เพื่อเป็นการดูแลค่าครองชีพของประชาชน กทม.จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีไปถึงต้นปี 2562 กำลังหารือร่วมกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือบีทีเอสซีที่จะดำเนินการให้ก่อนจะสามารถเปิดใช้ฟรีกี่เดือน ก่อนที่จะมีการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งระบบตามระยะทางเสียค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่มต้น 15 บาท สูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย จากเดิม 136 บาท เนื่องจากต้องจ่ายหลายต่อ เพราะมีทั้งส่วนที่เป็นสัมปทานเดิมของบีทีเอสส่วนต่อขยายที่ กทม.ดำเนินการเอง และส่วนต่อขยายใหม่ที่รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
สำหรับความคืบหน้าการรับโอนโครงการและหนี้ค่าก่อสร้างของสายสีเขียวทั้งช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ล่าสุด กทม.จะเปิดประมูล PPP เพื่อให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ โดยเอกชนจะต้องรับภาระค่าก่อสร้างทั้งงานโยธาและงานระบบ วงเงินรวมกว่า 76,000 ล้านบาท ให้ รฟม.แทนกทม.
“บีทีเอสก็สนใจเข้าร่วมประมูล เพราะเป็นผู้รับจ้างติดตั้งงานระบบและเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายปัจจุบันให้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากโครงการใช้เงินลงทุนสูงและกทม.ไม่มีงบประมาณเพียงพอจะไปจ่ายหนี้คืน รฟม.ได้จึงต้องเปิดประมูล PPP ให้เอกชนหาเงินมาชำระหนี้แทน”
พล.ต.อ.อัศวินกล่าวอีกว่า ปัจจุบันสภากทม.อนุมัติหลักการให้กทม.กู้กับกระทรวงการคลังแล้วและได้ทำหนังสือถึงพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพื่อทำหนังสือไปถึงกระทรวงการคลังเรื่องการขอกู้เงินค่างานระบบกว่า 20,000 ล้านบาท และขอปลอดหนี้ 10 ปี จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติทั้งการรับโอนหนี้อนุมัติก่อนเปิดบริการวันที่ 5 ธ.ค.นี้
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่าเพื่อเป็นการสนับสนุนภาครัฐลดภาระประชาชน วันที่ 3 ต.ค.นี้จะยังไม่มีการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน ยังคงเก็บอัตราเดิม 16-42 บาทไปถึงวันที่ 15 พ.ย.นี้ หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากต้องรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบราคาใหม่ที่จะมีปรับเพิ่ม 1 บาท ใน 3 สถานี ได้แก่ สถานีที 5, 8 และ 11 ตามที่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพหรือบีอีเอ็ม ผู้รับสัมปทานเดินรถเสนอมา ซึ่งตามสัญญาปรับทุก 2 ปีตามดัชนีปู้บริโภค (CPI)
ส่วนสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ยังคงราคาเดิม 14-42 บาท หากใช้บริการทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินและสายสีม่วง จะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียวสูงสุดไม่เกิน 70 บาท
ที่มา prachachat.net