DotProperty.co.th

4 ปี รัฐทุ่มงบ 8-9 แสนล้าน  ลุยต่อโปรเจ็กต์บก-ราง-น้ำ-อากาศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงทุนของคมนาคม 4 ปีที่ผ่านมา ปี 2558-2561 เป็นการดำเนินการตามนโยบายของ รัฐ โดยเน้นในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเชื่อมต่อเป็นหลัก เงินลงทุนที่ใช้ไปอยู่ที่ 800,000-900,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านล้านบาท จะอยู่ใน 4 ปีหลัง ปี 2562-2565 ตามแผน

รัฐ ทุ่มงบกว่า 8-9 แสนล้าน เพื่อระบบการเชื่อต่อ

“ที่ผ่านมามีโครงการที่รอการประมูล 10% แต่ละโครงการมีระยะพิจารณาต่างกัน แต่เมื่อเราทราบขั้นตอนการพิจารณาเบื้องต้น ก็มั่นใจว่าการจัดซื้อจัดจ้างจะโปร่งใส ”

ในช่วงปี 2561-2562 จะมีโครงการที่จะกำลังเร่งผลักดันหลายโครงการ แบ่งเป็นโครงการทางบก ได้แก่ โครงการทางด่วนสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนตะวันตก ระยะทาง 17 กม. เงินลงทุน 31,244 ล้านบาท อยู่ระหว่างการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund)

และจะทยอยขยายข่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจรในทั่วประเทศ รวมถึงปรับปรุงแนวเส้นทางเดิมและเพิ่มเติมแนวเส้นทางใหม่ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

 

ด้านโครงการทางราง ความคืบหน้าเป็นไปตามที่วางแผนไว้ โครงการรถไฟฟ้าในเมือง 10 สาย จะมีการทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ที่ยังค้างอยู่ 9 โครงการ ระยะทาง 2,217 กม. มูลค่าโครงการรวม 3.98 แสนล้านบาท จะเริ่มสร้างในปี 2562 เป็นต้นไป

ซึ่งกระทรวงฯ จะเสนอเส้นทางเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสิ้นเดือนก.ค.นี้เป็นสายแรก เนื่องจากมีความพร้อมมากที่สุด ที่้เหลืออีก 8 เส้นทางจะทยอยเสนอเข้า ครม.ให้ครบภายในสิ้นปีนี้

เพื่อการประกวดราคาสามารถเริ่มต้นได้ในช่วงต้นปีหน้า และจะเริ่มก่อสร้างในช่วงกลางปีหน้าต่อไป โดยในอนาคตวางแผนว่า จะเปลี่ยนรถไฟระหว่างเมืองเป็นระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด

ความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท ตอนที่ 2 ปากช่อง – คลองขนานจิต ระยะทาง 11 กม. จะประกวดราคาในไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากที่ประเทศจีนส่งแบบมาให้แล้ว

ด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ตอนที่ 1 กรุงเทพฯ – พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. อยู่ระหว่างเสนอ ครม. เพื่อศึกษาออกแบบในปีหน้ารวมทั้งเพื่อคุยกับญี่ปุ่นให้ร่วมลงทุนด้วย

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปิดการขายซองประมูลไปเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา สรุปผู้มาซื้อซองทั้งสิ้น 31 ราย ตอนนี้เป็นขั้นตอนการยื่นข้อเสนอใช้เวลาประมาณ 4 เดือน น่าจะได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนในปลายปี

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หัวหิน ระยะทาง 211 กม. เงินลงทุน 77,906 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมให้คณะกรรมการ PPP จะเร่งรัดให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้

ด้านโครงการทางอากาศ โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 เงินลงทุน 62,503 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในส่วนการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 เงินลงทุน 20,000 ล้านบาท รอพิจารณาอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขณะที่แผนปรับปรุงสนามบินดอนเมือง เฟส 3 แผนการพัฒนาปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเดิม เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท จะเริ่มปรับปรุงในปี 2562

ขณะที่แผนปรับปรุงสนามบินในต่างจังหวัดที่ดำเนินการโดย กรมท่าอากาศยาน ตอนนี้มี 2 โครงการสำคัญ ไดhแก่ 1. การก่อสร้างลานจอดและระบบไฟฟ้า ภายในสนามบินกระบี่ เงินลงทุน 1,215 ล้านบาท เริ่มดำเนินการแล้ว 2. การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ในสนามบินขอนแก่น เงินลงทุน 2,250 ล้านบาท ก็เริ่มดำเนินการแล้วเช่นกัน ในปีหน้าจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมในสนามบินนครศรีธรรมราช และสนามบินตรัง

นายอาคมกล่าวอีกว่า โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) การบินไทยลงนามเซ็นสัญญากับแอร์บัสไปเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาอยู่ระหว่างศึกษาทำแผนแม่บทโดยกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ

ส่วนความคืบหน้าโครงการทางน้ำ มีท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ขณะนี้รายงาน EIA ผ่านการพิจารณาแล้ว จะผลักดันให้เกิดการประมูลให้ได้สิ้นปีนี้

 

ที่มา prachachat.net