DotProperty.co.th

ถอดบทเรียน ‘เนเธอร์แลนด์’ ประเทศต่ำกว่าน้ำทะเล แต่ไม่เคยน้ำท่วม!

เมื่อพูดถึงพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล สำหรับเราชาวไทยแล้วก็คงจะเห็นเป็นกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่อยู่ต่ำกว่าน้ำทะเลเพียงนิด แต่เมื่อเทียบกับประเทศหนึ่งที่มีพื้นที่คล้ายกับกรุงเทพฯ ของเราเหลือเกินอย่าง เนเธอร์แลนด์ เราจะเห็นได้ถึงวิธีการจัดการน้ำที่ต่างกัน เพราะเขาจัดการน้ำอย่างจริงจัง ด้วยเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำโดยเฉพาะ และภาษีของประชาชนเองก็มีส่วนร่วมที่ช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาและการจัดการเรื่องน้ำท่วมเกิดขึ้นได้จริง

ทำความรู้จักกับ ‘เนเธอร์แลนด์’ ประเทศที่เคยเผชิญหน้ากับน้ำท่วมครั้งใหญ่

ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยมานาน เพราะเป็นประเทศที่มีแผ่นดินต่ำกว่าระดับน้ำทะเล (Low Countries) ถึง 20% ของพื้นที่ทั้งหมด แถมยังมีพื้นที่ตั้งอยู่ติดกับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสายสำคัญของยุโรปถึง 3 สาย ซึ่งเชื่อมติดกับทะเลเหนือ จึงทำให้เนเธอร์แลนด์เผชิญหน้ากับอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง 

และครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดคือ อุทกภัยที่ชื่อว่า ‘The 1953 North Sea Flood’ ซึ่งเกิดในวันที่ 31 มกราคม 1953 เกิดจากการรวมกันของน้ำในฤดูใบไม้ผลิจำนวนมหาศาล บวกกับลมพายุตะวันตกเฉียงเหนือที่รุนแรงจนทำให้เกิดคลื่นสูง ส่งผลให้เขื่อนพังทลายลง และทำให้ประเทศกว่าร้อยละ 9 กลายเป็นเมืองที่โดนน้ำท่วมไปในทันที

เหตุการณ์ในครั้งนี้คร่าชีวิตชาวดัตช์ไปกว่า 1,836 คน บ้านเรือน 4,500 หลังถูกทำลาย รวมไปถึงประชาชนกว่า 100,000 คนที่กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยโดยชั่วคราว เรื่องนี้จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญให้กับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่ต้องหาทางจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนในปัจจุบัน เนเธอร์แลนด์ได้กลายเป็นประเทศที่มีระบบการบริการจัดการน้ำที่ดีมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยหลายประเทศต่างให้ความสนใจที่จะศึกษาและนำไปปรับใช้กับประเทศของตนเอง

‘Delta Works’ โครงการป้องกันน้ำท่วมได้ทั้งเนเธอร์แลนด์

“Delta Works” คือโครงการที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยอมทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อสร้างโครงการย่อยทั้งสิ้นถึง 16 โครงการ ซึ่งมีทั้งเขื่อน พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ และกำแพงกันคลื่นจากลมพายุกว่า 14 แห่งรอบพื้นที่ที่ติดทะเลทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง

โดยส่วนที่เป็นเขื่อนจะทำหน้าที่กั้นน้ำทะเลและแม่น้ำออกจากกัน ซึ่งนอกจะส่งผลดี เพราะตัวชายฝั่งรับน้ำถูกเลื่อนให้อยู่ไกลจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยแล้ว น้ำส่วนที่อยู่ด้านในเขื่อนยังเป็นน้ำสะอาด ซึ่งสามารถใช้ในการเกษตรได้ด้วย ส่วนประตูระบายน้ำบริเวณปากอ่าว ก็สร้างขึ้นเพื่อควบคุมน้ำทะเลไม่ให้ทะลักเข้าแม่น้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน

จัดเก็บภาษีน้ำท่วม (Flood Tax)

เนื่องจากโครงการ Delta Works ใช้เม็ดเงินจำนวนกว่า 2.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.84 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งประเทศ จึงมีการจัดเก็บ “ภาษีน้ำท่วม” (Flood Tax) หมายความว่า หากชาวบ้านคนใดหรือชุมชนใดต้องการอาศัยอยู่ในบริเวณที่รัฐบาลประกาศให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยหรือพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ชาวบ้านคนนั้นต้องเสียภาษีมากกว่าคนปกติทั่วไป เพื่อนำมาใช้ในการซ่อมแซมเขื่อน ประตูระบายน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมต่างๆ รวมถึงการบริการจัดการน้ำอื่นๆ 

ซึ่งถึงแม้ต้องยอมลงทุนอย่างมหาศาลในเบื้องต้น รวมถึงมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม แต่ในระยะยาวก็จะสามารถช่วยป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน