เริ่มกันที่ประโยชน์ของ “เอกสารสิทธิ์ที่ดิน” กันก่อน
ประการแรก คือ เพื่อให้เจ้าของที่ดินเกิดความมั่นคงในกรรมสิทธิ์ และใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์สิทธิ์ต่อรัฐและเอกชน
ประการที่ 2 คือ ใช้เป็นสื่อกลางเช่นเดียวกับ หุ้น หรือพันธบัตรในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “อสังหาริมทรัพย์”
เมื่อรู้ถึงประโยชน์แล้ว เราก็มาทำความรู้จักกับประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่ดินกันต่อเลยดีกว่าค่ะ เอกสารสิทธิ์ที่ดิน แบ่งออกได้เป็น 6 ประเภทด้วยกัน จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน !!!
1. แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)
เป็นเหมือนใบที่จะแสดงหลักฐานแสดงสิทธิว่าเราครอบครองที่ดินแปลงใดอยู่ ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดิน ส่วนการใช้งานตามกฎหมายนั้น จะใช้เพียงแค่การแสดงเจตนาการสละการครอบครองและพร้อมส่งต่อให้กับผู้อื่นเท่านั้น
2. ใบจอง (น.ส. 2)
หนังสือที่ราชการออกให้เพื่อแสดงการยินยอมให้ครอบครอง ทำประโยชน์จากที่ดินแบบชั่วคราวเท่านั้น
3. หนังสือรับรองการทำประโยชน์
คือ หนังสือที่ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่แล้วว่าได้ทำประโยชน์ แบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
– น.ส. 3 สำหรับผู้ครองที่ดินทั่วๆไป ไม่มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินแน่นอน หรือออกในท้องที่ที่ไม่มีรูปถ่ายระวางอากาศ
– น.ส. 3 ก. ออกในท้องที่ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ โดยมีการกำหนดตำแหน่งที่ดิน ซึ่งหนังสือชนิดนี้ นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออกให้
– น.ส. 3 ข. ออกในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ และรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ ในการปฎิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งหนังสือชนิดนี้เจ้าหน้าที่พนักงานที่ดินเป็นผู้ออก
4. ใบไต่สวน (น.ส.5)
คือ หนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน ทำให้ทราบว่ามีการสอบสวนสิทธิที่ดินแล้ว สามารถจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดินได้
5. โฉนดที่ดิน
หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ถือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นๆอย่างสมบูรณ์
6. หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
เจ้าของห้องชุดจะมีกรรมสิทธิ์ใน “ทรัพย์ส่วนบุคคล” และยังมีกรรมสิทธิ์ร่วมใน “ทรัพย์ส่วนกลาง”
เป็นยังไงกันบ้างคะ รู้จัก “เอกสารสิทธิ์ที่ดิน” กันมากขึ้นหรือเปล่า…? บางคนมีเก็บไว้ แต่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ยังไงก็เรียนรู้ไว้ดีกว่า…ใช่มั้ยล่ะคะ….?