DotProperty.co.th

ทุบปีหน้า สะพานข้ามแยกรัชโยธิน ขอให้ประชาชนคนใช้ถนนทำใจ

สะพานข้ามแยกรัชโยธิน

ทุบปีหน้า สะพานข้ามแยกรัชโยธิน รฟม.สั่งรื้อแบบ “อุโมงค์” สร้างเสร็จใน 2 ปี

สะพานข้ามแยกรัชโยธิน 01

เลื่อนมาเป็นระลอก สำหรับแผนการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพื่อสร้างตอม่อ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” โดยเนื้องานอยู่ในสัญญาที่ 1 มียักษ์รับเหมา “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” เป็นผู้ก่อสร้าง

ล่าสุด “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ก็ขยับแผนการอีกรอบ จากเดิมตั้งเป้าจะให้ผู้รับเหมารื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินตั้งแต่เดือน เม.ย.แต่ก็เลื่อนมาเรื่อย ๆ จนมาเป็นเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้

พลันที่มีเสียงบ่นประชาชนผู้ใช้ทางประสบกับปัญหารถติดจากการปิดจราจรถนนพหลโยธินเพื่อก่อสร้างโครงการทำให้”รฟม.-ผู้รับเหมา-ตำรวจจราจร”ปรับแผนการก่อสร้างใหม่เลื่อนรื้อโครงสร้างสะพานไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน เป็นประมาณต้นปี 2560

“พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ” ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เปิดเผยว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.7 กม. บริเวณสะพานข้ามแยกรัชโยธิน มีข้อยุติกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว จะทำการรื้อสะพานออก และสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอดแนวถนนรัชดาภิเษก และสร้างสะพานข้ามแยกแนวถนนพหลโยธินแทน

ทั้งนี้ ก่อนที่จะรื้อสะพาน ทาง กทม.ขอให้ขยายพื้นผิวจราจรด้านล่างบริเวณ 4 แยกรัศมีด้านละ 500 เมตรให้เสร็จก่อน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหารถติด คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน อีกทั้งให้เร่งสร้างสะพานข้ามแยกแนวถนนพหลโยธินให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับการจราจรจ่อไว้ก่อน จนกว่าจะทำการรื้อสะพานเสร็จสิ้น

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอแผนปิดการจราจรที่จะมารองรับการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินให้กับตำรวจจราจรอนุมัติ ยังไม่สามารถระบุวันเวลาที่จะปิดได้ชัดเจน แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มรื้อและก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดได้ต้นปี 2560 จะให้เสร็จตามแผนที่กำหนดไว้เดือน ก.พ. 2562

“แผนเดิม เสนอตามเงื่อนไข กทม.คือขยายผิวจราจร 4 ด้านบริเวณแยกด้านละ 500 เมตรให้เสร็จ ต.ค.นี้ ขณะนี้กำลังดำเนินการ ด้านหน้าเมเจอร์รัชโยธินกับพหลโยธินซอย 28 ยังเหลือด้านสถานีตำรวจพหลโยธินกับ SCB ส่วนการสร้างสะพานข้ามแยกแนวถนนพหลฯ ผู้รับเหมาเริ่มเข้าไซต์ก่อสร้างแล้ว จะใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี อยู่ระหว่างเสนอแผนจัดจราจรใหม่ เพราะถ้ารอให้สะพานเสร็จ จะทำให้งานอุโมงค์ล่าช้าไปด้วย”

สำหรับแผนใหม่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้าหากขยายผิวถนน 4 ด้านตรงทางแยกเสร็จแล้ว จะเริ่มรื้อสะพานรัชโยธินช่วงทางลาดก่อน โดยให้ประชาชนที่ใช้ทางมาใช้ถนนด้านล่างแทน ซึ่งจะมีการทดลองการปิดและบริหารจัดการจราจรด้านล่างก่อนที่จะปิดการจราจร

“รถผ่านแยกรัชโยธินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนคัน/วัน ผ่านไปถนนพหลโยธินประมาณ 6 หมื่นคัน/วัน ที่เหลือกว่า 1 แสนคันจะวิ่งบนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งหากปิดจราจรเพื่อรื้อสะพานและสร้างอุโมงค์ทางลอดจะทำให้รถติดมหาศาล จึงต้องทำแผนจัดจราจรให้ดีเพื่อให้รถติดน้อยที่สุด”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าวในการประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้สั่งให้ปรับแบบก่อสร้างอุโมงค์ โดยบอร์ดให้ปรับรูปแบบอุโมงค์ใหม่ ให้ออกแบบจุดกลับรถใหม่ เพื่อลดความยาวของอุโมงค์ให้สั้นลงพร้อมกับใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ ๆ จะทำให้ใช้เวลาก่อสร้างสั้นลงตามไปด้วย คาดว่าจะร่นเวลาก่อสร้างจากเดิม 3 ปีเหลือ 2 ปี ทั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าก่อสร้าง เนื่องจากรูปแบบใหม่จะลดปริมาณเสาเข็มลง

ส่วนการจัดการจราจรใน 2 ปีที่สร้างอุโมงค์ทางลอด จะปิดทีละด้านและให้ประชาชนใช้เส้นทางด้านล่าง รวมถึงทางเลี่ยงตามตรอกซอกซอยควบคู่ไปด้วย และในระหว่างก่อสร้างคงจะปรับแผนก่อสร้างตลอดเวลาให้สอดรับกับการจราจรและให้รถติดให้น้อยที่สุด ซึ่งตรงจุดนี้เป็นจุดที่หนักที่สุดของโครงการ

ยังไงก็ขอให้ประชาชนคนใช้ถนนทำใจและเผื่อเวลาการเดินทางเมื่อวันนั้นมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก prachachat.net

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/