แม้ช่วงนี้จะมีฝนน้อยในหลายๆพื้นที่ และข่าวภัยแล้งที่มาไวกว่าทุกปีก็ตาม โดยเฉพาะทางฝั่งภาคอีสานที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก แต่ก็มองข้ามไม่ได้กับการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพราะเราทราบกันดีว่าช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนที่ไม่ได้มีฝนตกชุกอะไรมากนัก แต่หลังจากนี้ไป ตั้งแต่เดือน สิงหาคม ไปจนถึง ตุลาคม เป็นช่วงที่มีปริมาณฝนที่หนาแน่นของทุกๆปี ดังนั้นวันนี้เรา จะมาดูกันว่า 10 จังหวัดพื้นที่เฝ้าระวัง น้ำท่วม ขังอย่างหนักจะมีที่ใดกันบ้าง เพื่อเตรียมรับมือในอนาคต
10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังซ้ำซาก
โดยส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่เป็นประจำมักเป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน เพราะเปรียบเสมือนพื้นที่รองรับน้ำจากภาคเหนือ อีกทั้ง เขื่อนป่าศักด์และเขื่อนเจ้าพระยา ก็ไม่สามารถที่จะระบายน้ำได้ทัน และพื้นที่ที่กล่าวมาเป็นพื้นที่เหมือนแอ่งรองรับน้ำ จึงทำให้มีการท่วมขังอยู่บ่อยครั้ง โดยพื้นที่ของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีดังนี้
1.พระนครศรีอยุธยา
เรียกได้ว่าเกือบทั้งจังหวัดและเกือบทุกๆปี ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เป็นจังหวัดประสบภัยน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และ แม่น้ำป่าสัก ไหลผ่าน จึงทำให้พอถึงฤดูน้ำหลาก ก็จะไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ทั้งจังหวัด ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือนร้อนจากพืชผลเสียหายอยู่ทุกๆปี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อระบายออกจาก 4 เขื่อนใหญ่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนแควน้อย และ เขื่อนป่าสักฯ โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1423.8 มิลลิเมตร โดยประมาณ
2.กรุงเทพฯ คลองสามวา มีนบุรี หนองจอก
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังของทุกปีในกรุงเทพฯอย่าง คลองสามวา มีนบุรี หนองจอก มักเป็นพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของกรุงเทพฯมาโดยตลอด เพราะพื้นที่แถบนี้นอกจากจะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกชุกแล้ว ยังเป็นพื้นที่รองรับน้ำเวลาน้ำท่วมไหลหลากมาจากทางภาคเหนือและอยุธยาต่ออีกที นอกจากนี้พื้นที่ทาง ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางแคเอง ก็ถือว่าเป็นพื้นที่รับน้ำที่มาจากภาคเหนือเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับกรุงเทพฯคือ ตัวเมืองชั้นใน ที่หากน้ำท่วมแล้วจะไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน เพราะสภาพเป็นแอ่งเหมือนกระทะ โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,546.56 มิลลิเมตร โดยประมาณ
3.อ่างทอง
จังหวัดอ่างทองก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีสถานการเดียวกันกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงเลยจุดวิกฤติ ของคันกั้นน้ำอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงเขื่อนเจ้าพระยาที่เมื่อมีช่วงที่ฝนตกหนักเกินที่เขื่อนจะรองรับไหว จึงปล่อยน้ำออกมาเพื่อระบายออกมา ทำให้จังหวัดอ่างทองเป็นอีกหนึ่งจังหวัดเรียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 921.16 มิลลิเมตร โดยประมาณ
4.นครปฐม บางเลน ดอนตุม พุทธมณฑล
เป็นจังหวัดที่ตั้งบนแม่น้ำท่าจีนที่ลองรับน้ำมาจากทางภาคเหนืออีกที ทำให้พื้นที่ราบลุ่มอย่างนครปฐมที่สูงจากระดับน้ำทะเล 2-4 เมตร ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ดอนตุม พุทธมณฑล นครชัยศรี และบางเลน ซึ่งเป็นพื้นที่ไหลผ่านของแม่น้ำท่าจีน และมีลุ่มน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดอาการคอขวดขึ้นที่แม่น้ำสายใหญ่จนเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมในที่สุด โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1006.1 มิลลิเมตร โดยประมาณ
5.นนทบุรี ไทรน้อย บางใหญ่
จังหวัดนนทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นราบลุ่ม โดยมีน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้น ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ไทรน้อยและ บางใหญ่ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให่น้ำท่วมในพื้นที่นี้คือ น้ำที่ไหลหลากจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลาง ทำให้จังหวัดนนทบุรี ที่ปัจจุบันมีสภาพภูมิประเทศไม่ต่างอะไรจากกรุงเทพมหานครแล้ว ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,130.9 มิลลิเมตร โดยประมาณ
6.ปทุมธานี รังสิต คลองหลวง ลำลูกกา
ถ้าอยากจะมีบ้านซักหลังในราคาที่จับต้องได้ ไม่ไกลกรุงเทพ จังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะย่านรังสิต(ธัญบุรี) คลองหลวง ลำลูกกา เป็นย่านที่มีบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮมผุดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อการขยายตัวของแหล่งชุมขนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ระบบระบายน้ำก็ย่อมถดถอยลงตามไปด้วย ยิ่งลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดปทุมธานีเป็นลักษณะแบบแอ่งต่ำ เป็นพื้นที่รับน้ำก่อนไหลออกเจ้าพระยา น้ำที่เข้ามายังพื้นที่ชุมชนก็ยิ่งระบายออกได้ช้ามากขึ้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า ต่อให้ไม่มีน้ำหลากจากทางตอนเหนือ แค่ฝนตกหนักไม่นานก็ทำให้บริเวณแถบนี้เกิดการท่วมขังได้ง่ายแล้ว โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,241.3 มิลลิเมตร โดยประมาณ
7.พิจิตร
โดยทั่วไปของจังหวัดพิจิตรเป็นที่ราบลุ่ม ที่มีแม่น้ำยม และแม่น้ำน่านไหลผ่าน แม่น้ำทั้ง 2 สายไหลผ่านจังหวัดเกือบเป็นลักษณะเส้นขนานจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ โดยมีแม่น้ำพิจิตร(แม่น้ำเดิม) อยู่ระหว่างกลาง ทำให้ในฤดูน้ำหลาก น้ำหนุนสูงจนล้นตลิ่ง ทำให้พื้นที่โดยรอบแม่น้ำทั้ง 3 สาย เกิดน้ำท่วมได้ง่าย โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1264.8 มิลลิเมตร โดยประมาณ
8.นครสวรรค์ ชุมแสง ท่าตะโก
จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในตอนบนของภาคกลาง หรือบางหน่วยงานจัดให้อยู่ในตอนล่างของภาคเหนือ จึงได้รับสมญานามว่าเป็น “ประตูสู่ภาคเหนือ” แต่เพราะแบบนี้เอง จังหวัดนครสวรรค์จึงได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลากจากภาคเหนือเป็นจังหวัดแรกๆเช่นกัน เพราะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นการไหลบรรจบของแม่น้ำสี่สายจากภาคเหนือ ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ทำให้เจอวิกฤติ น้ำเหนือล้นตลิ่งอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ อ.ชุมแสง และ ท่าตะโก โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,196.15 มิลลิเมตร โดยประมาณ
9.ชัยนาท สรรพยา สรรคบุรี
เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และคลองชลประทานอีกหลายสาย พร้อมยังเป็นพื้นที่ตั้งของเขื่อนเจ้าพระยาที่รองรับน้ำและกักเก็บน้ำจากทางภาคเหนืออีกทอดหนึ่ง ทำให้เมื่อถึงคราวน้ำหนือไหลหลากจนล้นตลิ่งท่วม ซึ่งหลายๆพื้นที่ของจังหวัดชัยนาทเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง อ.สรรคบุรี อ.เมืองชัยนาท และ อ.สรรพยา โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,106.7 มิลลิเมตร
10.สิงห์บุรี
จังหวัดสิงห์บุรี มีลักษณะภูมิประเทศโดยเป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายอื่น ๆ คือ ลำแม่ลา ลำการ้อง ลำเชียงราก และลำโพธิ์ชัย ไม่มีพื้นที่เป็นภูเขาและป่าไม้มี ด้วยเหตุนี้เอง ในฤดูน้ำหลาก จึงไม่มีคันกันน้ำตามธรรมชาติที่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,047.27 มิลลิเมตร
อย่า ผ่อนบ้าน หรือคอนโดกับเจ้าของโดยตรงโดยไม่ผ่านธนาคาร!!