เมื่อเวลา 13.45 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในสัญญาและบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อสนับสนุนโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ระยะเวลา 50 ปี
ซี.พี. เซ็นสัญญาไฮสปีด3สนามบิน เชื่อมสัมพันธ์ไทย–จีน–ญี่ปุ่น
โดยมีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และตัวแทนบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ร่วมลงนาม
นายศุภชัยกล่าวว่า นับเป็นเกียรติที่ได้ร่วมทำ PPP โครงการกับภาครัฐ ซึ่ง กลุ่มซี.พี.ใช้เวลาเตรียมความพร้อมก่อนเข้าประมูลโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 2 ปี และเมื่อได้รับการคัดเลือกแล้วก็ต้องใช้เวลาเจรจาต่อรองกับรัฐอีก 11 เดือน ทุกๆ อย่างและรายละเอียดต่างๆ ถือว่าเราร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่
สำหรับการเริ่มงานแอร์พอร์ตลิ้งก์จะเป็นช่วงที่เริ่มได้เร็วที่สุด เพราะมีเพียงการปรับปรุงบางส่วนเท่านั้น ส่วนที่ยากที่สุดคือช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง – พญาไท และส่วนที่ยาวที่สุด คือช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ซึ่งมีความท้าทายแตกต่าง และต้องอาศัยความร่วมมือจาก ร.ฟ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องร่วมมือกัน ยืนยันจะทำเต็มที่ และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างให้ได้ภายใน 1 ปี ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีให้เสร็จ
“พาร์ทเนอร์ของเรา ทั้งอิตาเลียนไทย และ ช.การช่าง มีความสามารถด้านการก่อสร้างงานโยธาอยู่แล้ว ส่วน China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางและการบริหารของรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการจัดหาขบวนรถด้วย ด้าน FS (บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี) เป็นผู้ที่มาร่วมในด้านการบริหารเดินรถพาร์ทเนอร์ แต่ละบริษัทมีความเข้มแข็งในด้านของตัวเอง แต่ยังไม่สรุปอะไร ยังเปิดเผยไม่ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนภายใน”
ขณะที่แหล่งเงินกู้มีทั้งในและต่างประเทศ สำหรับต่างประเทศ มีธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) กับ China Development Bank (CDB) ซึ่งมาช่วยเป็นที่ปรึกษาและทำให้เราเข้าใจการลงนามในโครงการนี้มากขึ้น
“ภาคเอกชนกลัวที่สุด คือความเสี่ยงร่วมลงทุนใช้เงินกว่าแสนล้าน ถ้าทำแล้วขาดทุนจะไม่ใช่แค่แสนล้าน ทุกปีที่ขาดทุนต้องระดมทุนเข้าไป เรื่องนี้เราศึกษาอย่างละเอียดก็เชื่อมั่นว่าจะทำให้สำเร็จได้ โครงการนี้เป็น ppp โครงการแรกที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่และจากความยืดหยุ่นต่างๆ จะเป็นโครงการนำร่องไปยังโครงการอื่นๆ”
ทั้งนี้โครงการนี้ได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ได้แก่ China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง
จัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” เป็นตัวแทนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public – Private – Partnership หรือ PPP ในครั้งนี้
โดยภายหลังการลงนามจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจและออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ Suppliers ต่างๆ รวมถึงเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที
“นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน PPP กับภาครัฐผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ“ นายศุภชัยกล่าว
นายศุภชัยกล่าวว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา
และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง และมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
นายคณิศกล่าวว่า เป็นความยินดีหลังจากทำงานในโครงการนี้มา 22 เดือน ต่อจากนี้ความสัมพันธ์ของรัฐและเอกชนจะเป็นไปในทางพาร์ทเนอร์ร่วมกัน ส่วนการเปิดเผยร่างสัญญาต้องรอฝ่ายกฎหมายของอีอีซีเป็นผู้เปิดเผยก่อน
ขณะที่การจ่ายเงินอุดหนุนโครงการ 117,227 ล้านบาท กระบวนการเดิมคือต้องสร้างเสร็จก่อน แล้วรัฐตรวจสอบจึงจะเริ่มจ่ายเงินส่วนนี้เมื่อเปิดเดินรถ แต่โครงการแบ่งเป็นท่อนๆ ใน RFP ไม่ได้ยึดติดว่าต้องทำเสร็จทั้งช่วง จึงจะจ่ายเงิน แต่ถ้าช่วงใดที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดเดินรถได้ก่อนก็จะทยอยจ่ายอุดหนุนเฉพาะส่วนนั้นๆ ไปก่อน
ด้านนายวรวุฒิกล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกของการเริ่มต้นของการทำงานตามสัญญา 50 ปีของโครงการนี้ ยอมรับว่าหายเหนื่อย แต่ก็แค่พักเดียว เพราะหลังจากนี้มีอะไรต้องทำร่วมกันอีกมาก ต้องเหนื่อยกันอีก เพราะต้องลงรายละเอียดในเนื้องานของโครงการจริงๆ แล้ว
ส่วนการส่งมอบพื้นที่ของโครงการ ในส่วนของการพัฒนา TOD มักกะสัน และศรีราชา จะส่งหนังสือเริ่มดำเนินการ (NTP : Notice to Proceed) ได้ ก็เมื่อมีการส่งมอบหนังสือ NTP ให้เริ่มการก่อสร้าง เมื่อส่งมอบ NTP ก่อสร้างจึงจะออก NTP พัฒนา TOD
ทั้งนี้ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง สาระสำคัญมี 2 เรื่อง คือ 1.การเคลียร์ผู้บุกรุก ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้จัดการ ส่วนเอกชนจะต้องเคลียร์ซากปรักหักพังต่างๆ และ 2.การเคลียร์พื้นที่ใต้ดินหรือระบบสาธารณูปโภค เอกชนต้องออกแบบให้เห็นแนวเส้นทางก่อน จากนั้นจึงจะเชิญหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคทั้ง 8 หน่วยมาคุยกันว่าจะออกแบบอย่างไร ต้องหลบไหมหรือขยับอะไร ซึ่งหน้าที่การรื้อย้ายต่างๆ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของระบบนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการ
ที่มา prachachat
ร่าง ราคาประเมินที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง-ห้องชุดใหม่ มีผล 22 พ.ย.62 นี้
รัฐอันงบเพิ่ม ชิมช้อปใช้ 2 แจกมากกว่าเดิม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ