เชื่อว่าหลายท่านที่เลือกซื้อบ้านหรือสร้างบ้านเอง มักจะไม่ได้ให้ความใส่ใจกับ ระบบไฟฟ้า ภายในบ้านมากนัก โดยเฉพาะขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า ที่เลือกจะใช้สะดวกที่สุด และราคาถูกที่สุด แต่สำหรับบ้านบางหลังที่เป็นบ้านขนาดใหญ่ มีการเรียกใช้ไฟเป็นจำนวนมาก การเลือกใช้แบบขอไปทีอาจทำให้คุณเจ็บตัวและปวดหัวในภายหลังได้ วันนี้เราจะมาแนะนำระบบไฟภายในบ้านที่เหมาะกับความต้องการของครอบครัวของคุณมากที่สุด
ข้อแตกต่างระหว่าง ระบบไฟฟ้า 1 เฟส และ 3 เฟส
ปกติแล้วแรงดันไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยจะอยู่ที่ 220V เป็นมาตรฐาน สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยทั่วไป
- ระบบไฟฟ้า 1 เฟส 2 สาย 220
เป็นระบบไฟฟ้าทั่วไปที่จะเห็นได้ตามบ้านเรือน โดยจะเป็นระบบไฟฟ้าที่มิเตอร์มีสายไฟจำนวน 2 เส้น เส้นที่มีไฟ คือสายไลน์ หรือ สาย L ส่วนอีกเส้นนึงที่ไม่มีไฟเรียกว่าสายนิวนิวทรอล หรือสายศูนย์ ซึ่งสายที่มีไฟจะมีแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 220V ตามมาตรฐานแรงดันไฟฟ้าของประเทศไทย ข้อดีคือ ขั้นตอนใรการติดตั้งง่าย และค่าใช้จ่ายในการติดตั้งราคาไม่แพง
- ระบบไฟฟ้า 3 เฟส 4 สาย 220/380
เป็นระบบไฟฟ้าที่จะเห็นได้บ่อยในอาคารพาณิชย์ โรงงาน และบ้านขนาดใหญ่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆหลายตัว โดยระบบไฟประเภทนี้ที่มิเตอร์จะมีสายไฟ 4 เส้น เป็นสายไลน์จำนวน 3 เส้น และสายนิวทรอล 1 เส้น โดยแรงดันไฟฟ้าระหว่างสายไลน์ด้วยกันอยู่ที่ 380V และระหว่างสายไลน์เส้นใดเส้นหนึ่งกับสายนิวทรอล จะมีแรงดันอยู่ที่ 220v ซึ่งระบบไฟฟ้าแบบนี้หากนำไปใช้กับบ้านจะสามารถแบ่งส่วนการใช้งานได้ โดยเราจะแบ่งไฟฟ้า 3 เฟส ออกเป็น ไฟฟ้า 1 เฟส จำนวน 3 ชุด แล้วกระจายไปตามจุดต่างๆที่อุปกรณ์ไฟฟ้าติดตั้ง ช่วยป้องกันการโอเวอร์โหลดของเฟสใดเฟสหนึ่งได้
โดยปกติขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าที่จะขอติดตั้งได้จะมีขนาด 5(15) , 15(45) และ30(100) ตัวเลขที่อยู่ด้านซ้ายนอกวงเล็บหมายถึงกระแส ไฟฟ้าปกติสำหรับการใช้งานของระบบไฟฟ้าขนาดนั้นๆ ส่วนตัวเลขด้านขวาที่อยู่ภายในวงเล็บ หมายถึงกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่ระบบไฟฟ้าสามารถทนได้ ซึ่งถ้าจะบอกว่าโครงการบ้านหลายๆหลังมักให้มาเป็นไฟฟ้าเฟสเดียว และให้มิเตอร์ ขนาด 5(15) และ 15(45) ซะเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ไม่ยุ่งยากและราคาไม่ได้สูงมาก เพราะไฟฟ้า 3 เฟส นั้นมีราคาที่สูงมาก โดยราคาการขอติดตั้งมิเตอร์ใหม่ มีดังนี้
ราคาติดตั้งมิเตอร์ใหม่ |
|
5(15) แอมป์ 1 เฟส 2 สาย | 728.00 บาท |
15(45) แอมป์ 1 เฟส 2 สาย | 4,621.50 บาท |
30(100) แอมป์ 1 เฟส 2 สาย | 12,383.00 บาท |
15(45) แอมป์ 3 เฟส 4 สาย | 16,004.50 บาท |
30(100) แอมป์ 3 เฟส 4 สาย | 38,754.00 บาท |
นอกจากนี้ ยังมีการขอติดตั้งมิเตอร์แบบชั่วคราว โดยการขอจะเป็นการขอเพื่อการใช้งานระหว่างก่อสร้าง ค่าขอและราคาค่าไฟต่อหน่วยแพงกว่า มิเตอร์แบบถาวรเป็นอย่างมาก การขอมิเตอร์ชั่วคราวต้องเตรียมสายไฟฟ้าและคัทเอ้าท์หรือเบรกเกอร์ตามขนาดมิเตอร์มาในวันชำระเงินด้วย โดยราคาขอติดตั้งมิเตอร์แบบชั่วคราวมีดังนี้
ราคาติดตั้งมิเตอร์ชั่วคราว |
|
15(45) แอมป์ 1 เฟส 2 สาย | 10,802.50 บาท |
30(100) แอมป์ 1 เฟส 2 สาย | 26,605.00 บาท |
15(45) แอมป์ 3 เฟส 4 สาย | 32,407.50 บาท |
30(100) แอมป์ 3 เฟส 4 สาย | 79,815.00 บาท |
หลักฐานสำหรับการขอติดตั้งมิเตอร์
สำหรับการเตรียมหลักฐานการขอติดตั้งมิเตอร์ มีดังนี้
การขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งการใช้ไฟฟ้า
- สำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สัญญาซื้อขาย (กรณีซื้อขายบ้าน)
- ใบเสร็จค่าไฟฟ้าข้างเคียงของเสาที่จะติดตั้งมิเตอร์ (ถ้ามี)
การขอติดตั้งมิเตอร์ชั่วคราว(ใช้ในการก่อสร้าง, ปรับปรุงบ้าน)
- สำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาใบอนุญาตก่อสร้าง (ถ้ายังไม่ได้ให้ถ่ายใบคำขอมาแทน)
- โฉนดที่ดินสถานที่ขอใช้ไฟ
- หนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท (กรณีผู้ขอไม่มาดำเนินการ)
- สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
ข้อมูลจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
เช่าบ้าน เกินระยะเวลาจดทะเบียนสัญญาเช่า 3 ปี จะเป็นอะไรไหม?
ทะเบียนบ้าน จะขอต้องทำยังไง? กับขั้นตอนในการติดต่อ และเอกสารที่ต้องใช้