DotProperty.co.th

สร้างต่อไม่ได้ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ งบ 2.3 หมื่นล้าน เหลือถึงแค่ทางแยกเกษตร

เป็นเรื่อง ทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ 2.3 หมื่นล้านสะดุด “ตอน N1” แนวใหม่หลบ ม.เกษตรฯ ติดปัญหาพื้นที่ก่อสร้างคลองบางบัว-วิภาวดี กทพ.เร่งปรับจุดขึ้นลง ค่าก่อสร้าง 1.7 หมื่นล้าน ดีเดย์ 4 ธ.ค.เซ็นสัญญาด่วนพระราม 3 “ช การช่าง” ซิวงาน 6.6 พันล้าน

 

ทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ งบ 2.3 หมื่นล้าน เหลือถึงแค่ทางแยกเกษตร เหตุติดปัญหาพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการจราจรทางบก (คจร.) อนุมัติให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เดินหน้าโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วงทดแทน N1 ไปพร้อมกับตอน N2 และต่อขยายช่วง E-W corridor รวม 17.2 กม. เงินลงทุน 23,266 ล้านบาท ควบคู่ไปกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี 22.1 กม. เงินลงทุน 48,386 ล้านบาท มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ เชื่อมการเดินทางพื้นที่ตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯ และแก้รถติด ถนนเกษตร-นวมินทร์ มีปริมาณจราจร 154,265 คัน/วัน  ปัจจุบัน สายสีน้ำตาลและทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนืออยู่ระหว่างขออนุมัติผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ล่าสุด โครงการต้องสะดุดกลางคัน โดยสายสีน้ำตาลทาง ม.เกษตรศาสตร์ไม่ให้ใช้พื้นที่ก่อสร้าง และขอให้ สนข.ทบทวนหารูปแบบอื่นที่ไม่กระทบต่อสถานศึกษาและประชาชนฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย ส่วนทางด่วนหลังปรับแนวใหม่แล้วยังติดปัญหาการใช้พื้นที่ก่อสร้าง

จ่อพับแผนด่วนเลาะคลองบางบัว

แหล่งข่าวจาก กทพ. เปิดเผย ว่า กทพ.ร่วมกับ สนข. ปรับแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N1 ลดผลกระทบที่ ม.เกษตรศาสตร์คัดค้าน โดยขีดแนวใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายให้เชื่อมต่อได้มากขึ้น แนวเส้นทางเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก มาตามแนว ถนนเกษตร-นวมินทร์ (ประเสริฐมนูกิจ) ผ่านแยกนวมินทร์ นวลจันทร์ ทางด่วนศรีรัช สุคนธสวัสดิ์ เสนานิคม ลาดปลาเค้า แล้วเลี้ยวขึ้นเหนือเลียบคลองบางบัวตามแนวถนนผลาสินธุ์ จนถึงคลองบางเขนจึงเลี้ยวตามแนวคลองบางเขนจนถึง ถนนวิภาวดี-รังสิต แล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งขนานกับโทลล์เวย์ ผ่านแยกบางเขน ไปเชื่อมกับยกระดับโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกที่จะสร้างในอนาคตบริเวณต่างระดับรัชวิภา โดยช่วงถนนเกษตร-นวมินทร์ใช้ฐานรากเดิมที่สร้างไว้แล้ว และใช้โครงสร้างร่วมกับสายสีน้ำตาล ระยะทาง 7.5 กม. แบ่งเป็นทางด่วนอยู่ด้านบนของสายสีน้ำตาล ซึ่ง กทพ.จะออกเงิน1,470 ล้านบาทสร้างฐานรากช่วงนี้ให้ รฟม.ไปก่อน เพราะทางด่วนใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) จึงมีความพร้อมก่อสร้างได้ก่อนสายสีน้ำตาล

“ช่วงทดแทน N1 มีระยะทาง 6.4 กม. ค่าก่อสร้าง 6,000-7,000 ล้านบาท ตอนนี้ติดเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง 2 จุด จุดแรกฝั่งตรงข้ามวัดบางบัวซึ่งปรับแนวเพื่อลดผลกระทบวัด หันไปใช้พื้นที่อีกฝั่งของกรมทหารราบที่ 11 อีกจุดอยู่ช่วงถนนวิภาวดีฯ สร้างตอม่อบริเวณคูคลอง แต่กรมทางหลวงจะใช้พื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีและทางจักรยาน เพิ่งมารู้ตอนยื่น EIA แล้วว่ามีโครงการนี้ จึงเป็นไปได้ว่าช่วง N1อาจจะไม่ได้สร้าง แต่ก็ไม่มีผลต่อโครงการมากนัก เพราะแผนเดิม กทพ.ตัดสร้างเฉพาะ N2 ไปเชื่อมกับวงแหวนตะวันออกอยู่แล้ว”

 

ประมูลเกษตรฯ-วงแหวนปีหน้า

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า แต่เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ กทพ.ระดมทุนผ่านกองทุน TFF 44,819 ล้านบาท สำหรับสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก วงเงิน 30,437 ล้านบาท และทางด่วนช่วง N2 และต่อขยาย E-W corridor 10.6 กม. วงเงิน 14,382 ล้านบาท ทาง กทพ.ได้ขายหน่วยกองทุนแล้ว พร้อมเดินหน้าสร้างช่วง N2 และ E-W corridor ก่อน   ปัจจุบันอยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาออกแบบทางขึ้นลงช่วงแยกเกษตรฯใหม่ ไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรที่มีข้อกังวลว่าจะเป็นคอขวดทำให้รถติดหนักขึ้นกว่าเดิม เช่น สร้างทางขึ้นลงก่อนถึงอุโมงค์ทางลอดแยกเกษตรฯเพื่อระบายรถ เมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.อนุมัติต่อไป

“เงินกองทุนมีพอก่อสร้างทั้ง 2 ทางด่วน เพราะสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ผู้รับเหมางานโยธา 4 สัญญาลดราคาทำให้ประหยัดเงิน 4,000 ล้านบาท จะนำรวมกับวงเงินเดิม 14,382 ล้านบาท ได้เงินกว่า 18,000 ล้านบาทไปสร้างช่วง N2 และ E-W corridor ที่ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 17,000 ล้านบาท ประมูลปีหน้า ส่วนสายพระราม 3 เริ่มสร้างปี 2563 ทั้ง 2 โครงการช้าจากแผนมากแล้วและทำให้ กทพ.มีภาระดอกเบี้ยจ่ายจากการระดมทุน TFF วันละ 6-7 ล้านบาท”

 

เร่งปิดจ็อบด่วนพระราม 3

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ.กล่าวว่า ปี 2563 จะเร่งสรุปแบบก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W corridor เพื่อประมูลไปก่อน แต่จะเซ็นสัญญาก็ต่อเมื่อผ่าน EIA เพราะมีเงินพร้อมลงทุน คาดว่าเริ่มสร้างในปี 2564 เสร็จปี 2567 ส่วนตอน N1 ยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ซึ่งต้องประสานกับกรมทางหลวง ยังเร่งเซ็นสัญญาก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก 18.7 กม. ทั้ง 4 สัญญา วงเงิน 25,072 ล้านบาท ให้เสร็จเดือน ม.ค. 2563 เพราะช้า 6 เดือน ซึ่งวันที่ 4 ธ.ค.ได้เซ็นสัญญาที่ 4 งานสะพานขึงข้ามแม่น้ำคู่ขนานสะพานพระราม 9 กับ บมจ.ช.การช่าง วงเงิน 6,636 ล้านบาทเป็นสัญญาแรก

ที่ มา ประชาชาติธุรกิจ