มาแน่นอน  รถไฟฟ้า “บางนา-สุวรรณภูมิ” BTS พร้อมเสนอสัมปทาน 2.7 หมื่นล้าน

รถไฟฟ้า

ผลการศึกษาแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2556 โครงการ รถไฟฟ้า ขนาดเบาหรือไลต์เรลสายบางนา-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.3 กม. ที่ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ผลักดันมาหลายปี มีความคืบหน้าล่าสุด ณ มิ.ย. 2561 กทม.กำลังลุ้นให้ผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ซึ่งอยู่ในขั้นของการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ยังไม่รู้ถึงสิ้นปีนี้จะได้รับไฟเขียวหรือไม่

ดึงเอกชนร่วมทุน PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี เพื่อลดภาระงบประมาณในโครงการ รถไฟฟ้า

แต่เพื่อให้โครงการเดินหน้าเร็วขึ้น “กทม.” ทำรายละเอียดเอกสารให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนคู่ขนานไปด้วย เป็นรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี เพื่อลดภาระงบประมาณ ซึ่งโมเดลนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจร(คจร.) ที่มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งโครงการใช้เงินลงทุน 27,892 ล้านบาท ตลอดระยะทาง มี 14 สถานี แบ่งก่อสร้าง 2 ระยะ ในระยะแรกสร้างจาก “แยกบางนา-ธนาซิตี้” จำนวน 12 สถานีและระยะที่ 2 จาก “ธนาซิตี้-สุวรรณภูมิด้านใต้” จำนวน 2 สถานี ตลอดเส้นทางมีจุดต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีบางนากับสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรงที่สถานีวัดศรีเอี่ยม.

01

รูปแบบก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับบนแนวถนนบางนา-ตราด ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.)ได้อนุมัติให้เข้าใช้พื้นที่แล้ว สำหรับจุดที่ตั้งสถานี เริ่มจาก “สถานีบางนา” อยู่ใกล้สี่แยกบางนามีสกายวอล์กเดินเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสฝั่งอาคารไบเทค ระยะทางประมาณ 550 เมตร

“สถานีประภามนตรี” อยู่ใกล้โรงเรียนนานาชาติเบิร์คลีย์และเยื้องกับโรงเรียนประภามนตรี “สถานีบางนา-ตราด 17” อยู่ปากซอยบางนา-ตราด 17 และยังเป็นซอยที่เชื่อมไปยังอุดมสุข 42

“สถานีบางนา-ตราด 25” ใกล้ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีและเซ็นทรัลบางนา “สถานีวัดศรีเอี่ยม” จะสร้างคร่อมทางแยกต่างระดับวัดศรีเอี่ยม และรองรับกับสายสีเหลือง “สถานีเปรมฤทัย” อยู่ตรงข้ามกับอาคารเนชั่น

“สถานีบางนา-กม.6” อยู่บริเวณกม.6 “สถานีบางแก้ว”อยู่ตรงด่านบางแก้ว เลยไปเป็น “สถานีกาญจนาภิเษก” อยู่ตรงข้ามกับเมกะบางนา “สถานีวัดสลุด” อยู่เยื้องกับซอยวัดสลุดกับห้างบุญถาวร “สถานีกิ่งแก้ว” อยู่หน้าตลาดกิ่งแก้ว

ปิดท้ายสถานีสุดท้ายของเฟสแรก “สถานีธนาซิตี้” อยู่หน้าหมู่บ้านธนาซิตี้ จะอยู่ใกล้กับอาคารโรงจอดและซ่อมบำรุง(เดโป้) ที่จะขอใช้พื้นที่ว่าง 29 ไร่

ด้านหน้าโครงการธนาซิตี้ก่อสร้าง สำหรับ 2 สถานีที่จะสร้างในอนาคตมี “สถานีมหาวิทยาลัยเกริก” และ “สถานีสุวรรณภูมิใต้” อยู่ภายในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิส่วนด้านใต้

ส่วนระยะเวลาก่อสร้างเนื่องจากไม่มีการเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จใน 3 ปี นับจากเริ่มตอกเข็ม

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษา ในปีแรกเปิดบริการจะมีปริมาณผู้โดยสาร 42,720 เที่ยวคนต่อวัน ขณะที่อัตราค่าโดยสารเก็บตามระยะทาง เริ่มต้น 12 บาท และเก็บเพิ่มกิโลเมตรละ 2 บาท

แต่เพื่อเป็นการจูงใจให้คนมาใช้บริการมากขึ้น ทางที่ปรึกษามีทางเลือกเป็นออปชั่นเสริมให้ กทม.พิจารณา คิดค่าโดยสารราคาเดียวในอัตรา 20 บาทตลอดสาย

ถึงจะยังไม่ได้ฤกษ์ตอกเข็มที่แน่นอน แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายนี้เป็นที่เฝ้ารอของภาคเอกชนที่เข้าไปลงทุนในย่านบางนา

ไม่ว่าตระกูลอัมพุชที่จะลงทุนศูนย์การค้าขนาดยักษ์ “แบงค็อก มอลล์” รวมถึง “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งก็สนใจไม่น้อย และบันทึกโครงการนี้ไว้ในบัญชีที่เจ้าพ่อบีทีเอสจะร่วมประมูลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดธุรกิจทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ตอนนี้ต่อขยายไปถึงสมุทรปราการและพลิกฟื้นที่ดินย่านบางนายังเหลืออยู่ในมืออีกหลาย 100 ไร่ให้คึกคัก

 

ตอนนี้ทุกอย่างพร้อม รอแค่ “กทม.” กดปุ่มโครงการเท่านั้นเอง

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เราหามาเสริฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก …