หลังจากธพส.ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน พ.ย.2561 ให้ดำเนินโครงการพัฒนา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ วงเงิน 30,000 ล้านบาท แยกเป็นลงทุนพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการในพื้นที่โซน C เนื้อที่ 81 ไร่ วงเงินลงทุน 22,000 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารโซน A และ B วงเงิน 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าจ้างที่ปรึกษา
ส่องแนวพัฒนาศูนย์ราชการและวิธีการแก้รถติดแจ้งวัฒนะ
สำหรับการขยายพื้นที่โซน C สร้างเป็นอาคารสูง 11 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น จะมีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวม 660,000 ตารางเมตร จัดสรรเป็นอาคารสำนักงานส่วนราชการ ศูนย์ประชุม และลานอเนกประสงค์ โดยออกแบบเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอาคารมีพื้นที่ต่อเนื่องกับอาคารโซน A และ B พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ และมีพื้นที่สวนหลังคาบนอาคารด้วย ขณะนี้กำลังเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการก่อสร้าง โดยทยอยประมูลก่อสร้างเป็นส่วนๆ จะเริ่มจากงานเสาเข็มก่อน จะเปิดประมูล e-Bidding ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ วงเงิน 800 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 8 เดือน จากนั้นในเดือน ธ.ค.นี้จะประมูลงานส่วนฐานรากของอาคาร วงเงิน 2,200 ล้านบาท และในเดือน ธ.ค.2563 จะประมูลงานอาคาร ทั้งโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2565
ค่าเช่าได้ขออนุมัติปรับเพิ่ม
มี 12 หน่วยงานราชการที่ขอเช่าพื้นที่ มีทั้งย้ายมาจากอาคารเก่าและผู้เช่ารายใหม่ เช่น ศาลปกครองสูงสุด กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ส่วนค่าเช่าได้ขออนุมัติปรับเพิ่มอีก 15.61 บาท/ตารางเมตร จากเดิม 390 บาท/ตารางเมตร/เดือน เป็น 405 บาท/ตารางเมตร/เดือน เนื่องจากจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีหน้าจึงต้องปรับค่าเช่าเพิ่ม ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับกับการเพิ่มขึ้นของคนที่มาทำงานและใช้บริการภายในศูนย์ราชการโซน C คาดว่าจะมีอยู่กว่า 20,000 คน เมื่อรวมกับอาคารเก่า จะอยู่ที่ 40,000 คนต่อวัน จะทำให้เกิดปัญหาการจราจร ทางธพส.จึงจ้างที่ปรึกษาศึกษาระบบการจัดการจราจรภายใน พื้นที่โดยรอบโครงการ และพื้นที่เชื่อมโยงกับถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะมีระบบฟีดเดอร์มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) จะมีสถานีจอดอยู่ด้านหน้า อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้ร่วมประชุมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะขอให้สร้างสถานีอยู่ในพื้นที่ศูนย์ราชการ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้มีตัดถนนใหม่ไปออกทางคลองประปา และเชื่อมกับถนนกำแพงเพชรทะลุไปยังถนนวิภาวดี และสร้างสกายวอล์กเชื่อมกับโรงพบาบาลจุฬาภรณ์ไปยังสถานีหลักสี่ของรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต จะเปิดในปี 2564
บัสแทรม ตัวเลือกเชื่อมรถไฟฟ้า3สาย
ดร.สุรศักดิ์ ทวีศิลป์ ผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า การแก้ปัญหาจราจรจะต้องส่งเสริมให้คนมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งพื้นที่โดยรอบศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จะมีรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดใช้ในปี 2564 แต่จะต้องมีระบบขนส่งมาเป็นฟีดเดอร์รับส่งการเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ สถานีทุ่งสองห้อง และสายสีชมพู มายังภายในศูนย์ราชการด้วย เช่น รถบัสแทรม ที่ลงทุนไม่สูงไม่เกิน 100 ล้านบาท สามารถวิ่งบนถนนได้ และรองรับผู้โดยสารได้ 3,000 คนต่อเที่ยวในเบื้องต้นมี 3 เส้นทาง ดังนี้
- เชื่อมต่อจากถนนแจ้งวัฒนะ และสายสีชมพู เส้นทางเดินรถเริ่มจากหน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ ผ่านกองบัญชาการกองทัพไทย อาคารรัฐประศาสน์ภักดี (อาคาร B) ไปศูนย์ราชการโซน C แล้ววกกลับมาทางเดิม
- เชื่อมการเดินทางจากแนวถนนแจ้งวัฒนะ ถนนกำแพงเพชร 6 และสายสีแดง กับสีชมพูที่สถานีหลักสี่ จะมีสกายวอล์กเชื่อมมายังเส้นทางระบบฟีดเดอร์ แนวเดินรถจะเริ่มจากถนนแจ้งวัฒนะ ผ่านทีโอที ไปรษณีย์ไทย เข้าถนนในศูนย์ราชการบริเวณแจ้งวัฒนะซอย 7 ผ่านอาคาร B ศูนย์ราชการโซน c เข้าถนนหมายเลข 8 ข้ามคลองเปรมประชากร ถนนกำแพงเพชร 6 และศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ มาสิ้นสุดที่พื้นที่จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง
- เชื่อมต่อจากแนวถนนกำแพงเพชร 6 และสายสีแดงที่สถานีทุ่งสองห้อง เข้าพื้นที่ศูนย์ราชการ การเดินรถจะเริ่มจากลานจอดรถบริเวณโซน A วิ่งบนถนนหมายเลข 5 เลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข 1 ผ่านกองบัญชาการกองทัพไทย และอาคาร B แล้วเลี้ยซ้ายเข้าถนนหมายเลข 3 ผ่านพื้นที่ด้านหน้าโซน C ก่อนเลี้ยวเข้าถนนหมายเลข 8 แล้วจึงเลี้ยวขวาอีกครั้งสู่ถนนกำแพงเพชร 6 ไปจนถึงสถานีทุ่งสองห้องแล้ววกกลับเส้นทางเดิม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
ส่องเล่ห์เหลี่ยมเจ้าสัว ในการหลบเลี่ยง ภาษีที่ดิน ปี63…
ตารางประเมินราคาที่ดินปี 2563 ภาคตะวันออก จังหวัดไหนแพงสุด 9