DotProperty.co.th

ธุรกิจอสังหาฯ กับความน่ากังขาในแง่การลงทุน

มาถึงชั่วโมงนี้ กับวาระส่งท้ายปี มันเป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งแล้วว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือหนึ่งในแนวทางการลงทุนที่ร้อนแรง และได้รับความสนใจอย่างมาก ไม่นับรวมนโยบายจากทางภาครัฐที่สนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ไหนจะโครงการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นในเวลาข้างหน้าอีกไม่ไกล

Credits: globalrealestate.com.au

แต่ก็เช่นเดียวกับที่เคยย้ำกันไปในหลายครั้ง การลงทุนทางอสังหาริมทรัพย์ ในทางหนึ่ง คือโอกาสที่ต้องเข้าหาด้วยความระวังอย่างใหญ่หลวง ที่ๆ ความผิดพลาด อาจให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายอย่างคาดไม่ถึง ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนอื่นๆ ที่มักจะพ่วงด้วยข้อควรจำใต้ดอกจันว่า ‘ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง…’

เช่นนั้นแล้ว…เรายังควรที่จะลงทุนอสังหาริมทรัพย์ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวหรือไม่? หรือควรมองลู่ทางอื่นไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด?

//เหตุผลที่อสังหาฯ ไม่เคยตาย

ถ้าจะมีเหตุผลง่ายๆ ข้อใดที่เป็นตัวบอกว่าแวดวงและการลงทุนทางด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น ยังคงยืนหยัดได้ภายใต้สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยตลอดนั้น เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘ความจำเป็น’ คือตัวผลักดันสำคัญที่ก่อให้เกิดความต้องการ และผลักดันมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอด ไม่ว่าจะบ้าน ทาวน์เฮาส์ หรือคอนโดมิเนียม ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่เพียงใด หรือสถานการณ์ทางการเมืองจะส่อเค้าวิกฤติจนถึงจุดแตกหักสักเพียงไหน ที่อยู่อาศัยที่แหล่งพำนักสุดท้ายที่จับต้องได้อย่างชัดเจนที่สุด และอาจเป็นปัจจัยชี้วัดทิศทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ (เช่นเดียวกับนโยบายกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากทางภาครัฐ ที่ชัดเจนแล้วว่ามุ่งเน้น Foundation ข้อนี้เพื่อขับเคลื่อนภาคส่วนอื่นๆ)

Credits: 3-devs.com

//ปลอดภัยใน ‘ความเสี่ยง’

กระนั้นแล้ว คำถามหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมาโดยตลอดคือ ถ้าการลงทุนอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงในความผิดพลาด และความผันผวนแล้วนั้น สู้เอาเงินทุนที่มี ไปลงกับกองทุน หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ หรืออื่นๆ ที่คนนิยมไม่ดีกว่าหรือ? ในแง่นี้ ประโยค ‘การลงทุนมีความเสี่ยง’ ยังคงใช้ได้ดีอยู่เสมอ เพราะมันหมายรวมถึง ‘ทุกการลงทุน’ แต่สำหรับอสังหาริมทรัพย์แล้วนั้น

มันคือความ ‘ปลอดภัย’ ที่มาในรูปของความเสี่ยงที่น่าสนใจ…

พลังการทวีทบยอด (Leverage) ด้วยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ (ที่ประเมินแล้วว่าธุรกิจชนิดนี้ มีความปลอดภัยในระดับที่รับได้) ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น (จากเงื่อนไขหัวข้อที่แล้ว) ไปจนถึงย่างก้าวที่ผู้เป็นเจ้าของสามารถกำหนดได้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง (ขึ้นกับข้อมูล ประสบการณ์ และจังหวะที่เข้ามา) จนมูลค่าที่สามารถต้านทานกระแสเงินเฟ้อที่พร้อมเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งหมดนี้ จะพบว่ามันมีระดับของความปลอดภัยที่รองรับไว้เป็นชั้นๆ บวกกับผลตอบแทนที่จะเข้ามาในระยะเวลาเท่ากันแล้ว ก็พบว่ามากกว่าการลงทุนชนิดอื่นในระดับทวีคูณ

Credits: lians.ca

//จุดลวงความผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองการลงทุนอสังหาฯ เป็นเรื่องของการทบทวี ต่อยอดจากสิ่งที่มี ด้วยพลังเงินจากแหล่งต่างๆ รวมถึงมีความเกี่ยวพันกับปัจจัยด้านอื่นๆ เช่นสังคม การเมือง และการเงินแล้วนั้น ความผันผวนอย่างรุนแรงที่คาดไม่ถึงที่อาจจะเกิดขึ้น จากการปั่นอุปสงค์และอุปทานที่ไม่มีอยู่จริงคือตัวแปรอันตรายที่จะทำให้เสียจังหวะและผลักผู้ลงทุนไปสู่จุดอับ และแน่นอนว่า มันแทบไม่ส่งสัญญาณอันตรายใดๆ จนกระทั่งเมื่อทุกสิ่งดำเนินไปสู่จุดที่สายเกินไป (ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540) จนถึงค่าเสื่อมตามเวลา และสภาพคล่องที่น้อยกว่าการลงทุนชนิดอื่นๆ ไม่สามารถที่จะซื้อมาแล้วขายไปได้อย่างง่ายๆ (โรเบิร์ต คิโยซากิ นักอสังหาฯ ชื่อดังเคยกล่าวเอาไว้ว่า การซื้ออสังหาฯ เหมือนการเตรียมลู่ทางสำหรับการแต่งงาน ถึงคุณอยากถอย ก็ไม่ง่ายนัก…)

Credits: brandwz.com

//ควรหรือไม่ ขึ้นกับ ‘คุณ’

ถึงจุดนี้ ถ้าถามว่าควรหรือไม่ ที่คุณจะลงทุนในแวดวงอสังหาฯ ในเวลานี้ มันคงไม่มีคำตอบฟันธงใดๆ ในแบบชี้ขาด แต่อยากจะมองว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนรูปแบบอื่นๆ บวกลบคูณหารถัวเฉลี่ยทุกปัจจัยแล้วนั้น คงบอกได้ว่าอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าลอง ภายใต้ขอบเขตความระวังที่อาจจะต้องมากขึ้น ละเอียดรอบคอบมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะมองอสังหาฯ เป็นการลงทุนระยะกลางที่สามารถดีด Momentum ได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะค่อยๆ เจียดเฉลี่ยแบบ Slowlife ค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม

Credits: btbt.co.za