องดำเนินการตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด เมื่อได้ทำตามแบบแล้วเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกใบรับแจ้งให้ ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อได้ใบรับแจ้งแล้วจึงจะดำเนินการถมที่ดินได้ ห้ามถมก่อนได้รับแจ้ง
เมื่อรู้ข้อกฎหมายแล้วใครที่จะถมที่ดินก็ควรป้องกันปัญหาหลังการถมดิน ด้วยการเช็กประวัติที่ดินให้เรียบร้อยเสียก่อนว่า ที่ดินนั้นเป็นดินประเภทอะไร ที่ดินนั้นมีประวัติอุทกภัย การพังทลายของหน้าดินหรือไม่ ดังนี้
พิจารณาประเภทดิน
ปกติแล้วดินนั้นมีหลายประเภท ก่ออนจะทำการถมที่ดินควรจะตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนว่าจะใช้ดินประเภทใด และจะนำพื้นที่นี้ไปทำอะไร เช่น
- ดินดาน มีลักษณะแห้ง บดอัดได้ดี นิยมใช้สำหรับถมที่ดินที่ต้องการปลูกสร้างทันที เช่น การถมพื้นถนน หรือที่ดินริมน้ำ
- ดินลูกรัง แม้จะเป็นดินที่บดอัดได้ดี แต่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินน้อย ไม่เหมาะกับการนำไปใช้เพาะปลูก
- ดินทราย แม้จะราคาถูก แต่มีลักษณะไม่อุ้มน้ำ ถูกกัดกร่อนได้ง่าย ต้องมีการป้องกันดินไหล และบดอัดอย่างดี เพื่อป้องกันการทรุดตัวในอนาคต
- ดินถมทั่วไป ดินทั่วไปที่มีราคาถูกกว่าดินประเภทอื่น จึงได้รับความนิยมมาก เนื้อดินแน่น แต่ความอุดมสมบูรณ์ของดินน้อย ไม่เหมาะกับการนำไปใช้เพาะปลูก
ทั้งนี้ ก็เพื่อเลือกดินให้เหมาะสมกับการทำกิจกกรรมนั้นๆ ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน หรือปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณเองและเพื่อนบ้านได้ด้วย
ตรวจสอบที่ดิน
คุณจะต้องทำการดูประวัติน้ำท่วมของพื้นที่นั้นๆ โดยอาจจะใช้วิธีสอบถามหรือหาข่าวอ่านย้อนหลัง ทั้งนี้เพื่อจะประมาณการถมดินให้สูงกว่าระดับดังกล่าว เพื่อป้องกันอุทกภัย และให้น้ำระบายออกมาจากพื้นที่ดินในบ้านได้ (อ่านปัจจัยที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการซื้อที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมได้ที่ วิธีเลือกซื้อที่ดินและซื้อบ้านใหม่ เพื่อหนีปัญหาน้ำท่วม ควรเลือกยังไงบ้าง?)
รวมถึงตรวจสอบระดับดินพื้นที่ดินบริเวณข้างเคียง และถนนหน้าบ้านว่า สูงเท่าไหร่ ซึ่งปกติจะถมให้อยู่ที่ ประมาณ 50-80 เซนติเมตร แต่จะอยู่ระดับที่ใกล้เคียงกับที่ดินเพื่อนบ้าน จะไม่นิยมถมที่ดินให้สูงเกินกว่านี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจเกิดแรงดันจนรั้วบ้านเสียหายได้
จะเห็นว่า ก่อนจะทำการสร้างบ้านหรือจะถมที่ ยังมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงต้องมาดูข้อกฎหมายที่ดินกันและการปลูกสร้างกันก่อนว่า ที่ดินแบบนี้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายที่ดินอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องภายหลัง หรือถ้าหากคุณคือเพื่อนบ้านที่โดนเอาเปรียบจะสามารถฟ้องร้องด้วยกฎหมายได้อย่างไรบ้าง ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นคำตอบให้กับคุณได้นะครับ