การจัดลำดับความสำคัญในชีวิตในระยะยาวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
แต่มิลเลนเนียลมีอิทธิพลต่อรูปแบบอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิก
แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ รายงานว่า คนรุ่น “มิลเลนเนียล” ในเอเชียแปซิฟิกมีการจัดลำดับความสำคัญของรูปแบบการดำเนินชีวิตในระยะยาวเหมือนกับคนรุ่นอื่นๆ ซึ่งคนรุ่นมิลเลนเนียลมักถูกมองว่ามีความแตกต่างออกไป รายงานฉบับพิเศษเล่มนี้ของซีบีอาร์อีเรื่อง มิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิก: กำหนดอนาคตตลาดอสังหาริมทรัพย์ (Asia Pacific Millennials: Shaping the Future of Real Estate) ได้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อมิลเลนเนียลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และชี้ให้เห็นถึงวิธีการที่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของการใช้ชีวิตผ่านมุมมองด้านการอยู่อาศัย การทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัว
ผลการสำรวจได้แสดงให้เห็นว่า ความคิดที่ว่ามิลเลนเนียลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกชอบทำงานอิสระ เปลี่ยนงานบ่อย และหลีกเลี่ยงที่จะมีภาระทางการเงินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แผนกวิจัยซีบีอาร์อีเผยว่า มิลเลนเนียลส่วนใหญ่มีการเก็บออมเพื่อซื้อที่พักอาศัยและใช้เงินอย่างรอบคอบไม่ต่างจากคนรุ่นอื่นๆ นอกจากนี้ รายงานยังได้ระบุอีกว่ากลุ่มคนรุ่นนี้ตั้งใจที่จะทำงานที่มีความมั่นคง แต่ก็ให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นๆ ด้วยเมื่อหางานใหม่ เช่น การออกแบบสำนักงาน โดย 71 เปอร์เซนต์ของผู้ตอบแบบสอบถามจะยอมละทิ้งสวัสดิการอื่นๆ เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้น
นายสตีฟ สเวิร์ดโลว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีบีอาร์อี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “กลุ่มมิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิกถือเป็นตัวแปรสำคัญของทุกภาคธุรกิจ ปัจจัยสำคัญในด้านการอยู่อาศัย การทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัว รวมถึงลักษณะนิสัยของพวกเขาจะเป็นตัวกำหนดด้านเศรษฐกิจ เปลี่ยนมุมมองด้านการออกแบบและการใช้งานพื้นที่ทำงาน และก่อให้เกิดทัศนคติใหม่ต่อการบริโภคและประสบการณ์ในอนาคตข้างหน้าอันใกล้”
ดร. เฮนรี่ ชิน หัวหน้าแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นว่า “มิลเลนเนียลเป็นตัวแทนของกลุ่มกำลังซื้อที่มีความรวดเร็วมากที่สุดในภูมิภาค และเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดแนวโน้มของอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต โดยผ่านพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ความต้องการ และปัจจัยสำคัญในการอยู่อาศัย การทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัว”
การอยู่อาศัย: รูปแบบใช้ชีวิตและที่พักอาศัย
เกือบ 2 ใน 3 ของมิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิกยังคงอาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งวัฒนธรรมและสถานะทางการเงิน ในประเทศส่วนใหญ่ที่ซีบีอาร์อีทำการสำรวจ ค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยที่สูงทั่วภูมิภาคสร้างความท้าทายให้กับมิลเลนเนียลในการเก็บออมเงินเพื่อซื้อที่พักอาศัยเป็นของตัวเอง
จากการสำรวจพบว่า มิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิกอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง โดย 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามมีแผนจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอนาคต แต่ 63 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจำเป็นต้องเช่าที่พักอาศัยแทน เนื่องจากไม่มีศักยภาพพอที่จะซื้อ และจะเช่าต่อไปจนกว่ามีสถานะทางการเงินที่มากพอที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง การสำรวจยังพบว่า เมื่อตั้งใจจะซื้อที่พักอาศัย มิลเลนเนียลจะยังไม่ซื้อจนกว่าจะเจอตัวเลือกที่ตรงกับมาตรฐานการใช้ชีวิตของตนเองในด้านคุณภาพ ขนาด และทำเล
“ผู้พัฒนาโครงการและเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นควรให้ความสนใจกับแนวโน้มเหล่านี้โดยการสร้างที่พักอาศัยที่กลุ่มมิลเลนเนียลสามารถเช่าหรือซื้อได้ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มมิลเลนเนียลในการเก็บสะสมเงินดาวน์ ควรจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินเชื่อที่พักอาศัยสำหรับผู้มีอายุน้อยที่ซื้อบ้านหลังแรก” ดร. เฮนรี่ กล่าว
การทำงาน: พนักงานที่มีความสามารถและสถานที่ทำงาน
มิลเลนเนียลคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในวัยทำงานทั้งหมดในเอเชียแปซิฟิก และเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในโลกธุรกิจ รวมถึงอนาคตของการออกแบบสถานที่ทำงาน
ถึงแม้เงินเดือนและสวัสดิการยังคงเป็นปัจจัยหลักเวลาเลือกงาน แต่มิลเลนเนียลยังพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตด้วย ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบสำนักงาน การทำงานที่มีความยืดหยุ่น ทำเลที่ตั้ง และระยะเวลาในการเดินทาง ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขาคิดว่านายจ้างควรพิจารณาเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มากขึ้น มิลเลนเนียลมองสำนักงานและสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวว่าเป็นเหมือนสังคมที่สามารถพักผ่อน พบปะผู้คน และทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย
ด้วยบทบาทของเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น มิลเลนเนียลจึงมีความต้องการมากขึ้นที่จะสามารถทำงานได้อย่างอิสระจากที่ไหนและเวลาใดก็ได้ มิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานและสามารถทำงานนอกสถานที่ได้
ความจงรักภักดีต่อองค์กรของมิลเลนเนียลนั้นมีมากกว่าที่เข้าใจกัน โดย 2 ใน 3 ของมิลเลเนเนียลในเอเชียแปซิฟิกคาดหวังที่จะทำงานในบริษัทเดิมหรือเปลี่ยนเพียงไม่กี่บริษัทตลอดชีวิตการทำงาน ผลสำรวจเผยว่า แรงบันดาลใจ หน้าที่ความรับผิดชอบ และความก้าวหน้า คือสิ่งจำเป็นในการดึงดูดมิลเลนเนียลที่มีความสามารถและทำให้อยู่กับบริษัทได้นาน กลยุทธ์การจัดพื้นที่ทำงานที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งยอมรับถึงความหลากหลาย การสร้างตัวเลือก และมีชุมชนรอบๆ ตัว ล้วนเป็นสิ่งที่ดึงดูดมิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิกในการหางาน ทำให้พนักงานมากความสามารถมีความสุขมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น และสร้างผลงานได้มากขึ้น
การใช้ชีวิตส่วนตัว: การเข้าสังคมและช้อปปิ้ง
มิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาและเงินไปกับกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนและสร้างประสบการณ์ เช่น การท่องเที่ยว ความบันเทิง และการทานอาหาร มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ
มิลเลนเนียลช้อปปิ้งออนไลน์เฉลี่ย 4.7 วันต่อเดือน แต่ร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์การค้าเท่านั้นที่ให้ประสบการณ์และองค์ประกอบทางสังคมตามที่ต้องการได้ มิลเลนเนียลไปศูนย์การค้าเฉลี่ย 3 วันต่อเดือน และไปด้วยจุดประสงค์ที่หลากหลายที่ไม่ใช่แค่การซื้อของ เช่น ทานอาหารนอกบ้าน ติดต่อธนาคาร และเยี่ยมชมนิทรรศการ อย่างไรก็ตาม แผนกวิจัยซีบีอาร์อีแนะว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความตั้งใจที่จะเก็บออมเงินเพื่อซื้อที่พักอาศัยอาจยับยั้งการใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนในอนาคตของมิลเลนเนียลได้
“เพื่อที่จะได้ประโยชน์จากลักษณะนิสัยการใช้จ่ายของมิลเลนเนียล ผู้ค้าปลีกควรเพิ่มองค์ประกอบที่ช่วยสร้างประสบการณ์และมุ่งเน้นในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกค้าสามารถมาพบปะและพักผ่อนได้ นอกจากเพิ่มร้านอาหารและเครื่องดื่ม โรงภาพยนตร์ และกิจกรรมบันเทิงในศูนย์การค้า เจ้าของศูนย์การค้าควรพิจารณาการจัดการแสดงสดต่างๆ ให้มากขึ้นเพื่อดึงดูดกลุ่มมิลเลนเนียล แต่ก็ควรบริหารสัดส่วนของผู้เช่า (tenant mix) ให้มีความหลากหลาย เพื่อรองรับคนรุ่นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน” ดร. เฮนรี่กล่าวเพิ่มเติม
Dot Property เว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ซื้อ-ขาย อย่างมืออาชีพ…
ท่านต้องการขายอสังหาริมทรัพย์อยู่หรือไม่ ลงประกาศขายกับ Dot Property ฟรี!!! ไม่มีค่าใช้จ่าย ลงประกาศง่าย ขายได้ไว
หรือหากท่านกำลังมองหา คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน เว็บไซต์ Dot Property มีให้ท่านเลือกมากกว่า 300,000 รายการ ได้ตรงตามความต้องการ ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย