DotProperty.co.th

บีทีเอส เปิดบ้านพาชมแผนกซ่อมบำรุง พร้อมชูสโลแกน ‘365 วัน บีทีเอสทำเพื่อคุณ

เมื่อเร็วๆนี้ รถไฟฟ้า บีทีเอส  เผยบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด เพื่อให้รถไฟฟ้าทั้งสาย รองรับผู้โดยสารที่สูงทะลัก 800,000 เที่ยวคนต่อวันให้สะดวก ปลอดภัย ขณะที่จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีเพียง 6% ในขณะที่เมืองใหญ่ในเอเชียอย่างโตเกียว ฮ่องกง และสิงคโปร์ มีสัดส่วนสูงสุดถึง 46%

บีทีเอส เปิดบ้านพาชมแผนกซ่อมบำรุง พร้อมชูสโลแกน ‘365 วัน บีทีเอสทำเพื่อคุณ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบีทีเอส มีรถไฟฟ้าที่ออกวิ่งให้บริการประชาชนรวมทั้งสิ้น 52 ขบวน จำนวนสถานีที่ให้บริการทั้งระบบ 35 สถานี มีระยะทางที่ให้บริการรวมทั้งสิ้น 38.1 กิโลเมตร รองรับผู้โดยสารเฉลี่ย 800,000 เที่ยวคนต่อวัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าจำนวนผู้โดยสารที่จะใช้รถไฟฟ้าทั้งระบบในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะขยายตัวได้อีกมาก เป็นไปในทิศทางเดียวกับเมืองใหญ่ จากปัจจุบันการโดยสารรถไฟฟ้าของคนกรุงเทพมีสัดส่วนประมาณ 6% เท่านั้นเมื่อเทียบกับการเดินทางในภาพรวม ขณะที่เมืองใหญ่อย่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า 36% เขตปกครองพิเศษฮ่องกง 46% และสิงคโปร์ 40%

รถไฟฟ้าบีทีเอส คือ ความภาคภูมิใจ ที่ได้เปิดให้บริการ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง ด้วยการช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และมีส่วนช่วยลดมลพิษในกรุงเทพฯ

ความปลอดภัย เป็นหัวใจสำคัญ ที่บีทีเอสยึดถือตลอดมา ทำให้เห็นว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนธ.ค.2542 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 18 ปีมาแล้ว รถไฟฟ้าบีทีเอสไม่เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ซึ่งผลการสำรวจโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ได้สำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสาร ในด้านความปลอดภัยของรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นเวลากว่า 10 ปีติดต่อกัน

ความปลอดภัยที่มีให้ชาวกรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ของบริษัทฯ นับตั้งแต่การเลือกใช้ระบบการควบคุม และการเดินรถ ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยในกรณีที่เกิดความผิดปกติ ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตาม ระบบจะสั่งหยุดเดินรถก่อน แล้วทำการหาสาเหตุและทำการแก้ไขก่อน เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของการจัดงานเปิดบ้านในวันนี้ เพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสกับการควบคุมการเดินรถของบีทีเอสในสถานที่ทำงานจริง

สำหรับระบบการเดินรถอย่างปลอดภัยนี้ เจ้าหน้าที่ของ บีทีเอส จะบรรยายในรายละเอียดแก่ทุกท่านต่อไป ซึ่งจะได้ช่วยคลายข้อสงสัยการเดินรถ การบำรุงรักษา และการแก้ไขการขัดข้องของรถไฟฟ้าต่อไป

ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ประมาณ 800,000 เที่ยวคนต่อวันในวันทำการ คิดคร่าวๆเป็นจำนวนรถยนต์ ที่หายไปจากท้องถนนของกรุงเทพฯ ถึงวันละกว่า 200,000 คัน จากจำนวนรถยนต์ทั่วกรุงเทพฯประมาณ 10 ล้านคัน นี่คือ ความสำเร็จ ที่บีทีเอสได้ช่วยให้ผู้โดยสารทั้งบนรถไฟฟ้า และผู้ใช้รถใช้ถนน เดินทางได้อย่างสะดวก และยังได้ดูแลสภาพอากาศให้กรุงเทพฯให้ดีขึ้น ตลอด 365 วัน โดยที่รถไฟฟ้าบีทีเอสวิ่งทุกวัน ไม่มีวันหยุดทำการ

นอกจากการเดินรถแล้ว บีทีเอส ยังได้พัฒนาสกายวอล์ค ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานีสำคัญๆ ซึ่งนอกจากเพิ่มความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้โดยสารที่จะเข้า-ออกจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ยังเพิ่มความสะดวกและปลอดภัยแก่ประชาชนที่เดินเท้าสัญจรด้วย

 

บีทีเอส ออกแบบและก่อสร้างสกายวอล์ค เป็นมาตรฐานเดียวกัน กับในสถานีรถไฟฟ้า โดยไฟส่องสว่างอย่างเพียงพอ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และมีพนักงานทำความสะอาด คอยดูแล ทำให้ผู้เดินเท้าเดินทางได้อย่างสะดวก ในบรรยากาศที่สะอาด และปลอดภัย

สกายวอล์คที่บีทีเอสได้พัฒนาล่าสุดให้แก่คน กรุงเทพ แล้ว ได้แก่ สกายวอล์คแยกเฉลิมเผ่า (เชื่อมต่อสถานีสยาม กับสกายวอล์คห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์) ให้มีทางเดินที่มีมาตรฐาน กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม และมีทางสัญจรสำหรับรถเข็นวีลแชร์ ทดแทนสะพานลอยเดิมที่ใช้มาเป็นเวลานานนับสิบปี

บีทีเอสยังอยู่ระหว่างพัฒนาสกายวอล์คเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ สกายวอล์คสถานีหมอชิต เชื่อมต่อจากสถานีหมอชิต สวนจตุจักร ซึ่งเป็นย่านที่มีผู้คนสัญจรพลุกพล่าน และจะทำให้ทุกคนมีโอกาสได้ใช้ทางเดินที่สะดวก สะอาด และปลอดภัย

รถไฟฟ้าบีทีเอส มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้สะดวกสบาย ทันสมัย โดยไม่ย่อท้อ

จะเห็นว่า ตั้งแต่ก่อนเริ่มก่อสร้าง จนถึงการเปิดเดินรถในปี 2542 จวบจนปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ผ่านอุปสรรคนานับประการ เช่น ในช่วงเริ่มก่อสร้างก็มีเสียงคัดค้าน มีความกังวลเรื่องมลพิษ แต่ปัจจุบันนี้ สังคมได้เรียนรู้ถึงประโยชน์ของรถไฟฟ้าแล้ว ต่อทั้งสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของผู้คน

ระยะต่อมาที่เริ่มเปิดให้บริการ บริษัทฯ ก็ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากทางธุรกิจอย่างรุนแรง เพราะจำนวนผู้โดยสารในระยะแรก ยังไม่มีจำนวนมากเพียงพอ ตัวเลขผลประกอบการในขณะนั้นจึงเป็นขาดทุนมาโดยตลอด

แต่บริษัทฯ ไม่เคยย่อท้อ ยังคงคัดเลือกระบบการเดินรถที่เป็นสากล และดีที่สุด คัดเลือกอุปกรณ์บนสถานีที่รองรับผู้โดยสารให้ได้มากเพียงพอต่อความสะดวก ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนสถานีเพิ่มเติม ตลอดมาซึ่งล่าสุดก็ได้มีการติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ บน 10 สถานี ที่มีผู้โดยสารหนาแน่น รวมทั้งการสั่งซื้อขบวนรถไฟใหม่เข้ามาพิ่มเติม 46 ขบวน เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น และช่วยบรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารให้เดินทางได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้ คือ ความตั้งใจ ที่เรามุ่งมั่น ให้บริการเดินรถที่สะดวก ปลอดภัย แก่ผู้โดยสารทุกคน ในโอกาสนี้ ขอกล่าวต้อนรับสื่อมวลชนทุกท่านอย่างเป็นทางการ และขอให้ทุกท่านได้รับประโยชน์จากการเยี่ยมชมการเปิดบ้านบีทีเอสครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป

นายภักดี จิระภาพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส สรุปการดำเนินงานและบริหารงานซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าทั้งระบบ การดำเนินงานและบริหารงานซ่อมบำรุง ดังนี้

  1. ภาพรวมโครงสร้างและขอบเขตงานซ่อมบำรุง

ฝ่ายซ่อมบำรุงบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้จัดโครงสร้างการบริหารงานแยกเป็นฝ่าย ต่างๆ โดยจัดกลุ่มลักษณะงานหรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องให้รวมกัน ดังแสดงในแผนภาพ

ฝ่ายซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน รับผิดชอบงานด้านการซ่อมบำรุงงานโยธา การซ่อมบำรุงงานระบบราง และงานบริหารจัดการโรงซ่อมบำรุง

ฝ่ายซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า รับผิดชอบงานด้านการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในโรงซ่อมบำรุง เช่น เครื่องยกรถไฟฟ้า เครื่องกลึงล้อรถไฟฟ้า ฯลฯ

ฝ่ายซ่อมบำรุงระบบสนับสนุน รับผิดชอบงานด้านการซ่อมบำรุงวิศวกรรมอาคาร เช่น ระบบการป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร ระบบป้องภันภัคคีภัย เป็นต้น อีกทั้งยังดูแลงานซ่อมบำรุงระบบขายตั๋วอัตโนมัติ ตั้งแต่ระบบการออกตั๋ว เครื่องขายตั๋ว รวมไปถึงประตูกั้นอ่านตั๋ว เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังดูแลงานซ่อมบำรุงอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ต่างๆ (Electronic Workshop) และการซ่อมบำรุงระบบประตูกั้นชานชาลา


ฝ่ายซ่อมบำรุงระบบควบคุมการเดินรถและการสื่อสาร รับผิดชอบงานด้านการซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งเป็นระบบควบคุมการเดินรถโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ประมวลผลผ่านศูนย์ควบคุมการเดินรถกลาง (Central Control Room) เพื่อให้การเดินรถเป็นไปตามตารางการเดินรถและมีความปลอดภัยสูงสุด นอกจากนี้ยังรับผิดชอบงานซ่อมบำรุงอุปกรณ์ในระบบสื่อสารต่างๆ เช่น ระบบกล้องวงจรปิด ระบบโทรศัพท์ ระบบวิทยุติดตามตัว (Hand Portable Radio) เป็นต้น

ฝ่ายวางแผนซ่อมบำรุงและโลจิสติกส์ รับผิดชอบงานต่อไปนี้

งานวางแผนและประสานงานการซ่อมบำรุง โดยใช้ระบบบริหารงานซ่อมบำรุงด้วยคอมพิวเตอร์มาช่วยในงาน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ข้อมูลงานซ่อมบำรุงของทุก กิจกรรมจะต้องถูกป้อนเข้าสู่ระบบการวางแผน ทั้งนี้เมื่อถึงเวลาหรือถึงรอบการใช้งานที่กำหนด แผนงานต่างๆ จะถูกแจ้งเป็นใบงาน (Work Order) เพื่อนำไปทำการบำรุงรักษาตรงตามเวลาที่กำหนด

งานวางแผนและควบคุมการใช้งบประมาณสำหรับงานซ่อมบำรุง

งานวางแผนและควบคุมอะไหล่ ทรัพย์สินสำหรับงานซ่อมบำรุง

งานวางแผน ประสานงานและควบคุมสมรรถนะของพนักงาน (Competencies Management)

งานวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเบื้องต้น

งานบริหารธุรการทั่วไป

ด้านการดำเนินงานซ่อมบำรุง

เครื่องมือหลักของการดำเนินงานและบริหารของฝ่ายซ่อมบำรุงคือ ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการซ่อมบำรุง (Computerized Maintenance Management System: CMMS) โดยบริษัทได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์ของ SAP (เอส เอ พี)  ซึ่งแบ่งการทำงานหลักเป็นสองส่วนใหญ่คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานการบำรุงรักษา (Preventive Maintenance) กับส่วนที่สอง คืองานเก็บข้อมูลทที่เกี่ยวข้องกับงานบำรุงรักษาและงานแก้ปัญหาของอุปกรณ์ที่เกิดความบกพร่อง (Corrective Maintenance)

ในส่วนของงานบำรุงรักษานั้น ฝ่ายซ่อมบำรุงใช้ข้อมูลจากคู่มือการทำงานและซ่อมบำรุงของผู้ผลิต-ผู้ขายอุปกรณ์ แล้วนำข้อมูลดังกล่าวป้อนเข้าสู่ระบบ CMMS ดังนี้

รายการที่ต้องซ่อมบำรุง รวมถึงรายะละเอียดในการซ่อมบำรุงแต่ละรายการ

รายการซ่อมบำรุงที่มีการบอกระยะเวลา (Time-based) เช่น ทุกเดือน ทุก 3 เดือน เป็นต้น หรือ

รายการซ่อมบำรุงที่มีการบอกเป็นรอบใช้งาน (Counter-based) เช่น ทุก 10,000 กิโลเมตร เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อรายการซ่อมบำรุงใดๆ ถึงรอบการซ่อมบำรุง ไม่ว่าจะมาจากระยะเวลา หรือรอบการใช้งาน ระบบ CMMS จะแจ้งให้ออกใบงาน เพื่อให้ไปทำงาน ทำให้มั่นใจว่าทุกรายการจะได้รับการซ่อมบำรุง ทั้งนี้ฝ่ายซ่อมบำรุงมีระบบการวัดผล (KPI) ในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน

3.การควบคุมงานซ่อมบำรุง

การควบคุมงานซ่อมบำรุงโดยอาศัยตัวชี้วัด (KPI) ฝ่ายซ่อมบำรุงตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ที่เสียหายอันเนื่องมาจากการซ่อมบำรุงที่ไม่ตรงตามกำหนด (Lack of Maintenance) ช่วงเวลาการซ่อมบำรุงที่ไม่เหมาะสม (Inappropriate Maintenance Interval) หรือการละเลยการเฝ้าดูแลประสิทธิภาพของอุปกรณ์และการติดตามผล (Lack of Fault Monitoring)  ดังนั้น ฝ่ายซ่อมบำรุงจึงได้มีมาตรการควบคุมการเฝ้าติดตามผลงานทั้งในส่วนของอุปกรณ์และทีมงานทางเทคนิคที่ดูแลงานซ่อมบำรุงโดยจัดทำดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (KPI)

KPI ต่อไปนี้เป็นเพียง KPI ส่วนหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าติดตามประสิทธิภาพงานซ่อมบำรุงและการเตือนเพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบ เพื่อนำไปใช้ในปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

ความน่าเชื่อถือในการให้บริการ (การตรงต่อเวลาในการเดินทางของผู้โดยสาร PJOT: Passenger Journey On-Time) โดยวัดจากจำนวนผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของการเดินรถที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป โดยกำหนด KPI ให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางตรงต่อเวลาได้ไม่น้อยกว่า 99.5%

ความน่าเชื่อถือของรถไฟฟ้า (Train Reliability) เป็นการวัดความสามารถของรถไฟฟ้าในการให้บริการผู้โดยสารโดยไม่เกิดความขัดข้อง ซึ่งความขัดข้องดังกล่าวเกิดจากจากความล่าช้าของอุปกรณ์ตั้งแต่ 2 นาทีขึ้นไป โดยกำหนด KPI ให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้โดยขบวนรถไม่ขัดข้องได้ไม่น้อยกว่า 35,000 ตู้กิโลเมตร (Car Kilometer)

ความน่าเชื่อถือของรางรถไฟฟ้า (Track Reliability) เป็นการวัดความสามารถในการใช้งานของรางรถไฟฟ้า โดยกำหนด KPI ให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้โดยไม่มีความล่าช้าที่เกิดจากระบบรางรถไฟฟ้าขัดข้องได้ไม่น้อยกว่า 99.8%

ความสามารถในการส่งมอบรถไฟฟ้าในการให้บริการตามกำหนด (Train Availability) โดยกำหนด KPI ให้สามารถส่งมอบจำนวนรถไฟฟ้าตรงตามกำหนดการให้บริการ

ความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับระบบจำหน่ายตั๋วโดยสาร (Reliability of Automatic Fare Collection) โดยกำหนดกำหนด KPI เปรีบบเทียบกันระหว่างจำนวนความขัดข้องที่เกิดขึ้นของแต่ละอุปกรณ์ กับจำนวนการใช้บริการของผู้โดยสารทั้งระบบ

การทบทวนประเมินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายสัปดาห์ (Weekly Incident Review)

นอกเหนือไปจากดัชนีชี้วัดข้างต้นแล้ว ฝ่ายซ่อมบำรุงยังให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเทคนิค การร้องเรียนของผู้โดยสาร หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร ฝ่ายซ่อมบำรุงจึงมีการประชุมฝ่ายร่วมกับฝ่ายการเดินรถ ฝ่ายงานสถานี และฝ่ายความปลอดภัย เพื่อพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ และวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หาแนวทางแก้ไข และกำหนดเป็นมาตรการป้องกัน

สำหรับการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เกิดความบกพร่อง (Corrective Maintenance) เมื่อฝ่ายซ่อมบำรุงได้ดำเนินการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว ใบงานซ่อมดังกล่าวจะถูกบันทึกและป้อนข้าสู่ระบบ CMMS เพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกวิเคราะห์ และนำไปใช้เพื่อปรับแผนงานซ่อมบำรุงให้เหมาะสมต่อไป

ภาพบรรยากาศเข้าเยี่ยมชมโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส เข้าดูการทำงานของฝ่ายงานซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส

ทั้งนี้ บีทีเอส มีนโยบายเข้มงวดต่องานซ่อมบำรุง ให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องความปลอดภัย โดยในแต่ละวันขบวนรถไฟฟ้าของบีทีเอสออกวิ่งถึง 19.40 ชั่วโมง หรือเกือบ 20 ชั่วโมงต่อวัน แต่งานซ่อมบำรุงต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 365 วัน เพราะรถไฟฟ้าของเราไม่มีวันหยุดให้บริการ ทำให้ตลอด 18 ปีที่เปิดให้บริการบีทีเอสไม่เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแม้แต่ครั้งเดียว  “นอกจากการซ่อมบำรุงตามกำหนดการ ที่มีอยู่เป็นประจำและต่อเนื่องแล้ว ในระหว่างวันรถทุกขบวนจะได้รับการตรวจเช็คทุกครั้งที่เข้ามาจอด รวมถึงก่อนออกไปวิ่งให้บริการ ส่วนในเวลากลางคืนที่รถหยุดให้บริการแล้ววิศวกรของบีทีเอสจะต้องตรวจสอบและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าทั้งระบบ ครอบคลุมตั้งแต่ตัวรถ ราง สถานี โรงจอดและซ่อมบำรุง รวมถึงศูนย์ควบคุมการเดินรถ นั่นหมายความว่าหลังจากที่รถไฟฟ้าบีทีเอสส่งผู้โดยสารถึงบ้านแล้ว เมื่อคุณเข้านอนในตอนกลางคืน บีทีเอสยังคงทำงานเพื่อให้รถของเราพร้อมให้บริการผู้โดยสารในวันถัดไป”

สำหรับรถไฟฟ้าขบวนใหม่ ที่บริษัทฯ ได้สั่งซื้อไปแล้วรวมทั้งสิ้นอีก 46 ขบวน จำนวนตู้โดยสาร 184 ตู้ ยังอยู่ระหว่างการรอรับมอบ โดยจะทยอยรับมอบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้ จนถึงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งหากรับมอบรถไฟฟ้าทั้งหมดแล้วจะทำให้บีทีเอส มีขบวนรถไฟฟ้าทั้งระบบรวม 98 ขบวน จำนวน 392 ตู้  เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น ในเส้นทางส่วนต่อขยาย สายสีเขียวใต้  (จากสถานีแบริ่ง ไปสมุทรปราการระยะทาง 13 กม. ) และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (จากสถานีหมอชิต  ไปคูคต ระยะทาง 18 กม.) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ กว่า 18 ปี ที่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า จะพัฒนาการให้บริการ ให้เกิดประสิทธิภาพให้ดีขึ้นต่อไป