ถ้าหากใครได้ติดตามคอนเทนท์จากเว็บไซต์ Dot Property เราอยู่ตลอดมาก็จะเห็นได้ว่าเราได้นำเสนอ บ้านมือสอง หรือ บ้านจากกรมบังคับคดีที่ราคาถูกเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้ที่อยากมีบ้านในราคาเป็นมิตรกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างทีได้มาจะเรียบง่ายราบรื่นเสมอไป เพราะมีบางท่านที่ยังประสบปัญหากับผู้อยู่อาศัยเดิม หรือ อดีต ผู้เช่า เก่า ได้ก่อไว้ โดยการไม่ยอมย้ายออกหลังจากเราได้ทำการซื้อขายแล้ว จะแก้ปัญหาอย่างไร เอากุญแจไปล๊อคบ้าน หรืองัดเข้าไปในบ้านจะผิดไหม ?
ถ้าเขาเป็น ผู้เช่า เก่า และสัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุด คุณทำอะไรเขาไม่ได้ ได้แต่ต้องรอ
มาตรา 569 อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย นั่นคือคุณรับโอนมายังไง คุณก็ต้องรับมาหมด ทั้งสิทธิและหน้าที่ ถ้ายังมีสัญญาเช่าอยู่ ก็ต้องให้เช่าต่อจนกว่าจะหมดสัญญา
ผู้เช่าเก่าไม่ยอมออก สามารถงัดบ้านเข้าไปเพื่อทำการขนย้ายของออกได้ไหม
ตอบเลยว่าไม่ได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรต่อให้เราซื้อบ้านมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่ประมูลขายจากกรมบังคับคดี หรือบ้านมือสองทั่วไป เราจะไปล๊อคกุญแจ หรือเข้าไปขนย้ายโดยพละการไม่ได้ หากกระทำการดังเกล่าว เราจะโดนข้อหาบุกรุกตามวาระดังต่อไปนี้
- บุกรุกในเวลากลางวัน มีโทษจำคุก 3 ปี
- บุกรุกในเวลากลางคืนมีโทษจำคุก 5 ปี
คือต่อให้บ้านหลังดังกล่าวเป็นชื่อคุณแล้ว ก็ห้ามงัดเข้าไปเด็ดขาด ไม่งั้นคุณจะกลายเป็นผู้บุกรุกซะเอง ดังนั้น ก่อนจะซื้อบ้านควรตรวจเช็คให้ดีๆ รู้ถึงปัญหาของบ้านหลังนั้นว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ควรเป็นบ้านที่ผู้ขายอยู่เองและได้ขนย้ายทรัพย์สินตนเองออกจนหมดแล้ว และสำหรับการถูกบุกรุกในขณะที่เราเป็นเจ้าของทรัพย์ เจ้าของทรัพย์ได้เปรียบ แต่ถ้าเขาบุกรุกอยู่แล้ว แล้วเราไปซื้อทรัพย์มา โดยทราบอยู่ก่อนแล้ว ถือว่าเรายอมรับสภาพของทรัพย์นั้นเอง
วิธีแก้ปัญหา
หากมีการโอนชื่อเป็นชื่อคุณไปแล้ว คุณแค่ไปยื่นคําร้องที่ศาลครับ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้น ตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบริวาร ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้บังคับตาม มาตรา 296 ทวิ มาตรา 296 ตรี มาตรา 296 จัตวา มาตรา 296 ฉ มาตรา 296 สัตต มาตรา 299 มาตรา 300 มาตรา 301 และ มาตรา 302 โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งคำบังคับโดยผู้ซื้อมีหน้าที่จัดการนำส่ง และให้ถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าว/ทนายอภิสิทธิ์
นั่นคือเราสามารถใช้ มาตรา 309 ตรี โดยยื่นคำร้องให้ศาลออกหมายขับไล่ได้เลย โดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่แต่อย่างใด
การนับจำนวน สัญญากู้ ของการขอกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับเกณฑ์ LTV
ความเปลี่ยนแปลงของผังเมืองกรุงเทพปี 2556 กับผังเมืองใหม่ ต่างกันแค่ไหน?