NPA หรือทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินรอการขายซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารและ ทรัพย์สินขายทอดตลาด
ของกรมบังคับคดี ซึ่งทรัพย์สินขายทอดตลาดนั้นก็เรียกความสนใจของนักลงทุน และผู้ที่อยากซื้อที่อยู่อาศัยในราคาประหยัดได้เป็นอย่างดี
ในการเลือกทรัพย์สินขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีนั้นก็มีหลักการคล้ายกับการเลือกอสังหาริมทรัพย์มือสองอย่างอื่น คือต้องคำนึงถึงทำเลที่ตั้ง
เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ตามมาด้วยสภาพตัวบ้าน สิ่งแวดล้อม เพื่อนบ้าน และราคาที่สมเหตุสมผล นอกจากการหาข้อมูลแล้ว การลงสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเองก็สำคัญเช่นกัน
ระเมินภาพรวมทั้งหมดก่อนตัดสินใจว่าคุ้มค่าให้เข้าร่วมประมูลหรือไม่ (กรณีคอนโดมิเนียมอาจติดต่อนิติบุคคลขอดูภาพรวมในโครงการ)
การจะซื้อบ้านหรือคอนโดจากกรมบังคับคดีนั้น จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า NPAของสถาบันการเงินหากแต่ทรัพย์สินนั้นมีราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด
จึงสามารถดึงดูดให้คนสนใจได้ไม่แพ้บ้านและคอนโดมือสองNPA ของสถาบันการเงิน เพราะต้นทุนที่ต่ำย่อมหมายความถึงผลตอบแทนที่สูงขึ้น
เมื่อเข้าร่วมประมูล ผู้เข้าร่วมประมูลจะถูกเรียกว่า “ผู้เข้าสู้ราคา” ส่วนมากราคาเริ่มประมูลบ้านและคอนโดมือสองจากกรมบังคับคดีนั้นจะมีราคาต่ำกว่า
ราคาตลาดถึง 30-50%
แต่ถึงแม้ว่าบ้านและคอนโดที่ขายทอดตลาดจะมีราคาถูกเพียงใด สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเคยคือความเป็นมือสองของมัน จึงต้องเช็คว่ามีผู้อยู่อาศัยหรือไม่
หากมีไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเดิม หรือเช่าต่อจากเจ้าของเดิม ผู้ประมูลต้องคำนึงการจัดการปัญหาในอนาคตอย่างการฟ้องขับไล่ ซึ่งอาจก่อปัญหาระยะยาว เสียเวลา
และไม่คุ้มกับการลงทุน จึงควรเลือกบ้านหรือคอนโดที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยมาเป็นอันดับต้นๆ
ราคาบ้านและคอนโดมือสองที่ค่อนข้างถูกกว่า NPA ของสถาบันการเงินอาจจะทำให้นักลงทุนรู้สึกว่ามีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง
แต่ก็ต้องคำนวณถึงขั้นตอน และปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นมาว่าคุ้มค่ากับราคาหรือไม่ อย่าด่วนตัดสินเพียงเพราะว่ามีราคาถูกเพียงอย่างเดียว เพราะจะเสี่ยงที่จะได้ไม่คุ้มเสีย
และเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ก่อนตัดสินใจจึงจำเป็นต้องคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบ