DotProperty.co.th

รู้ไว้ใช่ว่า “กฎหมายการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้าน” พร้อมเคล็ดลับการเลี้ยงสุนัขให้เป็นที่รักของเพื่อนบ้าน

บ้าน คน และสัตว์เลี้ยง เป็นสิ่งที่แทบจะขาดกันไม่ได้เลย ยิ่งกับในปัจจุบันที่สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็ยิ่งทำให้การเลี้ยงสัตว์ในบ้านได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของทุกยุคสมัยก็คือ “สุนัข” สาเหตุก็เพราะความน่ารัก ความซื่อสัตย์ และความแสนรู้ ที่สามารถเป็นเพื่อนแก้เหงา สร้างความผ่อนคลายให้คน ช่วยเลี้ยงเด็ก และเฝ้าบ้านในช่วงที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ เรียกได้ว่าสารพัดประโยชน์มากกับการลงทุนเลี้ยงสุนัขสักตัว 

แต่หลายปีมานี้ก็มีเหตุการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการกระทำของสุนัขเกิดขึ้นมากมาย เช่น สุนัขเห่าเสียงดังจนสร้างความรำคาญให้เพื่อนบ้าน เจ้าของปล่อยสุนัขไปขับถ่ายหน้าบ้านคนอื่น หรือการที่สุนัขไปกัดคนอื่นโดยที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นมา ตามที่เรามักจะเห็นในข่าวอยู่บ่อย ๆ จนทำให้เกิดประโยคที่ว่า “สุนัขของเรา ไม่ได้น่ารักสำหรับคนอื่น” เพราะสิ่งที่เราคิดว่าน่ารัก อาจกลายเป็นตัวปัญหาสำหรับเพื่อนบ้านก็ได้

ดังนั้นถ้าอยากให้สุนัขของเราเป็นที่รักของทุกคน เจ้าของหรือผู้ที่กำลังคิดจะทำการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้าน ควรศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมให้รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ตนเองและสุนัขในการดูแลกลายเป็นเพื่อนบ้านที่น่ารักของทุกคน

เรื่องน่ารู้ก่อนการเลี้ยงสุนัขในหมู่บ้าน

ก่อนที่จะไปรู้ข้อกฎหมายเราควรรู้ก่อนว่า บ้าน คือพื้นที่จำกัด การซื้อบ้านไม่ว่าจะในหมู่บ้านจัดสรรหรือในพื้นที่ใด ๆ ก็ตาม เราจะมีสิทธิแค่ในขอบเขตของบ้านเท่านั้น การเลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้าน แล้วปล่อยให้เสียงหรือกลิ่นของสัตว์เลี้ยงลอยออกไปยังบ้านหลังอื่นติดต่อกันเป็นเวลานาน ถือเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้าน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาความเรียบร้อย จึงได้ตรากฎหมายหรือข้อบังคับขึ้นมา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน ป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญ และอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ ซึ่งกฎหมายทั้งหมดจะบังคับใช้กับมนุษย์เท่านั้น ไม่ได้ลงโทษสัตว์เลี้ยง บรรดาเจ้านายจึงไม่ต้องกังวลไปว่าสัตว์เลี้ยงจะโดนกำจัด แต่ถ้าสัตว์เลี้ยงของคุณกระทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย กฎก็หมายจะลงโทษเจ้าของแทน ทั้งในรูปแบบการลงโทษปรับ จำคุก และทั้งจำทั้งปรับ

การเลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้านทำได้ ถ้ารู้กฎหมาย

การเลี้ยงสัตว์ในบ้านดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ของสังคม แต่รู้ไหมว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่หลายฉบับเลยล่ะ ลองตามมาดูกันนะว่าจะมีอะไรที่เราคาดไม่ถึงกันบ้าง

ความรำคาญจะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา แล้วอะไรคือคำนิยามของคำว่ารำคาญที่สามารถทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเสี่ยงโดนดำเนินคดีได้ สำหรับข้อสงสัยนี้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ได้ให้คำตอบไว้ว่า ลักษณะของเหตุอันก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ต้องประสบกับเหตุนั้น ดังต่อไปนี้จะถือว่าเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ในที่หรือวิธีใดหรือมีจำนวนเกินสมควร จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การเลี้ยงสัตว์ที่ทำให้เพื่อนบ้านได้รับความเดือนร้อน ไม่ว่าจะทางเสียง กลิ่น หรืออื่น ๆ ล้วนเป็นการก่อความรำคาญทั้งสิ้น

หากเพื่อนบ้านแจ้งความเดือดร้อนต่อเจ้าของ แล้วเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่รีบแก้ไขปัญหา เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถเข้ามาควบคุมดูแลการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้านหลังนั้น หรือลงโทษได้ เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ให้สิทธิราชการส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติควบคุมดูแลประชาชนในท้องที่ด้วยตนเอง

ขึ้นชื่อว่าสัตว์เลี้ยง ก็ต้องมีการเลี้ยงดูส่วนใหญ่อยู่ในขอบเขตของบ้าน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยของคนในชุมชน ซึ่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ได้มีบัญญัติเกี่ยวกับเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ ไว้ดังนี้

  1. มาตรา 14 ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยสัตว์ นำสัตว์ หรือจูงสัตว์ไปตามถนนหรือเข้าไปในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ประกาศห้ามไว้ และห้ามปล่อยให้สัตว์ถ่ายมูลบนถนนและมิได้ขจัดมูลดังกล่าวให้หมดไป ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้นำขบวนสัตว์หรือฝูงสัตว์ หรือจูงสัตว์ไปตามถนนและได้เสียค่าธรรมเนียมรักษาความสะอาดตามข้อกำหนดของท้องถิ่น
  2. มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยหรือจูงสัตว์เข้าไปในบริเวณที่ราชการส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนอื่น หรือที่รัฐวิสาหกิจได้ปลูกหรืออนุญาตให้ผู้อื่นปลูกหญ้าหรือต้นไม้ไว้ และได้ปิดประกาศหรือปักป้ายห้ามไว้แล้ว หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

นอกจากนั้นยังมีข้อกำหนดที่แต่ละจังหวัดสามารถตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมดูแลพื้นที่ของตนโดยเฉพาะด้วย เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2545 ที่ได้กำหนดตั้งแต่ประเภทสัตว์เลี้ยง การควบคุมการเลี้ยง ตลอดจนหน้าที่ของเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยมีข้อบัญญัติที่ควรรู้ไว้ ดังนี้

  1. ข้อ 5 ให้กรุงเทพมหานคร เป็นเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ประเภท สุนัข แมว ช้าง โค กระบือ และสัตว์ป่าที่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้
  2. ข้อ 8 – 9 นอกจากการเลี้ยงสัตว์ตามปกติวิสัยแล้ว เจ้าของสัตว์จะต้อง

– ควบคุมดูแลสัตว์ของตนมิให้ก่ออันตรายหรือเหตุรำคาญแก่ผู้อื่น เช่น ก่อให้เกิดเสียงดังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ 

– ให้เลี้ยงสัตว์ภายในสถานที่เลี้ยงสัตว์ของตน ไม่ปล่อยให้สัตว์อยู่นอกสถานที่เลี้ยงสัตว์โดยปราศจากการควบคุม กรณีเป็นสัตว์ดุร้ายจะต้องเลี้ยงในสถานที่หรือกรงที่บุคคลภายนอกเข้าไปไม่ถึงตัวสัตว์ และมีป้ายเตือนให้ระมัดระวัง โดยสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

– รักษาสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูล (อุจาระ ปัสสาวะ สิ่งโสโครก หรือสิ่งที่มีกลิ่นเหม็น) ให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนผู้ที่อยู่ใกล้เคียง

– จัดให้มีสถานที่เลี้ยงสัตว์ที่มั่นคงแข็งแรงตามความเหมาะสมแก่ประเภทและชนิดของสัตว์ โดยมีขนาด แสงสว่าง และการระบายอากาศที่เพียงพอ รวมทั้งมีระบบการระบายน้ำและกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ

– รักษาสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูล (อุจาระ ปัสสาวะ สิ่งโสโครก หรือสิ่งที่มีกลิ่นเหม็น) ให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนผู้ที่อยู่ใกล้เคียง

– จัดให้มีการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ เช่น การฉีดวัคซีน หากสงสัยว่าสัตว์ที่เลี้ยงนั้นเป็นโรคอันอาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพของบุคคลทั่วไป ให้เจ้าของสัตว์แยกกักสัตว์นั้นไว้ต่างหาก และแจ้งกองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย หรือสำนักงานเขตท้องที่ทราบ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

– เมื่อสัตว์ตายลง เจ้าของสัตว์จะต้องกำจัดซากสัตว์และมูลสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงหรือสัตว์นำโรค ด้วยวิธีที่ไม่ก่อเหตุรำคาญจากกลิ่น ควัน และการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ

ซึ่งข้อบัญญัติเรื่องการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้านสามารถแตกต่างกันได้ ตามการกำหนดของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่ข้อที่มักจะมีเหมือนกันคือ “การควบคุมดูแลสัตว์ของตนมิให้ก่ออันตรายหรือเหตุรำคาญแก่ผู้อื่น” อันเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต

กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่เยอะ และมีการเลี้ยงสุนัขในหมู่บ้านกันเยอะมากเช่นกัน เมื่อปี 2548 จึงได้มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ขึ้น ซึ่งเป็นข้อบัญญัติเพื่อควบคุมดูแลผู้เลี้ยงสุนัขในบ้านโดยเฉพาะ ผู้เลี้ยงสุนัขในเมืองกรุงต้องห้ามพลาดกฎหมายนี้เลยนะ เพราะมีข้อบัญญัติที่เพิ่มเติมมาจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2545 หลายข้อ อาทิ 

  1. ข้อ 16 ในการเลี้ยงสุนัข เจ้าของสุนัขต้องควบคุมสุนัขมิให้ออกนอกสถานที่เลี้ยงโดยปราศจากการควบคุม
  2. ข้อ 20 ผู้ใดนำสุนัขออกนอกสถานที่เลี้ยง ต้องพกบัตรประจำตัวสุนัขและแสดงบัตรเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ รวมถึงผูกสายจูงสุนัขที่แข็งแรง และจับสายลากจูงตลอดเวลา ในกรณีที่เป็นสุนัขควบคุมพิเศษ เช่น พิทบูลเทอเรีย บูลเทอเรีย สเตฟฟอร์ดเชอร์บูลเทอเรีย รอทไวเลอร์ ต้องใส่อุปกรณ์ครอบปากและจับสายลากจูงห่างจากตัวสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา
  3. ข้อ 18 เจ้าของสุนัขมีหน้าที่กำจัดสิ่งปฏิกูลอันเกิดจากสุนัขในที่หรือทางสาธารณะ หรืออื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานครโดยทันที

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าสุนัขของเราไม่ได้น่ารักสำหรับคนอื่น ดังนั้นการเลี้ยงสุนัข ควรเลี้ยงในพื้นที่ของตนเอง ไม่ปล่อยให้หลุดไปทำความเดือดร้อนให้ใคร หรือเมื่อไหร่ที่อยากพาสุนัขออกไปเดินเล่น ก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของเพื่อนบ้านเป็นสำคัญ เพราะการที่สุนัขไม่เคยกัดเรา อาจไม่ได้แปลว่าจะไม่กัดผู้อื่น เพื่อนบ้านที่คุ้นตาเรา อาจเป็นคนแปลกหน้าสำหรับสุนัขก็ได้ ถ้าการที่เราพาสุนัขออกไปเดินเล่นแล้วทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือได้รับบาดเจ็บ นอกจากจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทแล้ว เจ้าของสุนัขยังมีความผิดตามกฎหมายด้วย

โดยความผิดทางอาญา มีการกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายอาญา คือ

  1. มาตรา 377 กำหนดไว้ว่า หากผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  2. มาตรา 394 ผู้ใดไล่ ต้อน หรือทำให้สัตว์ใด ๆ เข้าในสวน ไร่ หรือนา ของผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธุ์ไว้ หรือมีพืชพันธุ์หรือผลผลิตอยู่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. มาตรา 395 ผู้ใดควบคุมสัตว์ใด ๆ ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเข้าสวน ไร่ หรือนาของผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธุ์ไว้ หรือมีพืชพันธุ์หรือผลผลิตอยู่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
  4. มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  5. มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  6. มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ซึ่งนิยามของคำว่า การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทั้ง ๆ ที่สามารถใช้ความระมัดระวังได้ การปิดรั้วบ้านไม่ดีจนสุนัขหลุดออกไป หรือการพาสุนัขไปเดินเล่นแล้วสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น จึงเข้าเงื่อนไขการกระทำโดยประมาท

ส่วนความผิดด้านแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีผลต่อการเรียกค่าเสียหาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็มีบทลงโทษเช่นกัน อาทิ

  1. มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น ซึ่งบุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้

เห็นไหมว่าการเลี้ยงสุนัขในหมู่บ้าน หรือการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้าน นอกจากความพร้อมด้านทุนทรัพย์แล้ว เรื่องความรู้ด้านกฎหมายก็ต้องพร้อมด้วย  Dot Property มั่นใจว่า หากเจ้าของสุนัขหรือผู้ที่กำลังจะทำการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้านรู้กฎหมายเหล่านี้ จะทำให้สุนัขของคุณเป็นที่รักของเพื่อนบ้านแน่นอน 

………………

ที่มา

  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00046318.PDF
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search_result.jsp?SID=DF77CE4959E5952C5C42005D8A00D52B#
  3. http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER17/DRAWER002/GENERAL/DATA0001/00001422.PDF
  4. https://library2.parliament.go.th/library/content_law/15.pdf
  5. http://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=443287&ext=pdf
  6. http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%BB53/%BB53-20-2557-a0001.htm
  7. http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C316/%C316-20-9999-update.htm
  8. http://one.bangkok.go.th/info/bmainfo/law/031/dog_48.pdf