รฟม. งัดสารพัดวิธี ดึงคนใช้บริการ รถไฟฟ้าสายสีม่วง หลังผู้โดยสารหลุดเป้า จ้างเหมารถเมล์ ขสมก.-รถตู้-รถไมโครบัส วิ่งฟีดเดอร์ส่งฟรีถึงสถานี ป้อนคนเข้าระบบ ดีเดย์ 12 ส.ค.นี้ เปิดตัวพร้อมเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานี “เตาปูน-บางซื่อ” เตรียมเปิดประมูลพัฒนาเชิงพาณิชย์ เครือ ช.การช่างสนแจม ด้านการรถไฟฯหวั่นซ้ำรอย ปรับเป้าสายสีแดง “บางซื่อ-รังสิต” จาก 2.7 แสนเที่ยวคน/วันเหลือ 1.4 แสนเที่ยวคน/วัน ผุด 7 สกายวอล์กเชื่อมวิภาวดี
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดหาข้อสรุปจัดทำระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางมายังสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 16 สถานี ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ผุดฟีดเดอร์รับส่งฟรี
“แนวทาง รฟม.จะจ้างเหมาบริการรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ ขสมก. รถตู้ รถไมโครบัสวิ่งรับส่งผู้โดยสารมายังสถานีรถไฟฟ้า โดยไม่เก็บค่าโดยสาร ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเส้นทางที่จะวิ่งให้บริการ เช่น วิเคราะห์ผู้โดยสาร ความหนาแน่นของชุมชน เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่าจะมีประมาณ 10-15 เส้นทาง และเป็นเส้นทางใหม่ที่ไม่วิ่งทับซ้อนกับเส้นทางเดิม จะมี 3 เส้นทางหลัก คือ วิ่งจากไทรน้อย-สถานีคลองบางไผ่ จากศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะมาที่ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี และจากตลิ่งชันไปถึงสามแยกบางใหญ่”
รักษาการผู้ว่าการ รฟม.กล่าวอีกว่า หลังได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ตามแผนที่กำหนด ตั้งเป้าจะเปิดให้บริการวันที่ 12 ส.ค. 2560 พร้อมกับการเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานี ระหว่างสถานีเตาปูนของสายสีม่วงกับสถานีบางซื่อของสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง)
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ออกบัตรโดยสารหลากหลาย
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนส่งเสริมการตลาดเพื่อเป็นการจูงใจให้คนหันมาใช้บริการสายสีม่วงมากขึ้นเช่น จัดโปรโมชั่นด้านราคา รวมถึงออกบัตรโดยสารหลากหลายประเภท เช่น บัตรโดยสารประเภทรายเดือน รวมถึงบัตรโดยสารพิเศษที่จะร่วมกับผู้ประกอบการที่อยู่ในแนวเส้นทาง เป็นต้น จากปัจจุบันที่ลดค่าโดยสารเหลือ 15 บาทตลอดสายในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี พบว่ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จากเดิมในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน เป็น 1.8-2 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน
คาดคนเพิ่มทะลุ 5 หมื่น
“ตอนนี้ต้องหาทุกวิธีเพื่อบูทคนให้มาใช้ให้มากที่สุด ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารของสายสีม่วงหลังเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณกว่า 2-3 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน ยังต่ำจากเป้าที่ตั้งไว้ 7 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน คาดว่าในเดือน ส.ค.นี้หลังมีการเชื่อมต่อ 1 สถานี จัดระบบฟีดเดอร์และจัดกิจกรรมทางด้านการตลาดแล้ว คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน” นายธีรพันธ์กล่าวและว่า
ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้ง 16 สถานี ขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษารายละเอียดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556
ช.การช่างเล็งเชิงพาณิชย์สถานี
ด้านนายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) บริษัทลูก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ช.การช่าง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเข้าร่วมประมูลพัฒนาพื้นที่สถานีของสายสีม่วงทั้งเชิงพาณิชย์และโฆษณา ระยะทาง 23 กม.จำนวน 16 สถานี ได้แก่ สถานีเตาปูน บางซ่อน วงศ์สว่าง แยกติวานนท์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ราชการนนทบุรี ศรีพรสวรรค์ แยกนนทบุรี 1 สะพานพระนั่งเกล้า ไทรม้า ท่าอิฐ บางรักใหญ่ บางพลู สามแยกบางใหญ่ ตลาดบางใหญ่ และคลองบางไผ่
ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ รฟม. ออกประกาศร่างทีโออาร์โครงการ ทั้งนี้บริษัทได้ศึกษาพื้นที่ไว้หมดแล้วว่าทั้ง 16 สถานีจะสามารถพัฒนารูปแบบไหน โดยแบ่งการพัฒนาเป็นเฟสซึ่งเฟสแรกคาดว่าจะลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท เช่น สถานีเตาปูน เป็นจุดเชื่อมกับสีม่วงและสีน้ำเงิน และสถานีตลาดบางใหญ่ใกล้กับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต เพราะทำเลมีความเหมาะสม สามารถพัฒนาได้ทันที เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางและมีผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก ส่วนที่เหลือจะทยอยดำเนินการ เนื่องจากต้องรอปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการ
รถไฟรื้อผู้โดยสารสายสีแดง
ด้านแหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เปิดเผยว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต จะมีการสร้างสกายวอล์กหรือทางเดินเชื่อมเข้ากับสถานี 7 แห่ง ได้แก่ สถานีจตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ และดอนเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถเข้ามาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงได้สะดวกขึ้น
“สกายวอล์กที่จะสร้างนี้มีความกว้างประมาณ2-3 เมตร จะสร้างยกข้ามถนนวิภาวดีและเชื่อมเข้ากับสถานีเพื่อให้ผู้โดยสารเข้าถึงสถานีได้ง่าย จะทำให้คนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หลังรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดบริการและผู้โดยสารไม่เป็นตามที่ประมาณการไว้นั้น ล่าสุด ร.ฟ.ท.ได้จ้างศศินทร์ ทบทวนประมาณการผู้โดยสารของสายสีแดงด้วย เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับระหว่างเขตกรุงเทพฯ กับปริมณฑลเหมือนกัน ล่าสุดได้ปรับเป้าจากเดิมในผลการศึกษาระบุไว้ในปีที่เปิดบริการจะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 272,500 เที่ยวคนต่อวัน ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนเที่ยวคนต่อวัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
ต้องการซื้อ-เช่า !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่
ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย