คลังอัด 4 ก๊อก 2 ลุ้นกระตุก ศก.ปลายปี หลังส่งออกทรุดหนัก ลุย ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 แจก 1,000 บาท แคชแบ็ก รับสิทธิ์ 3 ล้านราย ดีเดย์ 24 ตุลาคมนี้ ค้าปลีกชี้ข้อจำกัดใช้เงินใน 14 วัน ทำให้อานิสงส์ไปไม่ถึงท่องเที่ยว “เสี่ยบุณยสิทธิ์” หนุนรัฐอุ้มผู้มีรายได้น้อย วอนแบงก์ชาติดูแลค่าบาท
ชิมช้อปใช้ รัฐอันงบเพิ่ม แจกมากกว่าเดิม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศไทยยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศและปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2”
- มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจาก 2% เหลือ 0.01%, ลดค่าจดทะเบียนการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ตั้งแต่มีประกาศมหาดไทยถึง 24 ธันวาคม 2563
- มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ช่วง 3 ปีแรก สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่22 ตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 วงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,000 ล้านบาท และ
- มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562ไปพลางก่อน (front load)
ลุย “ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2” ต่อ
รมว.คลังเปิดเผยว่า “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 2 เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดย ครม.ได้อนุมัติงบฯเพิ่มเติม
สำหรับชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยงบประมาณจากชิม ช้อป ใช้ เฟสแรก 1.9 หมื่นล้านบาทยังใช้ไม่หมด จึงจะนำงบฯของเฟสแรกมาใช้รวมกับเฟส 2 ด้วย
“เฟสแรก ขณะนี้มีการใช้จ่ายถึง 9 พันล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อการจับจ่ายของประชาชน และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 3% หรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่รัฐบาลก็ได้ทำกันอย่างเต็มที่แล้ว”
สำหรับรูปแบบชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 กำหนดกลุ่มเป้าหมาย 3 ล้านราย โดยให้วงเงิน 1,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 1 และเงินชดเชย 15% ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท จากเงินของประชาชนผ่านกระเป๋า 2 (เงินชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท) เช่นเดียวกับเฟสแรก และได้เพิ่มสิทธิเงินชดเชยเป็น 20% ของยอดใช้จ่ายส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท(เงินชดเชยไม่เกิน 4,000 บาท) ซึ่งสิทธินี้จะขยายให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ 10 ล้านคนแรกที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ด้วย
นายอุตตมกล่าวว่า การใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 2 สามารถเติมเงินได้ง่ายและสะดวกขึ้นด้วยการสแกน QR code ของทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลัก ผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคารต่าง ๆ และยังสามารถเติมเงินเข้า g-Wallet 2 ผ่านเครื่อง ATM ของ 5 ธนาคารใหญ่ด้วย และเฟส 2 ได้ปรับเวลาเริ่มลงทะเบียนใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 500,000 ราย รอบแรกเริ่มลงทะเบียนเวลา 06.00 น. และรอบที่ 2 เริ่มลงทะเบียนเวลา 18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียน ซึ่งจะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.เป็นต้นไป วันละไม่เกิน 1 ล้านคน โดยเฟส 2 นี้ ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 และร้านค้าสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 31 ธ.ค. 2562 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเงื่อนไขการใช้เงินในกระเป๋าที่ 1 ภายใน 14 วันเช่นเดิม
สมคิดชู “บิ๊กดาต้า” รัฐ-เอกชน
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างโรดโชว์ที่มณฑลกวางตุ้งว่า โครงการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ยังจำเป็นต้องแจกเงิน 1 พันบาท ให้กับผู้ลงทะเบียน เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น และที่ผ่านมามองว่าประชาชนใช้จ่ายเงินคล่องมากขึ้น โครงการชิม ช้อป ใช้ เป็นวิธีการที่ได้ผล เพราะดึงดูดให้ประชาชนผู้ลงทะเบียนออกไปใช้จ่ายในต่างจังหวัดมากขึ้น และยังดึงดูดให้ร้านค้ารายย่อย รายใหญ่ รายใหม่นับแสนรายเข้ามาร่วมโครงการ รัฐบาลจึงต้องเร่งรัดพัฒนาระบบ big data เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับหลายหน่วยงานของรัฐ
สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายน แม้ติดลบ 1.3% ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีสำหรับประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
เสี่ยสหพัฒน์จี้ ธปท.ดูแลค่าบาท
ด้านนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ที่ร่วมเดินทางไปกับคณะรัฐบาลไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่เหมือนกับที่หลายฝ่ายกังวล เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็ง และการชะลอตัวในลักษณะดังกล่าวเป็นมานานหลายปี สิ่งที่หลายฝ่ายกังวล คือ กำลังซื้อของรายย่อยที่ขาดหายไป จึงต้องเติมกำลังซื้อในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น ชิม ช้อป ใช้ เพื่อให้ภาคเกษตร ร้านค้ารายย่อย วิสาหกิจชุมชน มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น
“สิ่งสำคัญ ต้องการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้เหมาะสม ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลดีต่อการลงทุน นำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร เข้ามาขยายการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างหลักของประเทศ ในอีกมุมหนึ่ง การดูแลส่งออก ด้วยการให้เงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ดูแลสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้เกษตรกร ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแล”
นายบุณยสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท.ให้ความสำคัญกับการปรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยสอดคล้องกับแนวโน้มของเฟด ทำให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์จับทิศทางนโยบายการเงินของไทยได้ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรที่เป็นรายย่อย ขณะที่หลายประเทศทั้งพัฒนาแล้ว ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินช่วยดูแลเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงทั่วโลกประสบปัญหา จึงอยากให้ ธปท.พิจารณาปัจจัยดังกล่าว เพื่อดูแลเงินบาทอ่อนค่าลงดูแลภาคเกษตร
ท่องเที่ยวลุ้นอานิสงส์เฟส 2
นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า สำหรับในภาคธุรกิจท่องเที่ยว มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 นี้น่าจะส่งแรงบวกให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการให้ส่วนลดที่เป็นแคชแบ็กเพิ่มเป็น 20% และได้ต่อเวลาโครงการครอบคลุมช่วงไฮซีซั่นท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังคาดหวังว่า นักท่องเที่ยวที่ได้รับสิทธิ์ทั้ง 13 ล้านคน (รวมทั้ง 2 เฟส) เกิดการเดินทางข้ามจังหวัดในระยะทางที่ไกลขึ้น และกระจายตัวไปในเมืองรองมากขึ้น ที่สำคัญ หากผู้ได้รับสิทธิ์นำไปใช้ร่วมกับแคมเปญร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย และแคมเปญเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน-31 ธันวาคม 2562 จะยิ่งได้รับความคุ้มค่า รวมถึงกล้าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในส่วนของการกระตุ้นการท่องเที่ยวของมาตรการชิม ช้อป ใช้ ระยะที่ 2 โครงการได้ประสานเครือโรงแรมขนาดใหญ่หลายเครือ อาทิ เซ็นทารา ดุสิตธานี เอราวัณ อนันตรา ฯลฯ เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม นอกจากนี้ กรุงไทยยังประสานงานกับ ททท. ร่วมจูงใจผู้ให้บริการทางด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะบริษัททัวร์และบริษัทรถเช่าให้เข้ามาร่วมร้านค้าโครงการมากเพิ่มขึ้นด้วย
ค้าปลีกเผย “ดีกว่าไม่มี”
นายวรวุฒิ อุ่นใจ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวว่า สำหรับมาตรการชิม ช็อป ใช้ เฟส 2 จะมีอิมแพ็กต์ที่ใกล้เคียงกับเฟส 1 หรือไม่ต่างจากเดิมมากนัก เนื่องจากเป็นโครงการระยะสั้นที่อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ แล้วหมุนรอบเดียวจบ ต่างจากโครงการระยะยาว เช่น การปรับโครงสร้างภาษี ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินในระบบหมุนเวียนได้หลายรอบกว่า อย่างไรก็ตาม การออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ก็ต้องยอมรับว่า ดีกว่าไม่มี เพราะเศรษฐกิจก็จะคึกคักขึ้น ตามเม็ดเงินที่ใส่เข้าไป
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟสแรก จำกัดเวลาใช้เงินเพียง 14 วัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลว่าจะใช้เงินไม่ทัน จึงไม่ได้นำไปใช้กับการท่องเที่ยวซึ่งต้องวางแผน จึงแห่มาใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแทน ดังนั้น หากเฟส 2 ไม่ปรับระยะเวลาการใช้เงินให้นานขึ้น มองว่าการใช้เงินของผู้บริโภคก็จะนำไปใช้แบบเดิม และไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการตลาดอื่น ๆ ตามมา
ขณะที่กระเป๋าที่ 2 ที่จะได้เงินคืน 15-20% นั้น น่าจะตอบโจทย์กลุ่มคนที่เป็นร้านค้ารายย่อยมากกว่า เช่น ต้องซื้อของเข้าร้านทีละ 3-5 หมื่น ก็ได้เงินคืนกลับมา 4.5-8.5 พันบาท
ที่มา prachachat.net
รัฐสั่ง ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองบ้านเหลือ 0.01%
รัฐอนุมัติ บ้านใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้กู้ดอกเบี้ยคงที่ 2.50% ต่อปี 3 ปีแรก เริ่ม 24 ต.ค.นี้