คลังเตรียมชงรัฐบาลอนุมัติ ลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองบ้านเหลือ 0.01% ของราคาประเมิน เป็นระยะเวลา 6 เดือน หวังช่วยธุรกิจอสังหาฯที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมสินเชื่อของแบงก์ชาติ ทำให้มียอดค้างสต็อกเหลือจำนวนมาก
ลดค่าธรรมเนียมโอน และ จดจำนองบ้านเหลือ 0.01%
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้กระทรวงการคลังหามาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้านจัดสรร หลังจากได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแล สินเชื่อ ที่อยู่อาศัย(LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไร และ มีมาตรการไหนที่รัฐบาลจะพอช่วยเหลือได้ โดยการช่วยเหลือดูเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ คงไม่ช่วยในกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์อยู่แล้ว และถ้าช่วยเหลือจะเน้นในกลุ่มที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองหรือบ้านหลังแรก
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเผยว่า มาตรการที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีน่าจะมีลักษณะเดียวกับการช่วยเหลือในกลุ่มบ้านเอื้ออาทร คือ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองของกระทรวงมหาดไทยเหลือ 0.01% จากเดิมค่าธรรมเนียมการโอนต้องเสียในอัตรา 2%ของราคาประเมิน และค่าธรรมเนียมการจดจำนองต้องเสีย 1% ของราคาประเมิน แต่จะขยายราคาบ้านที่เข้าข่ายได้รับการลดค่าธรรมเนียมให้สูงขึ้นไม่เกิน 3 ล้านบาท จากเดิมในกลุ่มบ้านเอื้ออาทรกำหนดราคาบ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท
UPDATE…!!! รัฐสั่ง ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองบ้านเหลือ 0.01%
ช่วยกลุ่มประชาชนชั้นกลางถึงชั้นล่าง
ทั้งนี้ การกำหนด ราคาบ้านและคอนโดมิเนียม ไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือในกลุ่มประชาชนชั้นกลางถึงชั้นล่างที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งคาดว่า การลดภาษีการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% นี้น่าจะช่วยลดภาระของคนในกลุ่มในการซื้อบ้าน จากเดิมถ้าบ้านราคา 1 ล้านบาทต้องเสียค่าจดจำนองและค่าโอนประมาณ 3 หมื่นบาท จะเหลือแค่ 200 บาทเท่านั้น
“จากสถิติการลดภาษีการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ในอดีตทีผ่านมาช่วยกระตุ้นยอดขายของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์พอสมควร ดังนั้น คาดว่ามาตรการนี้นำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งจะมีผลทำให้ยอดขายกลุ่มสังหาริมทรัพย์ดีขึ้น และน่าจะช่วยลดภาระให้กลุ่มคนที่ต้องการมีบ้านได้พอสมควร โดยคาดว่าจะสามารถเสนอครม.ภายในต.ค.นี้ และ มีผลหลังจากประกาศของกระทรวงมหาดไทย”แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับระยะเวลาของมาตรการนั้น เบื้องต้นเราจะกำหนดระยะเวลาการช่วยเหลือไว้ไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งการกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่บ่นว่าสต็อกเหลือจำนวนมาก