รฟท. ลั่นได้ฤกษ์เปิดประมูล รถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน 12 พ.ย.นี้ คาดรู้ผลภายในเดือน ม.ค. 2562 ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 ลุ้นส่งเข้า ครม.พิจารณาทันปีนี้
รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดกำหนดการร่วมประมูล
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการเข้าร่วมประมูลในช่วงวันที่ 12 พ.ย. 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. และจะรู้ผลการประมูลภายในเดือน ม.ค. 2562
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รฟท.ได้จัดการประชุมชี้แจงโครงการครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2561 หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อเอกสารได้ส่งคำถามหรือข้อสงสัยต่าง ๆ เข้ามาเพื่อรวบรวมประเด็นทั้งหมดและนำมาชี้แจงให้ความชัดเจนในรูปแบบของโครงการ ซึ่งมีผู้สนใจสอบถามข้อมูลมาถึง 626 คำถาม โดยมีประเด็นที่หลากหลาย ทั้งด้านเงินลงทุน ร่างสัญญาร่วมลงทุน การก่อสร้าง การเดินรถ รวมไปถึงข้อกำหนดของ รฟท.ในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี งานโยธา งานระบบรถไฟ และเทคโนโลยี เป็นต้น
โดยนับจากนี้ ทาง รฟท.ยังคงเปิดให้ผู้ซื้อเอกสารส่งข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชนรวมถึงการตรวจสอบข้อมูลหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการได้จนถึงวันที่ 9 ต.ค. 2561 จากนั้นจะให้เอกชนยื่นข้อเสนอเข้าร่วมประมูลในวันที่ 12 พ.ย. 2561 เวลา 09.00-15.00 น.
สำหรับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะใช้เวลาพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะภายในเดือน ม.ค. 2562 จากนั้นจะลงนามในสัญญา โดยคาดจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2566 โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ถือเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)
ขณะเดียวกัน จะเชื่อมโยงการเดินทางของผู้โดยสาร 3 ท่าอากาศยานเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ท่องเที่ยวให้เดินทางถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งเชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งทางถนนและทางเรือได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
ส่วนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ดำเนินการคู่ขนานกันไป คาดจะจัดทำได้เสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2562 พร้อมทั้งดำเนินการเวนคืนที่ดินประมาณ 200-300 ไร่ ซึ่งการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ทั้งหมดกำหนดไว้ภายใน 5 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการทยอยมอบพื้นที่ให้กับเอกชนดำเนินการ
มิติใหม่ในการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนี้ถือเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge)
ขณะที่ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา ดังนั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะถือเป็นมิติใหม่ในการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน
ด้านความคืบหน้าการเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่จำนวน 8 เส้นทาง ล่าสุดอยู่ในระหว่างที่ รฟท.จะนำเรื่องเสนอให้กับกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือน ต.ค. 2561 โดยจะนำเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ทันภายในปี 2561 เบื้องต้นจะประกาศ TOR เพื่อหาผู้รับเหมาในเดือน ม.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม จะต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าจะดำเนินการให้มีการเปิดประมูลกี่เส้นทาง
นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า การพิจารณาลำดับความสำคัญของเส้นทางนั้น รฟท.จะประเมินเส้นทางที่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งในการเปิดประมูลเป็นลำดับแรก และก่อสร้างคือเส้นทาง หนองคาย-มาบตาพุด ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่มีการขนส่งสินค้า และมวลชนระหว่างไทย กับ สปป.ลาว
นอกจากนี้ ยังช่วยในการขนส่งสินค้ามายังพื้นที่อีอีซี โดยจะเป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางเดิมที่ได้เปิดประมูลไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ เส้นจิระ-ขอนแก่น ลำดับที่สอง ได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. ซึ่งเน้นขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก ขณะที่ส่วนจะต่อขยายต่อไป ได้แก่ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา
ส่วนการจัดตั้งบริษัทลูกในการบริหารเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รังสิต-บางซื่อ) ปัจจุบันได้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มาเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงแทน จากเดิมที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่
ทั้งนี้ ทาง รฟท.จะปรับปรุงแผนงานใหม่และนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อจัดสรรพนักงานให้สอดคล้องกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง เพราะช่วง 2 ปีแรกพนักงานของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ต้องบริหารเดินรถ 2 ปีก่อนที่จะส่งมอบให้เอกชนที่ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
ขณะเดียวกัน การเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงการรถไฟตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสาร 8 หมื่นคนต่อวัน ภายในช่วงระยะเวลา 3-5 ปี
โดยจะต้องทำการเชื่อมต่อระบบขนส่งเพื่อให้มีผู้โดยสารตามที่ตั้งเป้า โดยประเมินหากมีผู้โดยสารเข้าสู่ระบบในจำนวนดังกล่าวถึงจะช่วยให้ถึงจุดคุ้มทุนได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น