ลูกจ้างได้เฮรับปีใหม่ “หม่อมเต่า” ยันบอร์ดไตรภาคีเคาะบัญชีอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำ รอบใหม่ 20 พ.ย.นี้ หลังผ่านอนุกรรมการกลั่นกรองไฟเขียวครบทั้ง 77 จังหวัด รื้อสูตรคำนวณค่าแรงใช้ทุกปัจจัยประกอบการพิจารณา พร้อมเช็กสถิติย้อนหลัง 30 ปี ยึดหลักวิน-วิน ทั้งลูกจ้าง นายจ้างอยู่ได้ ไม่ปรับขึ้นก้าวกระโดด
รัฐเคาะค่าจ้างขั้นต่ำ 20 พ.ย. นี้ เชื่อ ลูกจ้าง-นายจ้าง วินวิน
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนเศษที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามารับผิดชอบดูแลกระทรวงแรงงาน และขับเคลื่อนนโยบายทางด้านแรงงานทั้งระบบ มีภารกิจสำคัญหลากหลายด้านอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาแนวทางปรับโครงสร้างกระทรวงแรงงานให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และพัฒนาบุคลากรภาคแรงงานสนับสนุนการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะเดียวกันได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ชะลอประกาศใช้บัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนด้วย
20 พ.ย.เคาะค่าจ้างขั้นต่ำ
ล่าสุด อัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดได้ผ่านขั้นตอนการเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากคณะอนุกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองได้พิจารณาเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะนำบัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่บรรจุเข้าวาระประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้าง วันที่ 20 พ.ย.นี้ หากที่ประชุมมีมติเห็นชอบอัตราค่าจ้างใหม่ที่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศบังคับใช้ทันที และมั่นใจว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่จะสามารถประกาศใช้ได้ทันภายในปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกจ้างและผู้ใช้แรงงาน
รื้อใหม่สูตรคิดค่าแรง
ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาอย่างหนึ่งของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มาจากการพิจารณาอัตราตัวเลขซึ่งไม่ได้เกิดจากการศึกษาข้อมูล บริบทปัจจัยต่าง ๆ มีเพียงแต่ให้อนุกรรมการจังหวัดประชุมร่วมกันเพื่อเสนอตัวเลข แล้วส่งมาให้คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการในการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจะส่งตัวเลขให้กับบอร์ดค่าจ้างกลางพิจารณา และการพิจารณาในขั้นตอนนี้จะเป็นการพูดคุย ถกเถียงหาข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ หรือหากพิจารณาไม่ได้ก็จะกำหนดให้ประชุมกันใหม่ จนกว่าจะเป็นที่สิ้นสุด
“จากปัญหาเหล่านี้ผมจึงได้ให้มีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ว่าแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ควรจะเป็น อันหนึ่งที่ต้องถามคือ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นและลงเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยส่วนบุคคล (per capita income) ตรงนี้จะทำให้เห็นและเข้าใจตัวเลขที่จะปรับขึ้นว่าควรจะเป็นอย่างไร จากเดิมจะใช้ความรู้สึกในการตกลง หรือเจรจาต่อรอง และมีข้อมูลพื้นฐานเชิงวิชาการรองรับเท่านั้นเอง”
เช็กตัวเลขย้อนหลัง 30 ปี
และจากที่ได้ย้อนดูสถิติข้อมูลตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำลดจาก 0.5-0.6 ของรายได้เฉลี่ยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (gross national product-GNP) เป็น 0.4-0.5 หลังจากนั้นได้นำตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำและรายได้จีเอ็นพีของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ บูรไน มาคำนวณ พบว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเทียบได้จากรายได้เฉลี่ยส่วนบุคคลที่มีเพิ่มสูงขึ้น จนถึงระดับหนึ่งอัตราการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเริ่มขึ้นช้า เพราะคนส่วนใหญ่จะอยู่ด้วยอัตราค่าจ้างที่ดี ผู้ที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจริง ๆ จะน้อยลง และพบว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำได้ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีต่างชาติเข้ามาทำงาน ซึ่งอัตราค่าจ้างของประเทศเขาต่ำกว่า และเมื่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปถึงระดับหนึ่งจะทำให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานไม่ได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าวันนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง หรืออยู่ตรงกลางของเคิร์ฟค่าเฉลี่ยของตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำและรายได้จีเอ็นพี
ชี้ไม่ปรับขึ้นก้าวกระโดด
รมว.แรงงานกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันได้นำตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำตลอดระยะเวลา 30 ปีที่มีการปรับขึ้น มาวิเคราะห์ระดับค่าจ้างหน่วยทั่วไป พบว่า 3 ปีก่อนหน้าที่จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท อัตราค่าจ้างทั่วไปของประชาชนสูงสุดอยู่ที่ 90,000 บาทต่อปี และหลังจากที่ปรับขึ้นเป็น 300 แล้ว อีก 2 ปีต่อมาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงจะขยับใหม่ และในตอนนั้นที่ทำได้ เพราะอัตราของไทยอยู่ต่ำกว่าเคิร์ฟค่าเฉลี่ย ทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก
วันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ควรจะเป็นแล้ว และถ้าจะให้ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดอีกครั้งหนึ่งอาจมีปัญหา เพราะถ้าจะปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดก็ต้องเป็นไปตามเคิร์ฟค่าเฉลี่ยรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของจังหวัด บวกด้วยราคาของจังหวัด
ชูหลัก “ลูกจ้าง-นายจ้าง” วินวิน
ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่าการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ ยึดหลักการอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตได้ตามสมควร ที่สำคัญต้องไม่เกิดผลกระทบต่อการจ้างงาน เกิดการเลิกจ้าง ที่จะนำมาซึ่งปัญหาการว่างงาน นอกจากนี้ได้นำอีกหลายปัจจัยมาพิจารณาประกอบกัน อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ขอระบุตัวเลขอัตราค่าจ้างที่จะปรับขึ้นใหม่ในรอบนี้ แต่ให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่ามีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบคอบในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ชุดที่ 20 (บอร์ดค่าจ้าง) ที่มีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดค่าจ้างกลางมีมติให้นำตัวเลขที่คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 2-10 บาท/วันช่วงก่อนหน้านี้มาวิเคราะห์ ทบทวน และหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ตัวเลขการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งใหม่ที่ชัดเจน และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ค่าครองชีพปัจจุบัน โดยให้ดำเนินการภายใต้กรอบระยะเวลา 1-2 เดือน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
อนุมัติแล้ว รัฐพร้อมจ่าย… ค่าเวนคืน มอเตอร์เวย์ เมืองกาญจน์-นนทบุรี 1.2 หมื่นล้าน
ทำความเข้าใจ ค่าโอนบ้าน และคอนโด สรุปต้องจ่ายเท่าไร