จากการที่ค่าจ้างแรงงานในจีนปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีบริษัทจำนวนมากที่ย้ายฐานการผลิตออกจาก จีน เข้ามายังกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า สงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยิ่งทำให้มีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่เตรียมย้ายที่ทำการออกจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีของทั้งสองประเทศมหาอำนาจ รายงานการวิจัยล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล ระบุว่า เวียดนาม ไทย และมาเลเซียเป็นประเทศอาเซี่ยนที่มีแนวโน้มจะได้รับอานิสงค์มากขึ้นจากสถานการณ์นี้
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีที่แล้วมีมูลค่ารวม 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการที่มีบริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น
รายงานวิจัยของเจแอลแอลระบุว่า เวียดนาม ไทย และมาเลเซียเป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากแนวโน้มของการที่มีบริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในอาเซียน เนื่องจากเป็นตลาดแรงงานที่มีคุณภาพซึ่งมีค่าจ้างแรงงานอยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันได้ ตัวอย่างเช่น แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยและมาเลเซีย ปัจจุบันมีค่าจ้างถูกกว่าแรงงานในจีนราว 60% เทียบกับ 33% เมื่อปี 2553
ทั้งนี้ จีนไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีการย้ายออกของบริษัทผู้ผลิต แต่ยังมีญี่ปุ่นและเกาหลีที่มีบริษัทต้องการย้ายหรือขยายฐานการผลิตเข้ามาในอาเซียนมากขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่ในกรณีของจีน มีแนวโน้มที่บริษัทจะย้ายออกมากกว่าซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
นายทรัพยากร แสนสุขทวีทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายบริการอสังหาริมทรัพย์ในภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ของเจแอลแอล กล่าวว่า “ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้มีบริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากสงครามกำแพงภาษีระหว่างสองประเทศที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา”
จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนแล้วรวมมูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รวมมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ แม้ผู้นำของทั้งสองประเทศจะมีพบปะเจรจากันในระหว่างการประชุมของกลุ่มประเทศจี 20 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงร่วมกันถึงแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการยุติสงครามการค้า
โรงงาน/โกดังใน EEC มีความต้องการสูง
นายทรัพยากรกล่าวว่า “การจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย หรือ EEC นับว่าเกิดขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม มีบริษัทต่างชาติจำนวนมากที่ให้ความสนใจ รวมถึงบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนด้วย”
“มีบริษัทต่างชาติหลายบริษัทต้องการตั้งโรงงานหรือศูนย์โลจิสติกส์ใน EEC โดยพบว่า บางบริษัทกำลังหาซื้อที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสร้างสถานประกอบการ หลายบริษัทสนใจการเช่าโรงงาน/โกดังที่นักลงทุนหรือเจ้าของที่ดินยินดีสร้างขึ้นให้ตามข้อกำหนดความต้องการของผู้เช่า และมีอีกหลายบริษัทที่สนใจซื้อโรงงาน/โกดังใน EEC ที่เจ้าของเดิมประกาศเสนอขาย กรณีที่โรงงาน/โกดังนั้นๆ มีคุณสมบัติเหมาะสมหรือใกล้เคียงมากพอที่จะสามารถปรับปรุงดัดแปลงให้เหมาะกับการดำเนินธุรกิจของตนได้ไม่ยากนัก”
EEC ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ปัจจุบันเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่ได้รับการระบุว่าจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ ภาครัฐฯ ได้เสนอแรงจูงใจสำคัญหลายประการเพื่อดึงดูดการลงทุนสู่ EEC อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสำหรับบางกิจกรรมอาจได้สิทธิ์นานสูงถึง 13 ปี การอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม และสิทธิ์การเช่าที่ดินราชพัสดุนานถึง 50 ปี และสามารถพิจารณาต่ออายุอีก 49 ปี
“แม้หากสหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงยุติสงครามการค้าได้สำเร็จในอนาคต เชื่อว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะ EEC จะยังคงเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่บริษัทต่างๆ ให้ความสนใจมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากแรงจูงใจต่างๆ ที่มีเสนอให้นักลงทุน การมีแรงงานที่มีทักษะ ระบบสาธารณูปโภคที่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความได้เปรียบของไทยจากการตั้งอยู่ในทำเลศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายทรัพยากรกล่าวสรุป
ที่มา : JLL