กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รับภาษีลาภลอย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคไม่มาก

ภาษีลาภลอย

ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย ภาษีลาภลอย แล้ว คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบพ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. … (ภาษีลาภลอย)

ภาษีลาภลอย ไม่ส่งผลกระทบมาก

หลังจากเปิดรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะเสนอร่างพ.ร.บ.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในรายละเอียด แล้วส่งกลับเข้าครม.และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณา โดยคาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2562 ทั้งนี้เป็นการเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดอันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการของรัฐ โดยจะใช้ภาษีนี้ไปเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป

ขณะที่ในส่วนของที่ดินและห้องชุดมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะเสียภาษีเพียงครั้งเดียวบนส่วนต่างของมูลค่าที่เพิ่มระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างกับมูลค่าในวันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่วนกรณีคอนโดที่คำนวณส่วนต่างไม่ได้ ให้คำนวณภาษีจาก 20% ของมูลค่าคอนโด อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 5%

ภาษีลาภลอย

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าวนี้ คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่รัศมี 5 กม.ที่มีโครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม

ทั้งนี้ ผลกระทบจากภาษี  1. คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำกัด เนื่องจากเป็นการเสียภาษีบนส่วนต่างของมูลค่าและเป็นการเสียครั้งเดียวเมื่อมีการเปลี่ยนมือ รวมทั้งสัดส่วนของผู้เป็นเจ้าของที่ดินและห้องชุดมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทในรัศมี 5 กม.ของโครงการไม่มาก และเป็น กลุ่มที่มีกำลังจ่ายภาษีอยู่แล้ว

2.ส่วนบริษัทพัฒนาโครงการที่มีห้องชุดรอจำหน่ายที่ต้องเสียภาษีก็มีผลกระทบบ้างแต่ก็ไม่เยอะมาก

และ 3. สำหรับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA รวมถึงผู้ประกอบการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานและศูนย์การค้า ทั้ง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN, บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF และ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD  ยังไม่แน่ชัดเรื่องผลกระทบ ต้องรอความชัดเจน แต่ถ้าได้รับการยกเว้นหรือครอบคลุมที่ดินแค่เพียงบางส่วนก็จะได้รับผล กระทบไม่มาก

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ทันหุ้น

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เราหามาเสริฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก …