DotProperty.co.th

บ้านประชารัฐหมื่นห้ากู้ยากข้าราชการเพิ่มหนี้ครัวเรือน

บ้านประชารัฐ

โดย…โชคชัย สีนิลแท้

ปล่อยกู้มาแล้วกว่า 1 เดือน สำหรับโครงการ บ้านประชารัฐ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนค่อนข้างดี เห็นได้จากตัวเลขคนมายื่นขอ สินเชื่อ ของสองสถาบันการเงินของรัฐคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และออมสิน ที่มียอดขอสินเชื่อเกินกว่าวงเงินที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้ 4 หมื่นล้านบาท โดย ธอส.มีลูกค้ามาขอยื่นกู้แล้วกว่า 2 หมื่นราย ซึ่ง ธอส.ใช้วิธีการตรวจคุณสมบัติความสามารถในการชำระเงินกู้เป็นหลัก ทำให้ยังสามารถเปิดรับคาขอสินเชื่อจากผู้ที่สนใจได้อีกระยะหนึ่ง คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ครบวงเงินภายในเดือน พ.ค.นี้

ขณะที่ออมสินได้ปิดการยื่นขอเอกสารสินเชื่อในโครงการบ้านประชารัฐ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้สนใจเข้ามาติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคารออมสินจากทั่วประเทศมากถึง 3.13 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 3.45 หมื่นล้านบาท ภายในเวลาเพียงสัปดาห์กว่าๆ ถือว่ามีความต้องการสูงกว่าเป้าหมายวงเงินที่เตรียมปล่อยสินเชื่อครั้งนี้จำนวน 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับการอนุมัติประมาณ 60-70% จากจำนวนผู้แจ้งความประสงค์มาทั้งหมด ซึ่งยอดอนุมัติน่าจะใกล้ๆ กับ 2 หมื่นล้านบาท

แต่ปัญหาใหญ่สำหรับโครงการบ้านประชารัฐก็คือ กลุ่มที่มีรายได้ 1.5 หมื่นบาท/เดือน โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการมีบ้าน ในเวลานี้ไม่สามารถจะกู้เงินกับ ธอส.ได้ เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มารุมเร้า หลังจาก ธอส.ได้เพิ่มเกณฑ์กับกลุ่มข้าราชการว่าจะต้องตรวจสอบเครดิตบูโร ก่อนที่จะปล่อยกู้ให้ จากเดิมกลุ่มข้าราชการไม่ต้องมีการตรวจสอบ แล้วพบว่ากลุ่มข้าราชการมีภาระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกันค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปัญหากับการขอสินเชื่อ

แสนผิน สุขี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลเด้นแลนด์ เรสซิเด้นซ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีการเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ โดยการขอตรวจสอบเครดิตบูโรของกลุ่มข้าราชการก่อนที่จะปล่อยกู้ จากเดิมที่ไม่ต้องมีการตรวจสอบส่งผลให้ตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์กับลูกค้าข้าราชการของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไม่สามารถกู้ได้ ส่งผลให้บริษัทต้องนำยูนิตที่ขายออกไปแล้วต้องกลับมาทำการตลาดใหม่

“ปัจจุบันลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทมีสูงถึง 35% ในจำนวนนี้มาจากธนาคารของรัฐและเอกชนปฏิเสธสินเชื่อ 30% อีก 5% เป็นปัจจัยอื่นๆ ของตัวลูกค้าเอง ส่วนหนึ่งมาจากเดิมข้าราชการเป็นลูกค้าหลักที่เข้ามาซื้อบ้านในโครงการ แต่หลังจากที่ธนาคาร ธอส.ต้องขอตรวจสอบเครดิตบูโรกับกลุ่มข้าราชการจากเดิมที่ไม่มีการตรวจสอบ ส่งผลให้ตัวเลขการปฏิเสธการให้สินเชื่อของธนาคารกับบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” แสนผิน กล่าว

ฉัตรชัย ศิริไล รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ธนาคารได้เพิ่มเงื่อนไขสำหรับผู้กู้ที่เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐจะต้องไม่ปิดบัญชีหรือไถ่ถอนก่อนกำหนดเป็นเวลา 7 ปี จากปกติที่ธนาคารทั่วไปกำหนดเป็นเวลา 3 ปี แต่ถ้าผู้กู้ต้องการไถ่ถอนก่อนกำหนดก็จะต้องจ่ายค่าปรับด้วยรวมถึงสิทธิต่างๆ ที่ได้รับจากบ้านหลังแรกก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย

ด้านคุณสมบัติของผู้กู้ซื้อบ้านประชารัฐ ธนาคารไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเท่านั้นแต่จะดูที่ความสามารถในการกู้เป็นหลัก และต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน โดยอสังหาริมทรัพย์ที่จะซื้อต้องมีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ส่วนกู้เพื่อซ่อมแซมวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท มูลค่าของบ้านที่จะซ่อมแซมจะต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าการทำโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อเจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขอสินเชื่อ หลังจากนี้ต้องจับตามองกันต่อไปว่าโครงการบ้านประชารัฐจะเป็นอีกโครงการที่จะเพิ่มหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินหรือไม่

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปจาก posttoday.com

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/