ไม่เพียงแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด แต่กับธุรกิจก่อสร้างเองก็ไม่แพ้กัน โดยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนการโครงการก่อสร้างจากภาคเอกชนที่มีการก่อสร้างโครงการใหม่ลดลง ผลกระทบด้านการขนส่งและการจัดหาวัสดุก่อสร้าง ที่ประสบปัญหาความล่าช้า และปัญหาจากการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างในระยะสั้น โดยการต่อยอดธุรกิจก่อสร้างในช่วงวิกฤตอย่างนี้ จึงเป็นคำถามคาใจที่ผู้ประกอบการต้องเร่งหาคำตอบ
ธุรกิจก่อสร้างรับลูกหลง ขอออกใบอนุญาตก่อสร้างลดลงชัดเจน
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) พบว่า การขอออกใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการประเภทคอนโดมิเนียม ปรับลดลงประมาณ 37% YoY ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ตกลงมาอยู่ที่ 1.29 ล้านตารางเมตร และในเดือนมกราคม 2563 ก็ปรับลดลงต่อเนื่องถึง 70%YoY อยู่ที่ 7.2 หมื่นตารางเมตร
เช่นเดียวกับการขอออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด พบว่าปรับลดลง 4%YoY อยู่ที่ประมาณ 12.6 ล้านตารางเมตรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และในเดือนมกราคม 2563 ปรับลดลง 3%YoY อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตารางเมตร
สำหรับการขอออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรม พบว่าปรับลดลง 26%YoY อยู่ที่ประมาณ 3.05 ล้านตารางเมตรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และในเดือนมกราคม 2563 ปรับลดลง 28%YoY อยู่ที่ประมาณ 4.37 แสนตารางเมตร
และการขอออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสำนักงานให้เช่า พบว่าปรับลดลง 26%YOY อยู่ที่ประมาณ 5.6 แสนตารางเมตร ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และในเดือนมกราคม 2563 ปรับลดลง 83%YoY อยู่ที่ประมาณ 5.9 หมื่นตารางเมตร
ในขณะเดียวกัน Economic Intelligence Center (EIC) ได้ประเมินว่า ในปี 2563 นี้ มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมธุรกิจก่อสร้างจะมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยราว 1% YoY มาอยู่ที่ราว 1.29 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น
- การก่อสร้างโครงการภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวราว 7.8%YoY มาอยู่ที่ 5.28 แสนล้านบาท สะท้อนได้จากการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชยกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2019
- การก่อสร้างโครงการภาครัฐที่ประเมินว่า ยังคงเติบโตราว 4.5%YoY มาอยู่ที่ 7.62 แสนล้านบาท โดยมีแรงผลักดันจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ และการก่อสร้างโครงการคมนาคมและโครงการสาธารณูปโภคขนาดกลางและเล็กที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยพื้นฐานต่ำจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563
ต่อยอดธุรกิจก่อสร้างอย่างไรในยุคโควิด
Economic Intelligence Center (EIC) ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างในการรับมือกับวิกฤตโควิด ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น 3 ด้าน ได้แก่
- การดูแลและบริการจัดการ บุคลากร แรงงาน และพื้นที่หน้างาน
- การเตรียมวัสดุก่อสร้างและเงินทุนหมุนเวียนที่เหมาะสม
- การเตรียมพร้อมเจรจากับเจ้าของ โครงการในการประเมินความก้าวหน้าของการก่อสร้างเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งนำไปสู่การลดข้อพิพาทจาก สัญญาว่าจ้าง
- ดูเงื่อนไขสัญญาจากผู้ว่าจ้างอย่างละเอียดถี่ถ้วน เจ้าของโครงการอาจมีข้ออ้างในการบอกเลิก หรือเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญา กรณีเป็นคู่สัญญาภาครัฐ จะมีความมั่นคงมากกว่า
- เตรียมความพร้อมด้านการเงิน เสริมสภาพคล่อง สำหรับการประมูลงานและดำเนินโครงการ
- ปรับระบบการบริหารนำเทคโนโลยีมาใช้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง การทำงานจากที่บ้าน การมีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างเรียลไทม์ และการควบคุมต้นทุนอย่างละเอียด
- เลือกลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้าง นำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านลดระยะเวลาการก่อสร้าง ควบคุมต้นทุนค่าแรงและวัสดุ และควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างให้ได้ตามาตรฐาน ลดการแก้ไขเก็บงาน
สำหรับภาครัฐ มาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะด้านแรงงานถือว่ามีความเหมาะสม เช่น การว่าจ้างแรงงานก่อสร้างในพื้นที่ต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐที่เพิ่มขึ้น การผ่อนปรนกับผู้ประกอบการให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้นานขึ้นเป็นการชั่วคราว
ในระยะข้างหน้า Economic Intelligence Center (EIC มองว่า ภาครัฐควรพิจารณามาตรการเพิ่มเติม โดยเฉพาะ การพิจารณาประเมินผลงานก่อสร้าง ที่อาจมีความล่าช้าในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 และ การอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการก่อสร้างขนาดกลางและเล็กเพิ่มเติมจากโครงการที่อยู่ใน พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูและเศรษฐกิจ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 คลี่คลายลง
ถึงแม้งานก่อสร้างภาคเอกชนจะชะลอตัวไปบ้าง แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤต ที่รัฐบาลเตรียมนำมาเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ คือการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ การสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นงานก่อสร้างภาครัฐ และโครงการเมกะโปรเจค โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) จะเป็นโอกาสของธุรกิจก่อสร้าง และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2563-2564 นี้
ที่มา: