สวัสดีค่ะวันนี้เรากลับมาพบกันอีกครั้ง โดยวันนี้เราขอเอาใจคนที่ไม่ได้ทำงานประจำหรือประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีเงินเดือน แต่กำลังอยากจะมีบ้านสักหลัง แต่ไม่รู้วิธีทำหรืออยากจะศึกษาหาความรู้ วันนี้เรามีคำตอบให้ค่ะ โดยต้องขอขอบคุณ สมาชิกหมายเลข 1100353 สมาชิกจากเว็บไซต์ pantip.com ที่ได้มา รีวิวสร้างบ้าน เป็นไอเดียขั้นตอนการสร้าง บ้านโมเดิร์นสวยๆ หลังนี้ ที่รับรองเลยว่าละเอียดยิบ ๆ เลยทีเดียว
รีวิวสร้างบ้าน ของคนไม่มีเงินเดือน พร้อมเทคนิคที่จะช่วยให้งบก่อสร้างไม่บานปลาย
กระทู้นี้เป็นการแบ่งปันประสบการณ์การปลูกบ้านของผมซึ่งประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีเงินเดือน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่ต้องการมีบ้าน เนื่องจากปัจจุบันบ้านยังไม่แล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ โดยอยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดรอบตัวบ้านและอยู่ระหว่างขั้นตอนการตกแต่งภายใน ดังนั้น ผมจะทยอยลงไปเรื่อยๆ และแบ่งเป็นตอนๆ ไปเพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน กว่าผมจะทยอยลงรีวิวเสร็จ การตกแต่งคงแล้วเสร็จทันกันพอดี หากไม่ถูกใจใครต้องขออภัยด้วยครับ
ขอเอารูปบ้านเรียกแขกก่อนครับ
หลังจากที่ตัดสินใจว่า สมควรจะมีบ้านเป็นของตัวเองได้แล้วนั้น ขั้นตอนแรกผมที่ทำนั้น คือ วางแผนเกี่ยวกับเงินว่า ผมจะใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากผมเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีเงินเดือน ไม่มีหลักฐานะเกี่ยวกับการรับจ่ายเงินแต่อย่างใด
ดังนั้นหากผมต้องการกู้เงิน ผมจะต้องเตรียมหลักฐานแสดงที่มาที่ไปของรายได้ที่ผมได้รับเสียก่อน วิธีการที่ผมใช้คือ เมื่อผมได้รับการว่าจ้างจากใครก็ตาม ผมจะทำสัญญาว่าจ้างหรืออย่างน้อยก็ต้องมีหลักฐานการว่าจ้าง แล้วเวลาที่ผมได้รับเงินค่าว่าจ้างหากได้รับเป็นเงินสดผมก็จะเอาเข้าบัญชีทันทีแล้วค่อยๆ ทยอยกดออกมาใช้แล้วก็มีเก็บเงินไว้บางส่วนไม่กดออกมาใช้จนหมด
โดยหากลูกค้าเป็นพวกบริษัท ผมก็จะให้เขาหักภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายทันที เพื่อจะได้ให้ได้ ภ.ง.ด. 50 ทวิ มาเก็บไว้ ครั้นเมื่อถึงปีภาษีผมก็จะยื่นแบบเสมอๆ ไม่ว่าผมจะมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียหรือไม่ ระหว่างนี้ผมก็ระมัดระวังไม่ให้เสียเครดิต แล้วเวลาใกล้ ๆ จะยื่นกู้ผมก็ได้ทำการปิดสินเชื่อต่างๆ ทั้งหมดเพื่อลดภาระ แต่ไม่ถึงขนาดปิดบัตรเครดิตนะครับ เพียงแต่ในแต่ละเดือนรูดไปเท่าไหร่ก็ชำระทั้งหมดนั่นเอง วิธีการของผมสำหรับการสร้างแหล่งที่มาที่ไปของรายได้มีเท่านี้ครับ
ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขายต่าง ๆ นั้น ก็สามารถใช้วิธีการนี้ได้เช่นเดียวกัน แต่คงต้องเพิ่มพวกใบทะเบียนพาณิชย์ หนังสือสัญญาเช่าร้านค้า หรือหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่จดทะเบียอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไปมาแสดงประกอบด้วย รายละเอียดพวกนี้ลองถามจากธนาคารหรือสถาบันการเงินดูน่าจะได้ข้อมูลที่แน่นกว่านี้ครับ
ระหว่างนี้ผมก็มองหาบ้านจัดสรรพวกบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์แปลงมุมพร้อมอยู่ทั่วไปๆ ในระแวกแถวที่ทำงานและไม่ไกลจากบ้านเก่ามากนัก เนื่องจากผมเห็นว่า สามารถคุมงบประมาณเกี่ยวกับตัวบ้านและที่ดินไม่ให้บานปลายและไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางด้านก่อสร้างมากนัก ตลอดจนได้สังคมรอบๆ บ้านในลักษณะที่เป็นบ้านพักอาศัยเท่านั้น
ยกเว้นเรื่องเพื่อนบ้านนะครับอันนี้ดูยากหน่อย แต่ดูเหมือนว่าหลังจากที่ได้เข้าดูบ้านจัดสรรจากหลายๆ โครงการก็พบว่า บางโครงการที่ผมรับราคาได้ แต่ไม่ถูกใจในเรื่องรายละเอียดของวัสดุก่อสร้างและวิธีการก่อสร้างที่ได้ ครั้นพอเจอโครงการที่ถูกใจ รายละเอียดวัสดุก่อสร้างพอรับได้ ราคานั้นก็สูงไปจนกลัวน่ากลัวว่าจะผ่อนไม่ไหว จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจว่า จะหาซื้อที่ดินเปล่าเพื่อปลูกบ้านเองในงบประมาณ ตลอดจนแบบบ้านและวัสดุก่อสร้างที่เราต้องการ จนในที่สุดผมก็ได้ที่ดินมา 1 แปลง ซึ่งอยู่ติดกับบ้านพ่อแม่ผมเลย แต่ผมก็ต้องแลกกับทำเลรอบ ๆ
บ้านที่อนาคตผมไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรมาอยู่ข้างบ้าน ที่ดินที่ผมได้มานั้น มีเนื้อที่ขนาด 100 ตารางวา หน้ากว้าง 16 เมตร ยาว 25 เมตร ถมดินมาระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบันสูงจากถนนด้านหน้าประมาณ 80 เซนติเมตร มีรั้วปูนเสร็จสรรพแบบนี้
เมื่อได้ที่ดินมาแล้ว ผมก็เริ่มขั้นตอนต่อไป คือ การหาแบบบ้านและผู้รับเหมาควบคู่กันไป เพื่อนำไปใช้ประกอบการยื่นขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน เบื้องต้น ผมก็ดูแบบบ้านในใจไว้คร่าวๆ ว่าอยากได้แบบไหน กี่ชั้น พื้นที่ใช้สอยกี่ตารางเมตร ต้องมีห้องอะไรบ้าง หันหน้าบ้านไปทางไหน
ส่วนตัวผม ณ วินาทีนั้น มีเงินสดเพียงนิดหน่อยแล้วก็ไม่อยากกู้เงินมากนักจึงตั้งใจเพียงแค่จะต่อเติมห้องออกมาจากบ้านของพ่อแม่ที่อยู่ติดกัน โดยมีแค่ห้องนอนกับห้องทำงานอย่างละห้อง พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 100 ตารางเมตรเท่านั้นพอ โดยจะตั้งงบไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาท
แต่ภรรยาบอกว่า คนเราปลูกบ้านได้ไม่กี่ครั้งมาถึงขั้นนี้แล้วทำไมไม่ปลูกสร้างให้พอดีกับขนาดครอบครัวไปเลยเผื่ออนาคตเกิดมีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ผมจึงตัดสินใจกำหนดจำนวนห้องภายในบ้านเป็น 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว อีกอย่างละ 1 ห้อง
เพื่อให้พอดีกับขนาดครอบครัวของผม หลังจากนั้นก็ลองหาแบบบ้านตาม website รับสร้างบ้านต่างๆ web pantip ก็หา โดยเอาจำนวนห้องที่กำหนดเป็นเกณฑ์ในการมองหาแบบแปลนบ้าน แต่ก็ยังพบแบบไม่ถูกใจ จึงตัดสินใจว่าจะให้สถาปนิกออกแบบใหม่ทั้งหมด
ซึ่งการออกแบบใหม่จะมีข้อดีตรงสถาปนิกผู้ออกแบบจะพยายามออกแบบบ้านให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของผู้อยู่อาศัย ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพและทิศทางของที่ดิน มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองไม่เหมือนแบบบ้านโหล และเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างแบบบ้านสำเร็จรูปที่มีการปรับแก้จนถูกใจเราแล้วราคาก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แค่คิดจะเริ่มก็บานแล้ว
ตอนแรกก็ดูตามเว็ป ที่เล็งๆ ไว้ก็ประมาณนี้
แล้วใครล่ะจะมาเป็นสถาปนิกกับผู้รับเหมาให้เรา? คำถามนี้คงอยู่ในใจหลายๆ คน แน่นอนรวมทั้งผมด้วย ระหว่างที่ผมคิดเรื่องแบบบ้านว่าจะเอาแบบไหนนั้น ผมก็ลองมองหาผู้รับเหมาไปด้วย บางคนก็อาจจะให้บริษัทรับสร้างบ้าน สร้างบางคนก็ช่างในรูปบุคคลธรรมดา ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เช่น หากเราใช้บริษัทรับสร้างบ้าน เราก็อาจจะได้ความเชื่อมั่นประมาณนึงว่า เฮ้ย! ถ้าเป็นบริษัทมันก็ดูน่าเชื่อถือมากกว่าบุคคลธรรมดา
แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการทำงานของผม ผมก็เห็นหลายๆ คน ประสบปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานหรือได้บ้านคุณภาพไม่ดีมาหลายรายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวบ้านที่ไม่ได้คุณภาพเอง ช่างทิ้งงาน เวลามีปัญหาต้องซ่อมแซมตามตัวยาก เพราะฉะนั้นในความคิดเห็นส่วนตัวของผมนั้น ผมว่าหากพิจารณาเพียงสถานะความเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดามันไม่ต่างกัน
ขอพิจารณาที่คุณภาพงาน ความรับผิดชอบต่องานเป็นอย่างไร ทิ้งงานหรือไม่ ล่าช้าเกินไปหรือเปล่า ราคา และการบริการหลังการขายเป็นอย่างไรดีกว่า อีกทั้งในแง่ของราคาค่าก่อสร้างนั้น ถ้าใช้ช่างที่เป็นพวกนิติบุคคล เช่น บริษัทต่างๆ คุณโดนแน่ๆ ราคาก่อสร้าง+กำไร(ค่าดำเนินการ)+ภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) แพงกว่าช่างที่เป็นบุคคลธรรมดาแน่นอนอย่างน้อยร้อยละ 7 (อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบัน) อิอิ แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาอาจจะโดนแค่ค่าดำเนินการเท่านั้น
ส่วนผมแรกๆ ก็ดูบริษัทรับสร้างบ้านนี่แหละ ก็เราไม่เคยปลูกสร้างบ้านนี่หว่า เลยไม่ค่อยรู้จักใคร แต่พอเข้าไปดูแล้วยังคงรับไม่ค่อยได้ เนื่องจากวัสดุกับราคาที่ต้องจ่าย และเสียง comment ต่างๆ จากใน social ที่เคยอ่านมา ผมก็เลยลองดูผู้รับเหมาที่เป็นระดับท้องถิ่น
โดยใช้วิธีเวลาขับรถผ่านตามบ้านที่กำลังสร้างอยู่ ผมก็ลองเข้าไปคุยกับผู้รับเหมา และเจ้าของบ้านนั้นดู ก็ได้มา2-3 ราย แต่ยังไม่ค่อยเชื่ออยู่ เนื่องจากยังไม่เคยเห็นประสบการณ์ที่ผ่านๆ มาของผู้รับเหมารายนั้นๆ เห็นแต่ขณะที่สร้างประกอบกับยังไม่ค่อยไว้ใจเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้รับเหมา
จนมีวันหนึ่งใน Facebook ของผมมันก็โผล่ชื่อชื่อผู้รับเหมารายหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นคนแถวๆ ละแวกบ้าน เลยลองแอบเข้าไปส่องผลงานที่ผ่านมาจาก Facebook และถามคนที่รู้จักแล้วจนคิดว่าน่าจะพอใช้ได้เลยให้แม่ไปขอเบอร์โทรศัพท์มาจากคนรู้จัก ตอนแรกก็หวั่นๆ ว่าผู้รับเหมาเจ้านี้จะรับปลูกสร้างบ้านให้หรือเปล่า เพราะดูจากผลงานที่ผ่านมาของผู้รับเหมาเจ้านี้แล้วมีแต่รับสร้างแล้วก็ตกแต่งบ้านราคาหลักสิบล้านขึ้นไปไม่เคยเห็นรับปลูกบ้านหลังเล็กๆ มาก่อนเลย
เหตุที่กังวลนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ผมได้ดูใน website บางที่แล้ว เขาจะมีราคาขั้นต่ำที่รับสร้างด้วย แต่ก็เอาวะ ลองโทรไปคุยสักครั้งไม่เสียหายไร ผลงานเก่าของผู้รับเหมา (ขออนุญาตเจ้าของบ้านและเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ) ประมาณนี้ ไฮโซๆ ทั้งนั้น
เมื่อผู้รับเหมามาดูทีดินและได้พูดคุยกันคร่าวๆ แล้วก็สอบถามความต้องการของผมว่า ผมจะปลูกบ้านกี่ชั้น แบบประมาณไหน งบมีเท่าไหร่ ผมก็บอกแกไปว่า ผมแค่อยากขยายครอบครัวออกไป สร้างเล็กๆ แค่อยากได้ความเป็นส่วนตัวในครอบครัวเราเอง
เพราะฉะนั้น ปลูกเป็นบ้านชั้นเดียวเอา 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ มีห้องทำงานเอาไว้สำหรับหอบงานมาทำที่บ้านบ้าง ไว้ต้อนรับลูกค้าบ้าง แต่มีข้อแม้ว่า ห้องทำงานนั้นต้องแยกออกมาเป็นสัดส่วนจากพื้นที่พักผ่อนส่วนตัว เนื่องจากผมและแฟนเป็นทนายความด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น ลูกค้าของผมนั้นมีหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ หมอ พ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้าน ชาวสวน โจรผู้ร้าย พ่อค้ายาเสพติด คนเสพยา นักการพนัน สารพัด
ดังนั้น แยกพื้นที่ทำงานกับพื้นที่ส่วนตัวกันไว้ก่อนดีกว่า ขนาดพื้นที่ใช้สอยไม่กิน 100 ตารางเมตร งบไม่เกิน 13,000 บาท/ตารางเมตร วัสดุขอกลางๆ ค่อนไปทางดี งบประมาณในการก่อสร้างนี่บอกไปเลยครับไม่ต้องอาย บอกน้อยๆ ไว้ก่อนมันบานปลายออกมาเองครับ แต่ต้องเอาที่พอเป็นไปได้ด้วยนะครับ แหล่งที่มาของเงินที่จะปลูกบ้านนั้น ผมกู้ธนาคารทั้งหมด
โดยทางผู้รับเหมาเห็นว่า ผมยังเป็นเด็ก เงินทองที่เก็บไว้ก็ไม่มาก จึงตกลงกันว่า หากตกลงปลูกบ้าน ทางฝ่ายผู้รับเหมาจะสำรองเงินค่าก่อสร้างไปก่อน เมื่อส่งงวดงานกับทางธนาคารแล้วค่อยจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมา ผมก็ว่าก็ดีจะได้ป้องกันความเสียหายเรื่องผู้รับเหมาทิ้งงาน ความล่าช้าจากอุบัติเหตุทางการเงินของผู้ว่าจ้างไปในตัวด้วย ซึ่งก็ดีสำหรับผู้ว่าจ้าง
หลังจากนั้น ผมก็ให้ทางผู้รับเหมาแนะนำสถาปนิกมาให้ เนื่องจากผมยังหาสถาปนิกไม่ได้ ก็เป็นอันว่า ผมได้ทั้งผู้รับเหมาและสถาปนิกแล้ว
หลังจากที่ให้ทางผู้รับเหมาแนะนำสถาปนิกมาให้ ผมก็จัดการติดต่อไปหาสถาปนิกพูดคุยตกลงเรื่องแบบกันเอง ตอนแรกก็แอบหวั่นใจเรื่องราคาค่าออกแบบ กลัวแพง แต่ก็เกรงใจไม่กล้าถาม แต่ในใจพอเดาๆ ได้บ้างแหละว่า ราคามาตรฐานของชาวบ้านคิดกันยังไงกี่เปอร์เซ็นต์ อันนี้ไม่ดีนะครับ ผมว่าเราควรคุยให้ชัดเจนไปเลย จะได้ตัดสินใจได้ว่าจะเอาแบบสำเร็จหรือให้ช่างเขียนแบบให้ใหม่ สำหรับคนที่งบน้อยมากๆ)
ค่าออกแบบบ้านนี่ ต้องคุยกันให้ดีนะครับว่า คิดยังไง จ่ายกันเมื่อไหร่ ราคาที่จ่ายได้อะไรบ้าง แก้ไขแบบได้กี่ครั้ง แต่ละคนคิดไม่เท่ากันอันนี้ผมไม่รู้ราคาเลยไม่กล้าบอก (บางคนอาจจะมองว่า เฮ้ย!! แค่แบบไม่กี่แผ่นทำไมแพงจังตั้งหลายหมื่น หลายแสน แต่อย่าลืมนะครับว่า กว่าเขาจะส่งแบบให้เราได้นั้น เขาต้องเรียน ต้องฝึกงาน ต้องไปสอบให้ได้ใบอนุญาต ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มา แถมมันมากับความรับผิดชอบต่างๆ
อันนี้แอบเอาความรู้สึกส่วนตัวมารวมด้วย เนื่องจากผมทำงานสายวิชาชีพเหมือนกัน เวลาผมเรียกเงินค่าทำงานผมก็จะรวมค่าใช้จ่าย (พวกค่ารถ ค่าเสี่ยงภัยเดินทาง ค่ากระดาษ ค่าถ่ายเอกสารประกอบ ค่าอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ) + ค่าวิชาชีพ + กำไร เข้าไปด้วย ชาวบ้านพอได้ยินราคาก็ร้อง โอ้โห! อะไรวะเมิงพิมพ์กระดาษมาไม่กี่แผ่นทำไมแพงจัง แหม!!! ถ้าอย่างนั้นพี่ ไปทำเองเลยสิครับมาจ้างผมทำไม จบๆ เรื่องนี้ เดี๋ยวยาวครับ
แบบบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง
หลังจากนั้นทางฝ่ายสถาปนิก ก็ให้ผมลองส่งแบบบ้านที่อยากได้มาให้ดูเรื่อยๆ ผมก็หาในอินเตอร์เน็ตแล้วก็ส่งให้แกไป และนอกจากนี้ผมก็ขอให้แกมาดูที่ดินที่จะสร้างซะเลย เนื่องจากความเชื่อโดยส่วนตัวผมแล้ว เห็นว่าผู้ออกแบบจะออกแบบบ้านได้ตรงกับความต้องการของเรา จะต้องรู้จักตัวเรา และต้องเห็นสภาพที่ดินเสียก่อนที่จะก่อสร้างจริงๆ เสียก่อน เพื่อจะได้ดูภูมิอากาศ ทิศทางลม สภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านที่จะสร้างว่ามันมีอะไรล้อมรอบบ้านเราบ้าง
ปัญหารอบๆ บ้านที่อาจจะมีขึ้นได้ในอนาคต ได้รู้จักตัวตนเจ้าของบ้านว่าเป็นอย่างไร ทำอาชีพไหน ใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งผมว่ามันมีผลต่อลักษณะของบ้านที่จะออกมาด้วย เมื่อสถาปนิกมาดูที่ดินแล้ว ก็มาวัดสอบเขตที่ดินคร่าวๆ สอบถามเราว่าอยากได้แบบไหน สไตล์ยังไง ขนาดพื้นที่ใช้สอยมากน้อยเท่าไหร่ จำนวนห้องนอนกี่ห้อง
ก็ร่ายกันไปแต่ที่ผมขอเน้นๆ คือ ประตูห้องต่างๆ ขอให้ขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานปกตินิดหน่อย จากเดิมขนาดประตูห้องนอนขนาดปกติกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ผมขอก็เป็น 90 เซนติเมตร ประตูห้องน้ำจากปกติกว้าง 70 เซนฯ เป็น 80 เซนฯ เนื่องจากจะเผื่อไว้สำหรับตอนที่มีอายุมากขึ้น เผื่อนั่งรถเข็น และความสูงจากพื้นบ้านถึงท้องฝ้าขอสูง 3.20 เมตร จะได้โล่งๆ โปร่งๆ เนื่องจากมันเป็นชั้นเดียวจะได้ดูโปร่ง โล่ง อากาศจะได้หมุนเวียนได้ดี และขอยกความสูงจากพื้นถนนสูงๆ ไว้ก่อนกลัวน้ำท่วม
หมายเหตุ เรื่องความสูงภายในตัวบ้านเวลาบอกผู้ออกแบบ ต้องพูดให้ชัดเจน เพราะมีการวัดความสูง 2 แบบ คือวัดจากพื้นถึงท้องคานไม่รวมตีฝ้าเพดาน หากรวมแล้วก็จะเตี้ยลงมาอีกนิดหน่อย และแบบวัดจากพื้นถึงท้องฝ้า เวลาออกแบบจริงก็จะเผื่อความสูงของคานขึ้นไปอีก ถ้าไม่ระบุให้ชัดเจนอาจจะได้ความสูงไม่ตรงตามความต้องการก็เป็นได้ครับ
หลังจากนั้น ผมก็ส่งแบบบ้านอ้างอิงไปให้สถาปนิกแล้วประมาณ 2 วัน สถาปนิกก็ส่งแปลนการจัดวางพื้นที่บ้านคร่าวๆ มาให้ดูก่อนว่า วางแปลนห้องต่างๆ แบบนี้ชอบหรือไม่ ก็แก้ๆ กันไปมา จนมาลงตัวที่แบบบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูงจากระดับ +00 อยู่ที่ 1 เมตร (ระดับ +00 นี่อยู่สูงจากถนนอีกประมาณ 80 เซนติเมตรรวมๆ แล้วจากถนนถึงพื้นบ้านก็เกือบๆ 1.80 เมตร) จำนวน 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องทานข้าว ห้องทำงาน และห้องนั่งเล่น อย่างละห้อง พื้นที่ใช้สอยประมาณ 144 ตารางเมตร วางแนวบ้านหันด้านหน้าไปทางบ้านเดิม หันด้านข้างออกถนน เดิมผมกะว่าจะทุบรั้วตรงกลางระหว่างบ้านพ่อแม่กับบ้านผมออก ที่ดินจะได้รวมกันเป็นผืนเดียวกันและดูใหญ่ขึ้นด้วยแบบนี้
แบบแปลนเดิม
เมื่อพึงพอใจกับการจัดวางพื้นที่ใช้สอยแล้ว ขั้นตอนต่อไป สถาปนิกก็เริ่มลงมือออกแบบรูปด้านข้าง ด้านหน้า ด้านหลัง หลังคาบ้าน ระหว่างนี้ ทางผู้รับเหมาก็อาศัยประสบการณ์เข้ามาช่วยผมออกแบบร่วมกับสถาปนิกด้วย
เนื่องจากเห็นว่า ความสวยของบ้านที่ผมส่งไปยังไม่ลงตัว เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้วก็ประเมินราคาค่าก่อสร้าวคร่าวๆ จากพื้นที่ใช้สอยและวัสดุออกมาอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านบาท บานปลายออกมาจากที่ตั้งใจไว้ตอนแรกมากพอสมควร ใช้เวลาไม่นานมาก็ได้แบบ 3D รูปด้านต่างๆ ของบ้านออกมาประมาณนี้
หากมองจากรูปแล้วจะเห็นว่า บริเวณด้านขวามือของบ้าน จะมีแท่นปูนออกมา อันนั้นเป็นบ่อใต้ดินสำหรับไว้เก็บน้ำสำรอง เป็นของเดิมไม่ได้ทุบออกไป พ่อบอกว่าทำมาแพงไม่ยอมให้ทุบก็เลยต้องเอาไว้อย่างนี้ มีหน้าต่างรอบบ้าน และความสูงจากพื้นบ้านยันฝ้า สูง 3.20 เมตร
เนื่องจากต้องการให้สูงโปร่ง อากาศจะได้ถ่ายเทสะดวก ประกอบกับกลัวแสงสว่างน้อย (ข้อเสีย คือ เปลืองหลอดไฟ กับเวลาจะทำตู้ built in ทีราคาจะแพงกว่ามาตรฐานครับ) ส่วนใต้บ้านปล่อยโล่งๆ ไม่ถมดิน และเจาะช่องไว้สำหรับเข้าไปบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าร้อยท่อ กับระบบสุขาภิบาล ที่ซ่อนไว้ใต้บ้าน
หลังจากนั้น สถาปนิกก็ส่งแบบไปยังทีมวิศวกรเพื่อคำนวณโครงสร้าง ระบบสุขาภิบาล จนได้แบบแปลนก่อสร้างอย่างเป็นทางการออกมาสำหรับใช้ขออนุญาตต่อหน่วยงานราชการและประกอบการยื่นขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน รวมระยะเวลาตั้งแต่หาผู้รับเหมามาจนถึงขั้นตอนนี้ผมใช้เวลาไปประมาณ 3 เดือน (ช้าตรงผมแก้แบบจนเละ นี่แหละครับ 555)
แล้วจึงค่อยจ่ายค่าออกแบบกับค่าเขียนแบบให้ทางสถาปนิกกับวิศวกรไปราคาที่ผมจ่ายไปหากเทียบกับความพอใจที่ผมได้รับ เทียบกับราคาค่าออกแบบตามท้องตลาดแล้วถือว่า พอรับได้ครับ
เมื่อได้แบบแปลนที่เป็นรูปเล่มแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีเงินพร้อมก็ไม่สามารถปลูกสร้างได้ทันทีนะครับ ต้องขออนุญาตกับทางราชการคือ สำนักงานเขตหรือเทศบาลที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ก่อนนะครับ
เอกสารประกอบการยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้าง เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบเปลี่ยนชื่อสกุล(ถ้ามี) สำเนาทะเบียนสมรส (เตรียมไว้เถอะไม่ใช้ก็เก็บกลับบ้าน) สำเนาโฉนดที่ดิน กรณีที่ดินไม่ใช่ของผู้ขอแบบ ต้องแนบสำเนาบัตร+ทะเบียนบ้าน+หนังสือยินยอมคู่สมรส, หนังสือสัญญาซื้อขาย หรือสัญญาเช่าที่ดินนั้นๆ ด้วย, แบบแปลน สำเนาบัตรสถาปนิก วิศวกร หนังสือยินยอมให้สร้างบ้านชิดแนวรั้ว
เนื่องจากผมวางแปลนบ้านชิดขอบที่ดินเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เลยต้องให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงเซ็นยินยอมก่อน แล้วไปยื่นที่สำนักงานเขตหรือเทศบาลท้องที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
เบื้องต้น เมื่อผมไปยื่นเอกสาร ณ สำนักงานเทศบาลท้องที่แล้วก็ได้รับคำตอบว่า รอคิวอ่านแบบประมาณ 1 เดือนนะคะ ผมก็ว่า ทำไมนานจังวะ !!!
จึงแจ้งผู้รับเหมาให้ช่วยประสานงานให้ด้วยเพื่อความรวดเร็ว (นี่ก็คือข้อดีอีกอย่างของผู้รับเหมาท้องถิ่น) สุดท้าย ผมใช้เวลาในการขอใบอนุญาตทั้งสิ้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ เสียค่าใช้จ่ายไป 120 บาท เป็นค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต (ส่วนค่าน้ำร้อน น้ำชาด้วย ไม่เสียครับ) หน้าตาใบอนุญาตประมาณนี้
ระหว่างที่รอทางราชการออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ ทางผู้รับเหมาก็ทำ BOQ สำหรับกำหนดปริมาณงานก่อสร้าง กำหนดรายการ ขนาดของวัสดุ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ประกอบการยื่นขอกู้เงินกับสถาบันการเงินอีกด้วยนอกจากนี้ ส่วนในฐานะผู้ว่าจ้างอย่างเราก็ยังจำเป็นต้องรู้และทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ด้วยเพื่อจะได้รู้ว่า ค่าก่อสร้างที่คำนวณออกมานั้น เมื่อเทียบกับวัสดุ ค่าแรง กำไร แล้ว แพงไปหรือไม่อย่างไร
และหากมีปริมาณงานก่อสร้างที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้น เราก็จะได้กำหนดราคาเพิ่มหรือลดได้ถูกต้อง อีกอย่าง และหากภายหลังเรามีปัญหากับผู้รับเหมาก่อสร้างเราก็จะได้ใช้ตัวนี้ในการคิดค่าเสียหายได้อีกด้วย ซึ่งบางคนอาจจะให้ทีมวิศวกร สถาปนิก คำนวณ BOQ เฉพาะปริมาณงาน และวัสดุออกมา แล้วนำไปให้ผู้รับเหมาหลายๆ เจ้า ตีราคาต่างหากแล้วนำมาเปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจว่าจ้างก็ได้
ซึ่งบางเจ้าอาจจะทำมาไม่ละเอียดเท่าไหร่ แต่บางเจ้าก็ระบุละเอียดลงไปเลยว่า ใช้วัสดุยี่ห้ออะไร รุ่นไหน มีภาพถ่ายกำกับด้วยผมว่าอันนี้ละเอียดดีมาก ชัดเจนที่สุด เจ้าของบ้านจะได้รู้ว่าจะได้อะไรบ้างกับราคาที่เสียไป ส่วนผมให้ผู้รับเหมาทำและตีราคามา แล้วเอาพื้นที่ใช้สอยหารกับราคา ออกมาเป็นราคาต่อตารางเมตรแล้วเทียบกับวัสดุครับ คิดแบบคนขี้เกียจ ไม่มีความรู้ในส่วนนี้ด้วยครับ
BOQ ที่ผมได้เป็นแบบนี้
แนะนำว่า ถ้าดูตรงไหนแล้วไม่เข้าใจหรือติดใจอะไรก็ถามผู้รับเหมาให้ชัดเจนอย่าเก็บความไม่ชัดเจนไว้ในใจ เดี๋ยวจะมาเถียงกันภายหลัง ตราบใดที่ยังไม่จ่ายเงินหรือตกลงทำสัญญากัน ผู้ว่าจ้างอย่างเรายังคงได้เปรียบอยู่ครับ ส่วนที่ผมได้รับมานั้น เป็นการคำนวณค่าแรงและค่าของ เหมารวมกันไปเลย
ราคาวัสดุเกรดกลางๆ ประมาณ B+ แต่ยังไม่ค่อยชัดเจนเรื่องยี่ห้อ บางเจ้าที่ผมเคยเห็นมาเขาจะระบุยี่ห้อหรือถ้าให้ดีมีภาพประกอบด้วยจะชัดเจนมากครับ นอกจากนี้ ผมก็เจรจาต่อรองเรื่องค่าดำเนินการ ปริมาณงานที่ตกลงว่าจ้าง ของแถมกันอีกนิดหน่อย
สัญญาว่าจ้างจำเป็นหรือไม่
เมื่อตกลงกันได้แล้วว่าจะว่าจ้าง ก็ควรจะทำสัญญาว่าจ้างกันสักหน่อย ทั้งนี้แม้ว่าตามหลักกฏหมายแล้วการว่าจ้างทำของนั้นไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ แต่เพื่อความชัดเจนว่าเราและผู้รับเหมาตกลงหน้าที่และความรับผิดของแต่ละฝ่ายว่าใครมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง เช่น เราต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง สร้างแบบไหน อย่างไร ราคา แยกเป็นค่าแรงอย่างเดียว หรือรวมวัสดุด้วย วัสดุแบบไหน ระยะเวลาก่อสร้างเท่าไหร่ แบ่งงวดงานและจ่ายเงินกันอย่างไร ใครต้องจัดหาอะไรบ้าง การรับประกัน กรณีที่ผู้รับเหมาทิ้งงานต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง หากมีงานเพิ่ม งานลด คิดกันอย่างไร ดังนั้น ควรทำสัญญาครับ
ยื่นขอกู้เงินจากธนาคาร
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมเอกสารเพื่อขอกู้เงินจากธนาคาร เนื่องจากผมและภรรยาประกอบวิชาชีพอิสระ ไม่มีเงินเดือน มีรายได้ไม่แน่นอน (ตรงนี้คงเป็นปัญหาของใครหลายๆ คน) ในส่วนของผมกู้เดี่ยวก็ใช้ สำเนาโฉนดที่ดิน (หากยังไม่โอนก็แนบสัญญาซื้อขาย (กรณีซื้อขาย) +สำเนาบัตร, ทะเบียนบ้านของคนขายที่ดิน) แบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว ใบอนุญาตก่อสร้าง สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง+หลักฐานส่วนตัวของผู้รับเหมา
เอกสารส่วนตัวของเรา เช่น สำเนาบัตรประชาชน, ทะเบียนบ้าน ใบเปลี่ยนชื่อสกุล(หากมี), ทะเบียนสมรส, ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ, หลักฐานแสดงการมีรายได้ เช่น 50ทวิ ภ.ง.ด. 90, 94, ใบเสร็จเสียภาษี, สัญญาว่าจ้างที่เราไปรับจ้างทำงาน พร้อมรายการเดินบัญชีธนาคาร 6 เดือน ถึง 1 ปี เป็นต้น
แล้วก็ไปเขียนคำขอที่ธนาคารสาขาใกล้ๆ บ้าน เมื่อทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ประจำสาขาที่เกี่ยวข้องได้รับเอกสารแล้วก็จะพิจารณาเอกสารเบื้องต้นก่อนว่าแนวโน้มจะผ่านหรือไม่ หากผ่านก็จะรับเอกสารไว้เพื่อส่งไปยังสำนักงานใหญ่แล้วจะมีเจ้าหน้าที่นัดมาถ่ายภาพที่ดินเพื่อทำการประเมินราคาที่ดินประกอบการพิจารณาอีกที ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทางธนาคารจะให้กู้เงินเพื่อปลูกสร้างบ้านได้ไม่เกิน 100% ของมูลค่าก่อสร้าง แต่ทั้งนี้ ไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาที่ดิน+มูลค่าก่อสร้าง
ใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติทั้งสิ้นไม่เกิน 10 วันทำการ แต่ของผมกว่า จะทราบผลการอนุมัติใช้เวลานานพอสมควร (ช้ามากครับ) ประมาณ 45 วัน รวมวันหยุดด้วยก็เกือบ 2 เดือน นับจากยื่นคำขอกู้ เนื่องจากผมไปยื่นขอตอนสิ้นปี ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และส่วนพิจารณา ติดช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้การพิจารณาล่าช้าไปบ้าง ไม่ว่ากัน อย่างไรก็ต้องรอ และรอ
เมื่อผมได้รับ SMS และจดหมายแจ้งผลอนุมัติจากธนาคารอย่างเป็นทางการแล้ว ธนาคารสาขาจะนัดไปทำสัญญาเงินกู้ (ฝึกลงชื่อไปเยอะๆ นะครับ ได้ลงชื่อกันจนปวดมือ) และนัดวันเพื่อไปดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมจำนองที่ดินที่สำนักงานที่ดิน วันที่ไปจดจำนองที่ดิน ก็เตรียมโฉนดที่ดิน บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรสตัวจริง ไป (ถ้ากู้เดี่ยวแบบผม) ก็ต้องมีหนังสือให้ความยินยอมคู่สมรส ถ้าหากคู่สมรสไม่ไปในวันนั้น ก็ไปขอหนังสือให้ความยินยอมที่ว่านี้จากสำนักงานที่ดินมากรอกพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านคู่สมรสไว้ล่วงหน้าเลย)
แต่ของผมเอาไปดีกว่าเผื่อขาดเหลืออะไรจะได้ไม่ต้องเสียเวลา แล้วก็เตรียมค่าจดจำนองร้อยละ 1 ของวงเงินจำนอง ค่าพยาน ค่าคำร้องอีกนิดหน่อยไม่กี่ร้อยบาท
หากโฉนดยังไม่ได้เป็นชื่อเรา ก็ต้องนัดทางผู้ขายไปด้วยและก็เตรียมค่าธรรมเนียมซื้อขายร้อยละ 2 ของราคาซื้อขาย และเงินค่าที่ดินไปด้วย เมื่อดำเนินการส่วนนี้เรียบร้อย ก็นัดทางผู้รับเหมาเริ่มเข้าดำเนินการได้ทันที แต่หากใครมั่นใจว่าถึงอย่างไรธนาคารอนุมัติแน่นอนก็ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาเข้าดำเนินการได้เลยครับ
เริ่มลงมือ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิม
หลังจากที่ทุกอย่างพร้อมจะลงมือก่อสร้างแล้ว ก็เกิดปัญหาอย่างที่ภรรยาผมคาดการณ์ไว้ คือ พ่อผมเกิดเปลี่ยนใจไม่ยินยอมให้ทุบรั้วที่กั้นระหว่างที่ดินที่จะปลูกบ้านใหม่กับบ้านเดิม ทำให้ต้องปรับแก้แบบใหม่กระทันหัน โดยตอนแรกผู้รับเหมาให้คำแนะนำ โดยจะออกแบบให้ใหม่ แล้วร่างแบบส่งมาให้เป็นแบบนี้
กับแบบนี้
แต่ผมไม่ชอบ ตอนแรกว่าจะไม่สร้างแล้ว ปวดหัว ตั้งนานไม่ยอมบอกปล่อยให้ผ่านมาถึงขั้นนี้ได้อย่างไร แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ลงทุนมาเยอะแล้วถอยได้ไง
จึงปรึกษากับผู้รับเหมาแล้วก็สถาปนิกใหม่ โดยปรับแบบใหม่ให้หันด้านหน้าบ้านจากเดิมหันหน้าไปตรงด้านข้างที่ดินโดยใช้ทางเข้าออกร่วมกันกับบ้านเดิม เปลี่ยนเป็นหันหน้าบ้านไปยังถนนเป็นแบบนี้ แล้วเอาห้องทำงานมาไว้แทนที่ประตูทางเข้าบ้านเดิม ได้แบบใหม่เป็นแบบนี้
เมื่อแก้ปัญหาเรื่องแบบบ้านเสร็จก็เริ่มลงมือรื้อโครงสร้างเดิม และปรับพื้นที่ (บางคนอาจจะมีฤกษ์รื้อถอนนะครับ แต่ของผมใช้ฤกษ์สะดวก) เริ่มลงมือรื้อต้นไม้ออก
ขั้นตอนตรงนี้ไวมากใช้เวลาไม่ถึงวัน พ่อผมในฐานะเจ้าของเดิมออกมายืนมองต้นมะม่วง มะพร้าว กล้วย มะยงชิด มะรุม ที่ปลูกไว้ด้วยความเสียดายโชคดียังได้เก็บกินชุดสุดท้ายจนหมดชุดแล้ว
โล่งเลย เหลืออยู้ 2 ต้นที่ไม่โดนตัด คือ ต้นมะม่วงพันธุ์อกร่อง กับต้นจิกเศรษฐี เนื่องจากไม่ตรงกับแนวบ้าน แล้วก็ไปขอความอนุเคราะห์ที่ข้างเคียงทำเป็นโกดังเก็บของชั่วคราว เคสของผมไม่มีการปลูกแคมป์คนงานนะครับ
เนื่องจากอยู่ใกล้กับบ้านของผู้รับเหมาจึงใช้วิธีการให้คนงานมาเช้ากลับเย็นแทน และจะไม่มีการตุนของไว้มากนักเอาแค่เพียงพอกับการใช้งานเท่านั้น นี่ครับที่ข้างบ้าน
รื้อจนโล่งเตียนแบบนี้
หลังจากนั้นก็ตีผังกำหนดจุดที่จะทำการตอกเสาเข็ม ระดับ +00 ของผมนั้น ใช้ระดับปูนเดิมครับ แม้ไม่ถูกใจเท่าไหร่แต่ก็เอาเถอะประหยัดงบ
ตีผังเสร็จ ก่อนตอกเสาเข็ม ผู้รับเหมาก็ จัดเตรียมสิ่งของมาเซ่นไหว้บอกกล่าวเจ้าที่ เจ้าทาง พระแม่ธรณีเสียก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล และความราบรื่นของการดำเนินงาน ตามลัทธิความเชื่อ
เสร็จแล้วก็เตรียมลงมือตอกเสาเข็ม
ตรงไหนที่เป็นพื้นปูนก็เจาะปูนให้ถึงหน้าดินก่อน
เสาเข็มที่ผมได้มาตามแบบเป็น I18 ที่ระดับความลึก 18 เมตร ระยะห่าง แต่ผู้รับเหมาเพิ่มขนาดมาให้ เป็น I22 ความยาว 21 เมตร ฐานรากแน่นเท่ามาตรฐานบ้าน 2 ชั้นสบายๆ โดยใช้เสาเข็มขนาดความยาว 10 เมตรกับ 11 เมตร 2 ต้น ต่อกันตอกลงไป จำนวน 23 หลุม ระยะห่างแต่ละหลุมตามที่ทางวิศวกรกำหนดไว้ในแบบ
ตอกเสาเข็มให้จมลงไปในดินจนมิดเสาเข็มเพิ่มอีก 1 เมตร เพื่อทำฟุตติ้ง แบบนี้
ทำจนครบทุกหลุม หลังจากนั้นปลูกสโตร์เก็บของ
ระหว่างตอกเสาเข็ม ทางผู้รับเหมาก็ให้ช่างผูกเหล็ก เตรียมแบบฟุตติ้ง รอไว้เลย จะได้ไม่เสียเวลา
เมื่อตอกเสาเข็มเสร็จแล้ว ผู้รับเหมาก็ให้ผมไปดูฤกษ์จากพระที่นับถือแถวบ้าน
ฤกษ์นั้นสำคัญไฉน
หลังจากตอกเสาเข็มเตรียมแบบฐานรากเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ก็รอฤกษ์เพื่อทำพิธียกเสาเอก ส่วนฤกษ์นั้น ก็แล้วแต่เราเลยครับ นับถือใครอย่างไร ศาสนาไหน ไทย จีน ฝรั่ง ว่ากันไปตามลัทธิความเชื่อของแต่ละคนเลยครับ ส่วนใครจะเอาฤกษ์สะดวกก็ตามใจครับ แล้วแต่ความเชื่อ (เดิมตอนที่พ่อกับแม่ผมปลูกบ้านนั้น ท่านก็ไม่ได้ไปดูหมอดูหรือซินแสที่ไหน ใช้วิธีดูปฏิทินจีนเอา เอาที่เขียนว่าวันธงชัย ก็ไม่มีปัญหาอะไรนะครับ)
ส่วนผม ให้พ่อพาไปหาพระที่นับถือแถวบ้านให้ช่วยดูฤกษ์ กับตำแหน่งของเสาเอก เสาโท พร้อมกับนิมนต์มาทำพิธีให้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต (ความจริงผมทำไม่เป็นต่างหาก ได้ผู้รู้มาทำให้ก็ดี) จากที่ผมค้นคว้าจากใน INTERNET มานั้นตามคติความเชื่อแบบไทย คนไทยนิยมปลูกบ้าน เดือน อ้าย เดือน ยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนเก้า และ เดือนสิบสอง (นับแบบไทย)
เพราะฉะนั้นหากใครคิดจะเริ่มปลูกบ้านอย่าลืมเผื่อเวลาให้จังหวะยกเสาเอกอยู่ในช่วงเดือนนี้จะได้ไม่ต้องรอนาน ของผมกว่าจะไปหาฤกษ์นั้น เฉียดฉิวไปนิดหน่อยเกือบเข้าเดือนห้า (ปลายๆ มีนาคม ต้นเมษายน)
ซึ่งผมว่า เหตุผลของคนโบราณที่ห้ามเพราะ เค้าดูสภาพภูมิอากาศว่า เดือนที่ห้ามนั้น อากาศมันร้อน ทำไรนิดหน่อยก็เหนียวตัว สงสารช่าง ส่วนหน้าฝนก็ทำงานลำบาก ขาดแรงงานเนื่องจากต้องไปทำนา(สมัยใหม่ก็ เทปูนยาก จะใช้ไฟฟ้าสำหรับก่อสร้างก็อันตรายเนื่องจากเป็นที่โล่งแจ้ง) หน้าน้ำหลากก็ทำงานไม่ได้ ก็เลยห้ามไว้
ฤกษ์ที่ได้มา
พิธียกเสาเอก-เสาโท
พอถึงวันที่กำหนดไว้ก็จัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับพิธียกเสาเอก (แล้วแต่ตำรา และความเชื่อท้องถิ่นนะครับ) ถามคนที่เค้าให้ฤกษ์เรามาเลยก็ได้ครับว่าใช้อะไรบ้าง หรือบางคนดูเองก็เปิดตามเว็ปดูเลยครับ มีบอกหมดนี่ครับที่ผมค้นมาได้
- หน่อกล้วย หน่ออ้อย อย่างละ 2 หน่อ
- ผ้าสามสี 2 ชุด
- ไม้มงคล ได้แก่
– ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา
– ไม้ขนุน หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน
– ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ
– ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีเงินมีทอง
– ไม้ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุข
– ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง
– ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ
– ไม้พะยูง หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น
– ไม้กันเกรา หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าตำเสา ซึ่งอาจหมายถึง ทำให้เสาเรือนมั่นคง
4.ใบเงิน ใบทอง ใบนาค อย่างละ 9 ใบ จำนวน 2 ชุด
- ข้าวตอก ดอกไม้ เมล็ดถั่ว งา เหรียญสตางค์สีเงิน สีทอง
- แผ่นโลหะจารฤกษ์ แผ่นยันต์ป้องกันสิ่งชั่วร้าย
- เครื่องเซ่นไหว้เจ้าที่ เจ้าทางแล้วแต่จัดเตรียม ของผมก็มี ชุดซาแซ (พวกหมู เห็ด เป็ด ไก่) ขนมชื่อมงคล ผลไม้ 5 อย่าง ดอกไม้ ธูปเทียน
- จตุปัจจัย ไทยธรรม สำหรับถวายพระ พระท่านก็ไม่ได้ให้ผมเตรียมอะไรเป็นพิเศษนะครับ สั่งให้เตรียมแค่ของที่อยากไหว้เท่านั้น ส่วนที่เหลือพวกข้าวตอกดอกไม้ ไม้มงคลท่านอนุเคราะห์จัดเตรียมให้ พอถึงวันที่กำหนดผมก็เตรียมของพวกนี้ไว้
ดอกไม้ธูปเทียน
ขนม ผลไม้แล้วแต่ความชอบกินครับ
ไก่ภรรยาต้มเอง หาซื้อแพงมากตัวละ 500-700 สู้ราคาไม่ไหว ศพเลยไม่สวย
เมื่อพระสงฆ์มาถึงบริเวณพิธีก็จัดเตรียมเอาหน่อกล้วย หน่ออ้อย พร้อมดอกไม้มาผูกที่เสาเอก เสาโท (ตอนแรกผ้าสามสีที่ใช้ผูกเสาโทมีสีแดง สีเขียว สีเหลือง แต่เมื่อพระท่านตรวจดูความเรียบร้อยแล้วก็ให้เปลี่ยนเป็นผ้าสีชมพู สีเขียว สีเหลือง
เนื่องจากท่านบอกว่าเสาเอกเป็นตัวแทนฝ่ายชาย ใช้สีแดง ส่วนเสาโทนเป็นตัวแทนฝ่ายหญิงให้ใช้สีชมพู จะได้ไม่แรงมานัก เมื่อมาคิดๆ ดูพิธียกเสาเอก เสาโท ก็คือพิธีกรรมบอกกล่าว เทวดา เจ้าที่เจ้าทางให้รับรู้ว่าต่อไปนี้นะ เราจะลงหลักปักฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ เพราะฉะนั้นเสาเอก เสาโท เปรียบเสมือนตัวแทนของเจ้าของบ้านฝ่ายชายและฝ่ายหญิงนั่นเอง)
แล้วก็ให้เราจุดเทียน ธูป เพื่อบอกกล่าวเทวดา พระแม่ธรณี เจ้าที่เจ้าทาง ให้ทราบว่าเราจะทำการปลูกสร้างบ้านเรือน ณ ที่สถานที่แห่งนี้ โปรดรับเครื่องสังเวย และช่วยอวยพรให้เราทำการสำเร็จ และอยู่อาศัยในบ้านนี้อย่างมีความสุข เจริญรุ่งเรือง เมื่อบอกกล่าวเสร็จก็นำไม้มงคลวางในหลุมเสาเอก (ความจริงต้องตอกแต่เนื่องจากทางผู้รับเหมาเทลีนไว้แล้วทำให้ตอกไม่ได้ก็เลยใช้วิธีการวางแทน)
โดยวางวนขวาไปเรื่อยๆ จนครบ ตามด้วยใบเงิน ใบทอง ใบนาก และวางแผ่นโลหะเงิน ทอง นาก โรยด้วยดอกไม้ชื่อมงคล ถั่วงา พร้อมบริกรรมคาถา และพรมน้ำพระพุทธมนต์ แล้วก็ยกเสาเอกวางในหลุม ขณะที่ยกก็ให้โห่ร้องไชโยไปด้วย ช่างก็เตรียมไม้ค้ำยันเสาเอก เสร็จแล้วก็ยกเสาโท โดยทำแบบเดียวกับเสาเอก แล้วก็โปรยเหรียญเงิน เหรียญทอง เหรียญทองแดง
คล้ายๆ กับว่า ที่แห่งนี้มีเงินมีทองเต็มทั่วไปหมด หลังจากนั้นก็แจกทานแก่ช่างก่อสร้างคนละนิด คนละหน่อย ถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ที่นิมนต์มาเป็นอันเสร็จพิธี (โชคดีวันทำพิธีแดดไม่ร้อน สบายๆ แต่หลังจากส่งพระสงฆ์เสร็จ ฟ้าฝนลงกระหน่ำทั้งๆ ที่เป็นปลายเดือนมีนาคม
คล้ายๆ กับเทวดาช่วยพรมน้ำมนต์มาอีกที คิดเอาเองเพื่อความสบายใจ แต่ความจริงเกิดจากความกดอากาศสูงจากจีนปะทะกับความร้อนในบ้านเรา จึงทำให้เกิดฝนต่างหาก 555)
เริ่มทำพิธีไหว้บอกกล่าว เทวดา เจ้าที่เจ้าทาง พระแม่ธรณี
โปรยข้าวตอกดอกไม้ เงินทอง
ช่วยกันยกเสาเอกลงหลุม
พระท่านช่วยประพรมน้ำมนต์ให้ทั่วๆ ที่ดิน
วันต่อมาผู้รับเหมาก็ตั้งเสาส่วนที่เหลือแล้วสั่งปูนผสมสำเร็จมาเทฐานรากต่อจนครบทุกต้น
พอบ่มปูนในส่วนฐานรากได้ทีก็ผูกเหล็กคานคอดิน
ตรงไหนที่ระดับไม่ได้ก็ก่ออิฐเสริมขึ้นมาให้เสมอกัน เมื่อผูกเหล็กคานคอดินเสร็จก็ใส่แบบไม้
สั่งปูนผสมสำเร็จมาเท
จี้ปูนไล่อากาศ เสร็จแล้วก็รอจนปูนได้ที่ ระหว่างรอคอนกรีต set ตัว ผู้รับเหมาก็ขอหยุดสงกรานต์ ล่วงหน้า พ่อก็ช่วยรดน้ำคอนกรีตทุกวัน เช้า เย็น ประมาณ 7 วัน พอช่างกลับมาทำงานหลังจากหยุดสงกรานต์ ก็แกะแบบ ผูกเหล็ก คานชั้น 1 กำหนดสูงจากระดับ +00 ขึ้นมา 0.90 เมตร ใช้เวลาทำประมาณ 3-4 วัน
ตรงส่วนด้านล่างที่มีเหล็กยื่นลงมานั้น ผู้รับเหมาผูกเหล็กไว้สำหรับทำครีบกันดินไหลเข้าตัวบ้าน
หล่อเสาให้เสมอกับคานคอดิน
ตั้งตุ๊กตาค้ำยันวางแบบ เพื่อผูกเหล็กคานชั้น 1
แดดช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมร้อนมา ผู้รับเหมาสงสารช่างเลยให้เอาแผ่นแสลนมากลางพลาง
ผูกเหล็กคานชั้น 1 เสร็จก็ใส่แบบให้ครบแล้วสั่งปูนผสมสำเร็จเจ้าเดิมาเท
ตรงก่อนเข้าประตูบ้าน ด้านล่างเทปูนไว้สำหรับทำห้องเก็บอุปกรณ์สวนไว้ใต้พื้นบ้าน
ห้อยเหล็กไว้สำหรับทำบันไดทางขึ้น
บันไดทางขี้นหลังบ้าน 5 ขั้นๆ ละ 20 เซนฯ ผูกเหล็กเสร็จแล้วก็สั่งปูนผสมสำเร็จมาเท
บันไดหน้า ตอนเทปูนแกะแบบแล้ว
ใต้ทางเข้าบ้านทำห้องเก็บอุปกรณ์ เทปูนขัดมันก็พอ
บันไดหลังบ้าน คานรอบบ้านด้านนอกทั้งหมดก่ออิฐให้คานใหญ่ขึ้นสำหรับงานสถาปัตย์
จะเห็นว่าคานบ้านสูงกว่าระดับ +00 ขึ้นมาประมาณ 90 เซนฯ พื้นห้องน้ำเทปูนผสมน้ำยากันซึมหล่อในที่ป้องกันการรั่วซึม
วางท่อสำหรับร้อยสายไฟจากการไฟฟ้าเข้าบ้าน
ขอย้อนกลับไปเยอะหน่อยครับ หลังจากที่ผู้รับเหมาเคลียร์สิ่งปลูกสร้างเดิมออก ตอกเสาเข็มเรียบร้อยแล้วก็ทำเรื่องเบิกเงินจากธนาคาร งวดที่ 1
วางแผ่นไปเรื่อยๆ ระหว่างนี้ก็มาเตรียมหล่อเสา
ใส่แบบสำหรับหล่อเสาบ้าน ทยอยทำทีละครึ่งหนึ่งของจำนวนเสาที่มีก่อน ประหยัดแบบ แล้วก็เทปูนหล่อเสาเสร็จแล้วพักไว้ 2 วัน ถอดแบบทาน้ำยาบ่มปูนพันพลาสติก แล้วก็ใส่แบบหล่อเสาชุดใหม่จนครบทุกต้น
พอหล่อเสาเสร็จหมดก็ตั้งตุ๊กตาค้ำยัน ใส่แบบพื้นหน้าบ้านแล้วเทปูนแบบหล่อในที่กันรั่วซึมเข้าไปห้องเก็บของ
ตั้งตุ๊กตาค้ำยัน ผูกเหล็กคาน เตรียมเทพื้นหลังคาสแลป ตรงบริเวณห้องครัว
หลังคาสแลปบริเวณห้องครัว
ผู้รับเหมาสั่งเหล็กมารอเพื่อทำโครงหลังคา ก่อนขึ้นโครงก็เอาเหล็กโครงหลังคามาชุบสีกันสนิมก่อน
ชุบสีกันสนิม
แล้วก็เริ่มขึ้นโครงหลังคา ขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นโครงแล้วเก็บสีกันสนิมอีกที
หลังคาสแลปห้องครัว
เก็บสีกันสนิมตรงรอยเชื่อม
เสร็จงานโครงหลังคาในส่วนผู้รับเหมา หลังจากนี้จะใช้ทีมช่างจาก SCG เข้ามาติดชายน้ำและวางแป พร้อมกับปูกระเบื้องหลังคา ซึ่งข้อดีตรงนี้ คือ ช่างมีความชำนาญสูงและมีการรับประกันงานหลังคา
พรุ่งนี้เรามาติดตามกันต่อว่า… หลังจากโครงหลังคาเสร็จ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร แล้วพบกันในวันพรุ่งนี้ค่ะ 🙂
หลังจากโครงหลังคาเสร็จ มาต่อกันที่ “ทีมช่าง” ปูกระเบื้องหลังคา
อ่านตอน 2 ได้ที่นี่ …
ต้องการซื้อ-เช่า !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่
ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย