สถานการณ์ในเรื่องของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ ฝุ่น PM 2.5 นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 นั้นถือว่าเป็นมลพิษ และมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายเกิดผลเสียในหลายระบบไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือด ระบบการหายใจ อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งฝุ่น PM 2.5 นั้นเกิดจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้ต่างๆ อย่างเช่นการเผาขยะ เผาป่า เผาไร่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ เกิดจากการก่อสร้าง และอีกอื่นๆ อีกหลากหลายสาเหตุ ดังนั้นเราควรตระหนัก และป้องกันตัวเองจากปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง
ถ้าจะพูดถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 กับที่พักอาศัยโดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมนั้นน่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากการวัดคุณภาพอากาศอากาศของคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งวัดที่ความสูง 5 ระดับคือ 10 เมตร 30 เมตร 50 เมตร 75 เมตร และ 110 เมตรพบว่าช่วงความสูงที่ 30 เมตรนั้นในช่วงเวลา 19.00 – 07.00 หรือตั้งแต่หัวค่ำถึงตอนเช้าระดับความสูง 30 เมตรเป็นความสูงที่มีฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นที่สุด ซึ่งความสูง 30 เมตรสามารถเทียบได้กับคอนโดมิเนียมชั้น 8 – 10 ขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีฝุ่นหนาแน่เพียงแค่ความสูงนี้ฝุ่น PM 2.5 สามารถลอยสูงขึ้นไปในอากาศได้ถึง 100 เมตร แต่จะมีความหนาแน่นของฝุ่นที่เบาบางลงกว่าความสูงในระดับต่ำ
แต่การเตรียมตัวรับมือกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของชาวคอนโดฯ นั้นไม่ได้เป็นเรื่องยาก เพราะด้วยธรรมชาติของคอนโดมิเนียมส่วนมากจะเป็นการใช้อากาศในระบบปิด ไม่ได้ใช้ระบบเติมอากาศจากภายนอกเหมือนอาคารสาธารณะอื่นๆ ทำให้อากาศจากภายนอกที่หมุนเวียนภายในห้องพักของคอนโดฯ จะมาจากการเปิดประตูหน้าต่างๆ เป็นบางครั้งเพื่อให้มีอากาศถ่ายเท ทำให้อากาศภายในห้องจะค่อนข้างสะอาดกว่าอากาศภายนอกมากพอสมควร
สิ่งที่ชาวคอนโด ควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ด้วยตัวเองที่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ได้ผลอย่างรวดเร็วนั้นคือ
- การใช้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถจับอนุภาคขนาดเล็กของฝุ่น PM 2.5
- ไม่ควรเปิดประตูหน้าต่างไว้โดยไม่จำเป็น
- ปรับระบบของเครื่องปรับอากาศให้ใช้เป็นระบบหมุนเวียนอากาศภายใน แทนการนำอากาศภายนอกเข้ามาใช้
- หลีกเลี่ยงการประกอบอาหาร หรือการทำให้เกิดควันไฟเช่นการจุดธูป หรือการทำอาหารปิ้งย่างในห้องพัก
- ทำความสะอาดห้องพักให้บ่อยขึ้นเพื่อลดการสะสมของฝุ่น
- ปลูกต้นไม้ภายในห้องพัก หรือบริเวณระเบียงเพื่อช่วยในการดักจับฝุ่น
แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่ฝุ่น PM 2.5 จับตัวกันอย่างหนาแน่นในความสูงระดับนี้นั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นชาวคอนโดฯ จึงไม่ควรตื่นตระหนกกับปัญหานี้ แต่ต้องใส่ใจในการแก้ปัญหา และรู้จักวิธีการป้องกันปัญหาฝุ่น PM 2.5 สำหรับการพักอาศัยบนอาคารสูงอย่างถูกต้อง ที่สำคัญนอกจากจะรู้วิธีการรับมือกับฝุ่น PM 2.5 ในที่พักอาศัยแล้วนั้น การรับมือกับฝุ่น PM 2.5 เมื่อออกไปนอกที่พักอาศัยก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน ถ้าต้องเดินทางไปในสถานที่ซึ่งมีค่ามลภาวะฝุ่นสูงต้องใส่หน้าการที่สามารถป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 ได้เสมอ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ อีกด้วย
อ้างอิง ; https://www.baanlaesuan.com/146134/ideas/pm2_5_house_and_condo