อสังหาฯไม่สนใจเข้าร่วม บ้านธนารักษ์ประชารัฐ – บ้านประชารัฐ
นายปิยะประยงค์กรรมการผู้จัดการกลุ่มพฤกษาแวลู บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ปีที่แล้วบริษัทพยายามเข้าร่วมโดยทดลองพัฒนาคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์ราคา บ้านธนารักษ์ประชารัฐ – บ้านประชารัฐ คือไม่เกินยูนิตละ 1.5 ล้านบาทผลตอบรับ ไม่เป็นไปตามที่คาด อาจเป็นเพราะทำเลอยู่ไกลตัวเมืองเพราะมีปัญหาต้นทุนที่ดิน ที่สำคัญเป็นโครงการที่มียอดปฏิเสธสินเชื่อสูงมาก เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ตัดสินใจชะลอการเข้าร่วม
“เซ็กเมนต์ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต้องยอมรับความจริงว่ามีประเด็นเรื่องสินเชื่อกู้ไม่ผ่านสูงมาก เงื่อนไขรัฐก็ไม่ค่อยจูงใจ”
นายจรัญ เกษร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรสันติ จำกัด ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีที่แล้ว LPN ส่งคอนโดฯราคาประชารัฐยูนิตละไม่เกิน 1.5 ล้านบาทเข้าร่วมโครงการ แต่มียอดปฏิเสธสินเชื่อมากกว่าครึ่งจาก 1,000 ยูนิต แสดงให้เห็นว่ากลไกการพิจารณาสินเชื่อยังเข้มงวด แม้รัฐบาลให้ผ่อนคลายเกณฑ์ DSR 50% แล้วก็ตาม
นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้เข้าร่วมบ้านประชารัฐเพราะโปรดักต์ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทมีน้อยมาก การที่รัฐบาลกำหนดเพดานราคาอย่างนเท่ากับปิดช่องการเข้าร่วมโครงการโดยปริยาย หากรัฐบาลขยับเพดานราคาเป็น 2 ล้านบาท ก็มีโอกาสที่จะเข้าร่วมได้มากขึ้นทั้งในกลุ่มทาวน์เฮาส์และคอนโดฯ
ขานรับปลูกบ้านไม่รวมที่ดิน
นายสิทธิพรสุวรรณสุตนายกสมาคมไทยธุรกิจรับสร้างบ้าน (THBA) กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ให้ขอสินเชื่อ 1.5 ล้านบาทสำหรับปลูกสร้างบ้านบนที่ดินตัวเอง โดยไม่นำค่าที่ดินมาคำนวณด้วย ทำให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดรับอานิสงส์โดยตรง เพราะเซ็กเมนต์สร้างบ้านในต่างจังหวัดส่วนใหญ่สร้างหลังละไม่เกิน 3 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อสร้างบ้านหลังละไม่เกิน 1.5 ล้านบาทในเขตกรุงเทพฯ น่าจะมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากราคาที่ดินแพงทำให้เจ้าของมีความต้องการสร้างบ้านหลังใหญ่เพื่อให้ใช้ประโยชน์ที่ดินให้มากที่สุด
ในแง่ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่ออานิสงส์ก็น่าจะตกกับธอส. ในตลาดต่างจังหวัด เพราะธนาคารพาณิชย์คงไม่สนใจปล่อยกู้สร้างบ้านประชารัฐ เพราะต้นทุนในการพิจารณาสินเชื่อสูงเมื่อเทียบกับวงเงินสินเชื่อ 1.5 ล้านบาท
“ปีที่แล้วตอนประชุมตั้งกฎเกณฑ์บ้านประชารัฐ สมาคมให้ข้อคิดเห็นไปแล้วว่าสินเชื่อสร้างบ้านต้องไม่รวมค่าที่ดิน เพราะตอนนี้ที่ดินแพงหมดไม่ว่าในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด เมื่อรวมไปแล้วจะเหลือวงเงินสร้างบ้านจริง ๆ ไม่กี่แสนบาท ไม่สามารถทำได้ ขณะที่บ้านหลังละ 1.5 ล้านบาท ยังพอทำได้บนพื้นที่ใช้สอย 100 ตารางเมตรต้น ๆ เฉลี่ยค่าก่อสร้างตารางเมตรละ 1 หมื่นบาท” นายสิทธิพรกล่าว
แนะรัฐให้การเคหะฯทำ
แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดิน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนเริ่มต้นโครงการนี้เมื่อปีที่แล้ว มีการเชิญผู้บริหารและตัวแทนสมาคมวงการอสังหาริมทรัพย์คณะใหญ่เข้าไปหารือ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังฟังความคิดเห็นแต่ไม่เชื่อภาคเอกชนสักเท่าไหร่ ซึ่งโครงการบ้านประชารัฐฝืนกลไกตลาดปกติหลายอย่าง จนทำให้เอกชนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เช่น ถ้าเอกชนทำต้องขออนุญาตจัดสรร ซึ่งถูกล็อกด้วยกฎหมายหลายอย่างตั้งแต่ข้อกำหนดถนนในหมู่บ้าน สวนสาธารณะ ขนาดที่ดิน-พื้นที่ใช้สอย ทำให้ไม่สามารถขายราคาประชารัฐได้
ขณะเดียวกัน รัฐชวนไปเช่าที่ดินราชพัสดุแต่ขายแบบสิทธิการเช่า เป็นการฝืนพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย ถึงแม้จะเป็นตลาดล่างแต่ก็ชอบซื้ออสังหาฯแบบกรรมสิทธิ์มากกว่าเช่า เปรียบเทียบเช่าบ้านธนารักษ์ประชารัฐราคา 1.5 ล้านบาท ค่างวด 4-5 พันบาท/เดือน ขยับมาซื้อเอกชนราคาแพงกว่าเพิ่มงวดผ่อน 7-8 พันแต่ได้กรรมสิทธิ์ เชื่อว่าคนยอมซื้อแพงขึ้นเพราะได้เป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นไม่จูงใจมากขึ้นไปอีก เพราะภาครัฐมีนโยบายให้เอกชนไปก่อสร้างโครงการ หลังจากนั้นกรมธนารักษ์จะเป็นผู้บริหารโครงการเอง เท่ากับเป็นการไปทำรับเหมาก่อสร้าง ไม่ใช่พัฒนาที่ดิน เป็นเหตุผลที่ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ไม่สนใจเข้าร่วม
“ต้องวิพากษ์กันตรง ๆ ว่านโยบายไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจริง ๆ แล้วรัฐบาลยังมีเครื่องมือคือการเคหะแห่งชาติ เพราะสามารถพัฒนาโครงการโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจัดสรร ทำให้สร้างบ้านราคาประชารัฐได้ทุกทำเล” แหล่งข่าวกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
อ่านหน้า 1
ต้องการซื้อ-เช่า !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน ทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการ คลิ๊กที่นี่
ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน กับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่าย ลงประกาศเลย