ผู้กู้บ้าน ต้องปรับตัว วางดาวน์ขั้นต่ำ
สำหรับผู้ที่ต้องการจะกู้บ้านอาจจะต้องปรับตัวเพราะแบงก์ชาติไม่ผ่อนกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ โดยในเวลานี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้กู้รายใหม่จะอยู่ 100,000 บัญชี ต่อปี มียอดมูลค่ารวม 300,000 ล้านบาท โดยบ้านแนวราบปัจจุบันไม่มีการซื้อเก็งกำไร แต่ถูกผลกระทบไปเต็มๆ ทำให้ผู้ทำเรื่องขอกู้ซื้อบ้านหลังแรกอาจจะต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 20% โดย LTV Limit ที่ 80% อีกประเด็นคือ บ้านแนวราบส่วนใหญ่เป็นบ้านสร้างเสร็จพร้อมโอน ระยะเวลาสร้างเร็ว ดังนั้นหากให้ยืดระยะเวลาผ่อนชำระเงินดาวน์คงเป็นไปได้ยาก ต่างจากคอนโดมิเนียมต้องใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี ระหว่างนี้สามารถผ่อนดาวน์กับโครงการได้
ธนาคารปรับตัว สำหรับการปล่อยสินเชื่อในการกู้บ้าน
นาย สำมิตร สกุลวิระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพื่อเสนอคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) เพื่อปรับแผนกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อ
โดยมีแผนรับมือ คือ ยืดอายุการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับยอดการโอนที่อยู่อาศัยของลูกค้ารายย่อย เนื่องจากแนวทางของธปท. จะส่งผลให้ยอดการโอนชะลอลง ดังนั้น ธนาคารจะปรับแผนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับยอดการโอน และเงื่อนไขต่อไป คือ จะปรับตามเซ็กเมนต์ระดับราคาบ้าน โดยพิจารณาตามรายโครงการ
อย่างไรก็ดี ในระยะกลางและระยะยาว ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับตัว เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งธนาคารจะต้องดูความสามารถในการโอนมากกว่ายอดขาย แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบยอดเท่าไร แต่น่าจะมีผลหลังแนวทางมีการบังคับใช้
“เราทำแผนเสนอบอร์ดเรื่องการปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกับการโอน และดูแลเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจและต้นทุนของลูกค้า แต่ในระยะกลางและยาวลูกค้าผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว เพราะมาตรการน่าจะมีผลต่อการโอนของลูกค้า”
นางสาว จามรี เกษตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย Retail Lending Products Management ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าในพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยว่าเป็นลูกค้ากลุ่มไหน เช่น วงเงินวางดาวน์, ราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไปหรือสัญญาที่ 2 ขึ้นไป เพื่อประเมินผลกระทบและรายงานต่อคณะกรรมการของธนาคารต่อไปพร้อมวางแนวทางบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. โดยตอนนี้ไม่สามารถคาดการณ์ว่ากฎกติกาของธปท.จะบังคับใช้ตามกำหนดเดิมหรือขยับเวลาออกไปเพื่อให้เวลาในการปรับตัวไม่พอ ซึ่งทั้งภาคธุรกิจกลัวผลกระทบจากกฎที่จะประกาศเดือนพฤศจิกายน ไม่ว่าจะเลื่อนการใช้บังคับหรือแก้ไขตัวเลข/ครอบคลุมลูกค้ากลุ่มไหนบ้าง
“ธปท.ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากแต่ละสถาบันจากเปิดเฮียริ่งค่อนข้างรอบด้าน ซึ่งน่าจะมีโอกาสนำข้อเสนอมาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องเก็งกำไร บ้านราคาเกิน 10 ล้านบาทหรือกรณีกู้สัญญา 3 สัญญา 4 เป็นต้นไป เพราะธปท.ห่วงเรื่องวินัยทางการเงินจึงต้องออกกฎเชิงป้องกันเพื่อจะช่วยลดความเสี่ยงในระยะยาว ส่วนเราเองคงต้องตบเท้ารับนโยบายถ้าธปท.ไม่ปรับอะไร”
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมองผลบวกที่จะชัดไตรมาส 4 ปีนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะยิ่งเติบโตจากข่าวกติกาใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้าซึ่งในส่วนของไทยพาณิชย์ยังคาอส่วนแบงก์ตลาดอันดับ 1 หากรวมธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็อยู่อันดับ 2 แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อทั้งปียังทำได้ตามเป้าโดยมีสินเชื่อใหม่สุทธิมูลค่า 9.2 หมื่นล้านบาทพอร์ตสินเชื่อคงค้าง กว่า 6 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินหนึ่งระบุว่า ที่ประชุมเฮียริ่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561ที่ผ่านมาที่ประชุมได้มีข้อสังเกตเรื่องโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจัดแพ็กเกจสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยบางแห่งเสนอดอกเบี้ยคงที่ปีแรกที่อัตรา 0.5% ถัดไปปีที่ 2 คิดดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งจุดนี้สะท้อนถึงสถานะของลูกค้าอาจจะไม่มีความมั่นคงในอนาคต ประกอบกับปัจจุบันลูกค้าผู้กู้มีอาชีพอิสระจำนวนมาก นอกจากกรณีธนาคารร่วมกับพันธมิตรโครงการเพื่ออำนวยสินเชื่อ ซึ่งมีการลดแลกแจกแถม และลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราต่ำบางช่วง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ