หากกล่าวถึงชาวญี่ปุ่นแล้วหลายคนคงนึกถึงความเป็นระเบียบและจริงจังของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตด้านใดก็ตามคนญี่ปุ่นมักจะจริงจังกันอยู่เสมอ ความเป็นระเบียบของพวกเขาทำให้กลายชาวญึ่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในผู้เช่าต่างชาติที่ผู้ให้เช่าหลายคนต้องการ เพราะพวกเขามักดูแลห้องพักเป็นอย่างดีนั่นเอง
แต่คนญี่ปุ่นก็มีความต้องการและความคุ้นเคยที่ต่างจากคนไทยอยู่มากพอสมควรทีเดียวไม่ว่าจะเป็นห้องครัว ห้องน้ำหรือหน้าบ้าน เรียกว่าทุกส่วนมีความใส่ใจที่ต่างกันออกไป
ปัจจัยหลักที่สืบทอดมาแต่โบราณ
หลายคนคงเคยเห็นการออกแบบอย่างญี่ปุ่นกันมาบ้างจะพบว่าพวกเขามักออกแบบโดยเน้นตามการใช้งานเป็นหลัก ดังนั้นหากพูดถึงการวางแปลนบ้านแล้วก็ต้องบอกว่ามีหลายส่วนที่พวกเขาคิดมากันแต่โบราณแล้วว่าเหมาะสม
เริ่มจากกั้นส่วนอึกทึกออกจากส่วนเงียบ เราจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นจะสร้างพื้นที่ครัว โต๊ะอาหารและห้องนั่งเล่นติดกันโดยให้ครัวหันหน้าหาห้องนั่งเล่นเพื่อให้คุณแม่ที่ทำอาหารสามารถมองเห็นลูกที่อยู่ในห้องนั่งเล่นได้ ส่วนห้องนั่งเล่นก็จะเชื่อมไปยังระเบียงห้อง หากเป็นบ้านแบบโบราณส่วนนี้จะเป็นสวน
บ้านโบราณของญี่ปุ่นมักวางแบบเป็นรูปตัว L ล้อมสวนเอาไว้โดยจัดให้สวนอยู่หลังบ้าน จากประตูทางเข้าบ้านจะมองไม่เห็นด้านในบ้านคล้ายของจีนแต่เน้นการใช้งานพื้นที่ถอดเปลี่ยนรองเท้า หากมีแขกแปลกหน้าหรือแขกที่ไม่คุ้นเคยมักจะยืนคุยกันตรงนี้ ไม่เชิญเข้าบ้าน
หากต้อนรับแขกเข้าบ้านก็จะผ่านสวนมายังห้องนั่งเล่น แต่จะไปไม่ถึงห้องนอน เป็นเหมือนการกั้นพื้นที่ตามระดับความสนิทไปในตัว
ข้อแตกต่างที่สามารถสังเกตได้
การวางเลย์เอาท์ภายในบ้านของญี่ปุ่นจะมีการแบ่งอย่างชัดเจนมากทีเดียวแม้ตอนแรกจะเป็นห้องโล่งว่างห้องหนึ่งแต่หากให้คนญี่ปุ่นวางเฟอร์นิเจอร์จัดห้องนี้แล้วสุดท้ายที่ได้ก็จะเป็นห้องที่มีสัดส่วนอย่างมาก
แปลนบ้านแบบโบราณของญี่ปุ่นก็เป็นเช่นนั้น ทุกห้องจะมีการแบ่งกั้นอย่างชัดเจน
พื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่รับแขกแยกกันชัดเจน
แม้ว่าบ้านแบบโบราณของญี่ปุ่นจะสร้างห้องตรงทางเข้าหน้าบ้านหรือที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ถอดเปลี่ยนรองเท้าเอาไว้ทุกบ้านแต่ด้วยพื้นที่จำกัดในปัจจุบัน หลายห้องพักจะทำส่วนนี้ให้เล็กลงมากจนไม่อาจรับแขกตรงนี้ได้อีกทำได้แค่รับพัสดุเท่านั้นแล้ว การแบ่งพื้นที่ตามความสนิทก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม
คนญี่ปุ่นมักวางห้องนอนเอาไว้ด้านในสุดของบ้านเพราะจัดเป็นห้องส่วนตัวมากๆ อย่างหากเป็นห้องพักที่มีการกั้นห้องหลายห้อง ห้องนอนก็จะจัดวางเอาไว้ในสุดเป็นห้องที่แค่เดินผ่านยังยากเลย
แยกส่วนพื้นที่การใช้งานชัดเจน
ดอทขอยกตัวอย่างเป็นห้องน้ำ ห้องน้ำของบ้านเรามักจะรวมพื้นที่อาบน้ำ สุขา อ่างล้างหน้าเข้าด้วยกัน มากสุดที่แยกก็คือแยกส่วนเปียกส่วนแห้งให้สามารถใช้งานได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น แต่ชาวญี่ปุ่นนั้นจะแยกห้องอาบน้ำ ห้องสุขาและห้องล้างหน้าออกจากกันคือมีประตูกั้นทุกห้อง
เช่นเดียวกับห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าวและห้องครัว ที่แม้ปัจจุบันจะเห็นรวมกันบ้างแล้วแต่การใช้งานของมันจะแยกกันอย่างสิ้นเชิง เราจะไม่ค่อยเห็นคนญี่ปุ่นกินข้าวไปด้วยดูทีวีไปด้วย หรือกินข้าวไปด้วยทำอาหารไปด้วย
คำแนะนำสำหรับผู้ให้เช่าที่ต้องการผู้เช่าชาวญี่ปุ่น
ผู้เช่าชาวญี่ปุ่นเป็นผู้เช่าในดวงใจของใครหลายคนทีเดียวเพราะความเป็นระเบียบของพวกเขาทำให้ห้องที่แม้จะอยู่อาศัยมานานมากก็ยังคงเหมือนใหม่อยู่นั่นเอง ดอทจึงมีข้อแนะนำบางประการที่อาจเรียกผู้เช่าชาวญี่ปุ่นให้สนใจห้องของคุณได้
ห้องน้ำต้องมีอ่างอาบน้ำ
นี่คือสิ่งสำคัญมาก เพราะชาวญี่ปุ่นมักผ่อนคลายหลังจากจบหนึ่งวันด้วยการแช่น้ำร้อน อ่างอาบน้ำของญี่ปุ่นไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนของเราที่สามารถลงไปนอนยืดขาได้ ของเขาจะสั้นก็กว่านั้นแค่พอลงไปนั่งงอเข่าในนั้นได้ก็พอแล้ว
พื้นที่หลังประตูหน้าบ้าน
คนญี่ปุ่นใช้พื้นที่หลังประตูหน้าบ้านในการจัดการตัวเองหลายอย่างตั้งแต่เปลี่ยนลองเท้า แขวนเสื้อโค้ท วางกระเป๋า วางกุญแจ วางร่ม คือเอาไว้เก็บของที่ใช้นอกบ้านโดยเฉพาะทำให้ไม่ลืมของหรือต้องวิ่งเข้าไปหาด้านในบ้านให้วุ่นวาย