จากข้อสั่งการ “สราวุธ ทรงศิวิไล” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศึกษาเสร็จใน 3 เดือน โดย สนข.จะดูพื้นที่สี่แยกในกรุงเทพฯที่ประสบปัญหาการจราจร เมื่อ 10 ปีที่แล้วเคยศึกษาไว้ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีทั้งหมด 500 ทางแยก เป็นทางแยกที่เป็นจุดวิกฤตและไม่มีการทำอุโมงค์หรือสะพานข้ามแยกประมาณ 50 ทางแยก
ภายใน 1 เดือนนี้ สนข.จะทบทวนผลการศึกษาที่เคยทำไว้ และประสานงานไปยังกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่มีโครงการจะก่อสร้างอยู่แล้ว เพื่อเรียงลำดับความสำคัญของโครงการ “1 เดือนนี้จะทราบว่าถนนสายไหนจะสร้างสะพานข้ามหรือทางลอด จากนั้นเดือนต่อไปมาดูงบประมาณ จะขอจัดสรรในปี 2563 หากงบฯที่ขอมากเกินไป อาจจะเสนอเป็นแพ็กเกจให้รัฐบาลกลางพิจารณาต่อไป”
นายสราวุธกล่าวว่า ถนนเส้นแรกจะดำเนินการ คือถนนวงแหวนชั้นในหรือแนวถนนรัชดาภิเษก เบื้องต้นมีจุดวิกฤตประมาณ 5 แยก เช่น อโศก พระราม 9 ประชาชื่น ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้แนวคิดบนถนนรัชดาภิเษกรถจะต้องวิ่งได้ตลอด จากนั้นจะสำรวจวงแหวนชั้นกลาง หรือแนวถนนกาญจนาภิเษกและวงแหวนชั้นนอก หรือแนวถนนวงแหวนรอบ 3 จะสร้างในอนาคต ข้อมูลเบื้องต้นมี 34 โครงการ แยกเป็นของ กรมทางหลวง 16 โครงการ มี 3 โครงการจะสร้างปี 2560-2562 ได้แก่ 1.สะพานลอยข้ามแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 304 กม.12 2.สะพานเข้าอาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมือง และ 3.สะพานลอยกลับรถโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ อีก 13 โครงการสร้างปี 2562-2569 อาทิ ต่างระดับลำลูกกา ต่างระดับนพวงศ์ อุโมงค์ลอดแยกสามัคคี อุโมงค์ลอดแยกแคราย ทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ
กรมทางหลวงชนบท จะสร้างทางต่างระดับจุดตัดถนนสาย ปท.4001 กับ ทล.352 คลองหลวง จ.ปทุมธานี ปี 2562-2566
กทม. มี 17 โครงการ จะสร้างปี 2560-2562 จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ 1.สะพานลอยข้ามทางแยกถนนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้า-เจ้าคุณทหาร 2.ทางลอดใต้ทางแยกถนนจรัญสนิทวงศ์-พรานนก (แยกไฟฉาย) 3.ทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช 4.สะพานข้ามแยก ณ ระนอง 5.ทางลอดรัชดาฯ-ราชพฤกษ์ 6.ทางลอดถนนศรีอยุธยา-พระราม 6 และ 7.ทางลอดถนนรามคำแหง ที่ยังไม่ระบุปีสร้าง อาทิ ทางยกระดับถนนรัชดาภิเษก-ถนนอโศกดินแดง-อโศกมนตรี สะพานข้ามแยกถนนเพชรเกษม อีกทั้งจะทบทวนแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 แห่ง หากโครงการไหนที่ยังเดินหน้าไม่ได้ เช่น ติดเวนคืนที่ดิน จะปรับรูปแบบสร้างเป็นทางลอดแม่น้ำแทน เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน รับปริมาณรถไม่พอและเริ่มมีสภาพเก่า
“โมเดลทางด่วนลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จากแยกบางนา-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ระยะทาง 9 กม. ตอนนี้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เพื่อนำเสนอกระทรวงพิจารณาแล้ว ทั้งแนวเส้นทางที่เหมาะสมและตัวอย่างการก่อสร้างจากต่างประเทศที่เหมาะกับประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา หากอนาคตระบบรางหรือระบบอื่น ๆ เวิร์กกว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่เตรียมศึกษาไว้ก่อน” เมื่อปัญหารถติดเป็นโจทย์ใหญ่ จึงไม่แปลกจะมีสารพัดไอเดียผุดมาเพื่อบรรเทาปัญหา
ที่มา prachachat.net