ปี”68 นี้ รถไฟฟ้าครบ 10 สายแน่ พร้อม โมโนเรลเชื่อม “บางซื่อ-มักกะสัน-แม่น้ำ”

รถไฟฟ้า

ภายในเดือน ส.ค.นี้ น่าจะเห็นเค้าโครงเส้นทาง รถไฟฟ้า กรุงเทพฯและปริมณฑลระยะที่ 2 ที่ “ไจก้า-องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น” และ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ร่วมกันศึกษาจัดทำเป็นแผนแม่บทอยู่ในขณะนี้

ความคืบหน้าล่าสุด “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในพื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ร่วมกับไจก้า พบว่าผลศึกษามีความก้าวหน้าโดยลำดับ

ขณะนี้กำลังเร่งรัดให้ รถไฟฟ้า 10 สายทางตามแผนแม่บทระยะที่ 1 (M-MAP 1) ได้รับอนุมัติและก่อสร้างทั้งหมด

ตอนนี้ยังเหลือสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา ขณะที่สายสีส้มตะวันตก (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) รอเสนอเข้าคณะกรรมการ PPP พิจารณาร่วมกับงานเดินรถ

ยังมีสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงคูคต-ลำลูกกา และสมุทรปราการ-บางปู สายสีน้ำเงินต่อขยายบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 สายสีแดงต่อขยายตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา และช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์

รถไฟฟ้า

สำหรับ M-MAP 2 จะเป็นโครงข่ายส่วนต่อเชื่อมกับเส้นทางเดิมที่ยังขาดช่วงอยู่ และให้เชื่อมระหว่างศูนย์กลางเมืองกับเมืองรองหรือ sub-center มี 3 จุดสำคัญ คือ 1.สถานีกลางบางซื่อ ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมในอนาคต 2.บริเวณมักกะสัน และ 3.สถานีแม่น้ำ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีแผนพัฒนาพื้นที่อยู่ ทางไจก้ากำลังจะพิจารณาว่าสามารถนำระบบขนส่งใดเชื่อมต่อเข้าไปได้บ้าง เมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็ไปสู่การทำรายละเอียดในแต่ละเส้นทางต่อไป

ในเบื้องต้น กำลังจะพิจารณาจะนำโมโนเรลสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี, โมโรเรลสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9 โมโนเรลสายสีทอง กรุงธนบุรี-คลองสาน-ประชาธิปก และไรต์เรล สายบางนา-สุวรรณภูมิ เข้ามาอยู่ในแผน M-MAP 2 ด้วย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การใช้ที่ดินของกรุงเทพฯจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

“บางเส้นทางอาจจะไม่ได้มีเพียงระบบรถไฟฟ้า อาจจะมีรถเมล์บ้างก็ได้ เพราะดีมานด์ยังไม่พอ จึงขอทางไจก้าพิจารณาตรงนี้ด้วย บางพื้นที่อาจจะมีดีมานด์เพียงพอ แต่ไม่คุ้มที่จะลงทุนก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบอื่น ผสมกันหลายอย่าง เพื่อเติมเต็มระบบโครงข่ายการเดินทางของประชาชน”

นายอาคมกล่าวต่อว่า ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ มีรายงานความก้าวหน้าของการศึกษา ก่อนที่จะสรุปผลในเดือน ส.ค.จากนั้นจะนำผลการศึกษาที่ไจก้าจัดทำมาพิจารณาทบทวนกันอีกรอบ ยังมีเวลาดำเนินการก่อนที่โครงการตามแผนแม่บทระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จในปี 2568

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ภาพรวมของ M-MAP 2 เน้นการระบายความหนาแน่นของประชาชนในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่เดิมในกรุงเทพฯ เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าแต่ละสาย ทั้งสายสีเขียว สีน้ำเงิน และสีม่วง มีปริมาณคนใช้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนใหญ่จะเชื่อมต่อกับโครงการหลักในแผน M-MAP 1 ในลักษณะแตกเป็นแขนงแตกออกมา โดยจะเน้นโมโนเรลและระบบรางเบามากขึ้น เมื่อทำแผนแล้วเสร็จ แต่ละหน่วยงานก็สามารถนำไปพิจารณาเพื่อจัดทำลงท้องถิ่นของตัวเองก็ได้

ด้านความคืบหน้าของสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างอยู่ หากผลการศึกษาแล้วเสร็จ จะเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ต่อไป เพื่อบรรจุในแผน M-MAP 2

“ตอนนี้รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนรถไฟฟ้าในแผน M-MAP 1 ให้สำเร็จ ทุกอย่างอยู่ในไทม์ไลน์หมดแล้ว แต่ก็ต้องคิด M-MAP 2 เอาไว้ก่อน อาจจะใช้ใน 15-20 ปีข้างหน้า เพราะต้องขับเคลื่อนโครงการใน M-MAP 1 ให้ครบ และพร้อมใช้บริการทั้งโครงข่ายทั้งหมดในปี 2568”

ขณะเดียวกัน ให้ไจก้าศึกษาถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ที่ได้รับการก่อสร้างด้วย เพราะปัจจุบันมีพื้นที่แปลงใหญ่ในกรุงเทพฯที่มีศักยภาพเกิดขึ้นหลายพื้นที่ มีความสามารถที่จะพัฒนาได้ เช่น สถานีแม่น้ำ ที่ ร.ฟ.ท.สามารถนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาได้

 

ที่มา prachachat.net

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เราหามาเสริฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก …