หากเจาะลงลึกไปในโครงสร้างต้นทุนของคอนโดมิเนียมจะเห็นว่า ราคาวัสดุก่อสร้างและค่ารับเหมานั้นเป็นต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก จากภาวะการแข่งขันที่สูงของผู้ประกอบการ แต่ต้นทุนที่สำคัญและผลักดันให้ราคาคอนโดมิเนียมนั้นสูงขึ้นก็คือ ต้นทุนที่มาจากราคา ที่ดิน ธรรมชาติของที่ดินนั้นเป็นสินค้าที่มีจำกัดโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ขณะที่ความต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นมีอยู่ตลอด ณ ตรงนี้จะเห็นว่าคนที่เป็นเจ้าของที่ดินทำเลดี เป็นที่ต้องการของตลาดคือผู้ที่มีกำไรมากที่สุดในภาวะที่คอนโดมิเนียมราคาแพง
วิทยาการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมการจัดหาที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาโครงการ ปัจจุบันมีการช่วงชิงการซื้อที่ดินค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพื้นที่ดินใกล้ใจกลางเมืองตาแนวเส้นทางรถไฟฟ้า พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น 30-40% ส่งผลให้ต้นทุนที่ดินเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ของต้นทุนการพัฒนาจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 25-30% ซึ่งส่งผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาคอนโดมิเนียมพอสมควร แม้ว่าต้นทุนค่าก่อสร้างไม่ได้ปรับขึ้นมากนักก็ตาม โดย 5 ปีที่ผ่านมา 2557-2561 ราคาคอนโดมิเนียม ย่านอโศกปรับตัวเพิ่มขึ้น 40% และย่านลาดพร้าวเพิ่มขึ้น 30%
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเอพี มีข้อได้เปรียบเรื่องการบริหารต้นทุนการก่อสร้างทำให้สามารถคุมราคาคอนโดมิเนียมใหม่ได้ค่อนข้างดีทำให้สามารถกำหนดราคาขายได้ตามราคาตลาด โดนพยายามทำให้ขายออกมารองรับได้ตามกำลังซื้อของลูกค้า
นาย กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ราคาที่ดินปัจจุบันโดยเฉพาะใจกลางเมืองราคาปรับสูงขึ้นเกินจริง ส่งผลต่อต้นทุนคอนโดมิเนียม ก่อหน้านี้ต้นทุนที่ดินจะมีสัดส่วน 15% ของต้นทุนก่อสร้างทั้งหมด ปัจจุบันสูงกว่า 35-40% ทำให้ราคาขายคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองราคาขายเฉลี่ย 3 แสนบาทต่อตารางเมตร มีแนวโน้มถึง 4-5 แสนบาทต่อตารางเมตร
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ