สวัสดีค่ะ ภาระหนี้ก้อนโตที่คนส่วนใหญ่ต้องประสบสักครั้งในชีวิตคือการมีหนี้เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เหตุที่บอกว่าเป็นหนี้ก้อนโตก็เพราะการจะมีบ้านหรือคอนโดฯ เป็นของตนเองนั้นมักไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินสดทั้งจำนวน แต่จำเป็นต้องอาศัยเงินกู้ยืมสถาบันการเงินสูงถึงประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อทำการ ผ่อนบ้าน และคอนโด และเหตุที่บอกว่าต้องเจอประสบสักครั้งในชีวิตนั้น ก็เนื่องจากเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงช่วงวัยจากการอยู่คนเดียวมาเป็นการมีครอบครัว หรือการมีฐานะการเงินมั่นคงเพียงพอจะมีทรัพย์สินของเป็นของตนเองแทนการเช่าที่อยู่ ทำให้การตัดสินใจ กู้ซื้อบ้าน นั้นเป็นเรื่องมีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก
โดยทั่วไปผู้ขอกู้มักเลือกเงื่อนไขการผ่อนแบบนานที่สุดไว้ก่อน เช่น 30 ปี เพื่อให้ยอดผ่อนชำระขั้นต่ำที่สถาบันการเงินคำนวณให้นั้นเป็นภาระกับตนเองน้อยที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรของการเลือกเงื่อนไขนี้ แต่ปัญหาคือภายหลังการทำสัญญากู้ยืมแล้วเราก็มักผ่อนใกล้เคียงกับจำนวนเงินขั้นต่ำที่กำหนดไว้
สาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องจาก Anchoring Bias หรืออคติในลักษณะปักหมุดความคิด กล่าวคือคนเรามักอ้างอิงข้อมูลที่ตนเองได้รับเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ดังนั้น หากกำหนดให้ผ่อนเท่าไหร่ก็มักผ่อนแค่นั้น ไม่ได้มีแรงจูงใจให้เร่งผ่อนให้หมดเร็วๆ สักเท่าใดนัก
บางท่านก็ยังมีความเข้าใจผิดว่า หากกำหนดยอดการผ่อนชำระขั้นต่ำเท่าใดแล้วจะผ่อนมากกว่านั้นไม่ได้ เดี๋ยวจะถูกคิดเบี้ยปรับจากการชำระคืนหนี้ก่อนกำหนด (Prepayment Fee) แต่จริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น เบี้ยปรับดังกล่าวจะคิดก็ต่อเมื่อมีการชำระคืนหนี้ด้วยเงินกู้จากสถาบันการเงินอื่น (Refinance) ภายในระยะเวลาที่สัญญาห้ามไว้ เช่น 3 ปีแรกหรือ 5 ปีแรกของสัญญาเงินกู้ แต่หากเป็นเงินของเราเองแล้ว แม้จะโปะหนี้หลักล้านทั้งหมดภายในสองสามปีแรกเลยก็ย่อมทำได้ โดยไม่โดนเบี้ยปรับอย่างใด
หัวใจสำคัญของการปลดหนี้เงิน กู้ซื้อบ้าน อยู่ที่การเร่งผ่อนชำระมากกว่ายอดขั้นต่ำที่กำหนด หรือที่เรียกว่า “การโปะหนี้” นั่นเอง
โดยทำได้สองแนวทางคือการเจียดเงินมาผ่อนให้มากขึ้นในแต่ละเดือน และ/หรือการใช้เงินก้อนที่ได้รับมาในแต่ละปี เช่น เงินโบนัส
เรื่องนี้สำคัญเพราะหากไม่เร่งปิดภาระหนี้ก้อนโตนี้แล้ว ผลที่เกิดคือเราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนมาก สมมติว่ากู้เงินมา 1 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี และผ่อนเป็นเวลา 30 ปีแล้ว ดอกเบี้ยจ่ายโดยรวมจะสูงถึง 0.93 ล้านบาท หรือเกือบหนึ่งเท่าตัวของยอดเงินกู้เลยทีเดียว
คราวนี้ลองมาดูกันว่าจะเกิดผลอย่างไรหากเราใช้แนวทางปลดหนี้แต่ละแบบ ได้แก่
(1) ผ่อนมากกว่ายอดขั้นต่ำที่กำหนดอีกร้อยละสิบ
(2) ผ่อนแต่ละเดือนตามปกติ แต่เพิ่มยอดการผ่อนทุกเดือนที่สิบสอง ด้วยยอดเงินอีก 4 เท่าของยอดผ่อนปกติ
(3) ผสมผสานระหว่างสองวิธีแรก กล่าวคือผ่อนแต่ละเดือนเท่ากับแนวทางแรก และพอถึงเดือนที่ 12 เพิ่มยอดผ่อนเท่ากับแนวทางที่สอง ผลลัพธ์ที่ได้ในเรื่องของระยะเวลาที่ปลดหนี้เร็วขึ้น และยอดดอกเบี้ยรวมที่ลดลงนั้น เป็นตามที่แสดงด้านล่าง
จะเห็นได้ว่าการเจียดรายได้ต่อเดือนมาผ่อนเพิ่มเติมแม้เพียงเล็กน้อย หรือแบ่งเงินโบนัสมาโปะหนี้ปลายปี หรือใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันแล้ว เราสามารถลดภาระหนี้ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี การโปะหนี้ด้วยเงินก้อนตามแนวทางที่สองนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะสำคัญกว่าการทยอยผ่อนเพิ่มขึ้นแต่ละเดือนตามแนวทางแรก เพราะทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสมมติฐานในการคำนวณ ซึ่งได้ใช้ตัวเลขการโปะหนี้ของแนวทางที่สองสูงกว่าการทยอยผ่อนต่อเดือนแค่นั้นเอง จริงๆ แล้ว หากเรามีงบประมาณในการปลดหนี้ต่อปีจำนวนหนึ่ง การทยอยผ่อนชำระแต่ละเดือนย่อมให้ผลที่ดีกว่าการรอเงินมาโปะหนี้ปลายปีอย่างแน่นอน
การลดภาระหนี้จาก 30 ปีเหลือเพียง 16 ปี และประหยัดดอกเบี้ยจ่ายโดยรวมลงถึงครึ่งหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ เพราะการผ่อนเพิ่มอีกร้อยละสิบจากยอดขั้นต่ำที่กำหนดนั้น เมื่อตีกลับมาจะพบว่าคิดเป็นการเจียดเงินเพียงร้อยละ 3 ถึง 4 ของรายได้ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนการโปะหนี้ในเดือนที่สิบสองมาจากสมมติฐานว่าเราแบ่งเงินโบนัสปลายปีจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ย (คือแบ่งมาจำนวน 1.5 เท่าของเงินเดือนจากค่าเฉลี่ย 3 เดือน) มาโปะหนี้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ แน่นอนว่าย่อมไม่เกินความสามารถของหลายท่านเป็นแน่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารงานพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล K-Expert
การเร่ง โอนบ้าน หนีมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ อาจมีผลร้ายเพิ่มหนี้เสียทวีคูณ
สินเชื่อบ้าน ของแต่ละธนาคาร อัพเดทล่าสุด !!! เดือน มีนาคม 2562