นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ต้องการให้ประเทศไทยออกกฎหมายกำกับดูแลอาชีพตัวแทน นายหน้า อสังหาริมทรัพย์ เพราะปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมเหมือนต่างประเทศ ทำให้พบปัญหามีคนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาประกอบอาชีพตัวแทนนายหน้าอิสระจำนวนมากซึ่งบางส่วนขาดความรู้ ทำงานไม่มีมาตรฐานและปราศจากจรรยาบรรณจนก่อให้เกิดผลเสียแก่ผู้ซื้อและผู้ขายที่อยู่อาศัยจำนวนมาก
ต้องการให้ประเทศไทยออกกฎหมายกำกับดูแลอาชีพตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
สำหรับตัวอย่างปัญหาที่พบกันมาก คือการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้บริโภคจะไม่ได้รับการคุ้มครอง รวมถึงการเข้ามาประกอบอาชีพตัวแทนนายหน้าอิสระทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ เพราะจากส่วนใหญ่ไม่แสดงรายได้เพื่อเสียภาษี ตลอดจนเกิดช่องโหว่ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่เน้นกำกับดูแลเฉพาะการประกอบกิจการของนายหน้าฯนิติบุคคลเท่านั้น ทั้งนี้หากมีกฎหมายฉบับนี้จะช่วยพัฒนามาตรฐานของตัวแทนนายหน้า ต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ การจัดทำสัญญา ความเข้าใจด้านธุรกิจของบุคคลผู้ที่จะมาทำอาชีพตัวแทนนายหน้าจะต้องผ่านการเรียนและการสอบอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถใช้ความรู้แนะนำลูกค้า ปฏิบัติตามหลักจริยธรรม และต้องมีการสอบออกใบอนุญาตประกอบอาชีพ รวมถึงมีบทลงโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนที่กลัวกันว่ากฎหมายกำกับดูแลอาชีพตัวแทนนายหน้าจะกีดกันนายหน้าท้องถิ่นนั้น ในความจริงกฎหมายในบางประเทศก็ให้การยอมรับนายหน้าท้องถิ่น และได้รับส่วนแบ่งปันค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียมนายหน้าที่ได้รับด้วยเช่นกัน
“กฎหมายตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย ในความจริงแล้ว สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยได้เคยผลักดันให้มีกฎหมายในการกำกับดูแลอาชีพตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาตั้งแต่ปี 35 จนตอนนี้ผ่านมา 26 ปีแล้ว แต่ไทยก็ยังไม่มีกฎหมายใช้เลย ทั้งที่หลายประเทศก็ใช้มาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาใช้กฎหมายตั้งแต่ปี 2466 หรืออย่างประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซียใช้กฎหมายตั้งแต่ปี 2524 หรือ 37 ปีแล้ว ฟิลิปปินส์ใช้ปี 52 สิงคโปร์ใช้ 8 ปี เช่นเดียวกับกัมพูชาก็ยังใช้เช่นกัน ส่วนเวียดนามและเมียนมาก็กำลังจัดทำกฎหมายอยู่ ขณะที่ไทยซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในอาเซียน แต่กลับขาดเครื่องมือควบคุมนายหน้าของไทย และไม่มีเครื่องมือป้องกันนายหน้าจากต่างชาติอีกด้วย”
นายวิชัยกล่าวว่า ปัจจุบันบ้านมือสองมีจำนวนสูงกว่าคอนโด มิเนียม โดยปี 60 บ้านแนวราบมือสอง เช่น บ้านเดียว ทาวน์เฮาส์ มีการโอนกรรมสิทธิ์ถึง 207,000 หน่วย มูลค่าสูงถึง 416,000 ล้านบาท ขณะที่คอนโดมิเนียมมียอดโอน 110,000 หน่วย มูลค่าการโอน 260,000 ล้านบาท แต่ในอนาคตคอนโดฯ มือสองน่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย เพราะคนจะนิยมหาซื้อที่อยู่อาศัยในเมือง ใกล้รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า รวมถึงชาวต่างชาติก็มีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในไทยเพิ่มด้วย จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเข้ามาช่วยดูแล ธุรกิจ และตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก…