วอน กทม. ทบทวน ชี้เลิก บีอาร์ที คือ “ถอยหลังตกคลอง” ยันขาดทุนเรื่องปกติ

BRT,ขสมก.,บีอาร์ที
BRT,ขสมก.,บีอาร์ที
BRT,ขสมก.,บีอาร์ที
BRT,ขสมก.,บีอาร์ที

น่าเสียดายที่ กทม.ยกเลิก บีอาร์ที ในขณะที่ กทม.ได้รับรายได้จากค่าโดยสารเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา กทม.ได้ปรับอัตราค่าโดยสารจากเดิม 5 บาทตลอดสาย เป็นการเก็บตามโซนหรือพื้นที่โดยมีค่าโดยสาร 2 อัตรา คือ 5 บาท และ 10 บาท นั่นคือหากเดินทางภายในโซนที่กำหนดจะต้องจ่าย 5 บาท และหากเดินทางข้ามโซนจะต้องจ่าย 10 บาท ผลปรากฏว่า กทม.สามารถเก็บค่าโดยสารได้เพิ่มขึ้นถึง 27% ทำให้การขาดทุนลดลง

ก่อนหน้านี้คือเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ผมได้โพสต์บทความเรื่อง “บีอาร์ที บทเรียนที่ กทม.ไม่อยากเรียน” โดยได้เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงบีอาร์ทีไว้หลายประการ และต่อมาเมื่อ กทม.มีอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ว่าฯกทม. และรองผู้ว่าฯกทม. ผมก็แอบดีใจว่าท่านคงจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับตำรวจจราจรมาช่วยในการบริหารจัดการเดินรถบีอาร์ทีให้มีประสิทธิภาพ เช่น เข้มงวดกวดขันไม่ให้รถอื่นเข้าวิ่งในเลนบีอาร์ที และให้บีอาร์ทีวิ่งผ่านทางแยกก่อนรถอื่น เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บีอาร์ทีวิ่งได้เร็วขึ้น แต่สุดท้ายความดีใจของผมกลับกลายเป็นความเสียใจ และยิ่งเสียใจมากขึ้น เมื่อทราบว่า กทม.จะรื้อคอนกรีตกั้นเลนบีอาร์ทีออก แล้วคืนผิวจราจรให้ผู้ใช้รถใช้ถนน นั่นหมายความว่า ผู้ใช้รถส่วนตัวจะมีโอกาสได้ใช้ผิวจราจรมากขึ้น ปริมาณรถส่วนตัวก็จะเพิ่มมากขึ้น หากเรายังคงแก้ปัญหาจราจรโดยการลดโอกาสของผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งนับเป็นการ “ถอยหลังตกคลอง” การแก้ปัญหาจราจรก็จะไม่มีวันได้ผล

การยกเลิกบีอาร์ทีจะต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากหมดหนทางที่จะปรับปรุงบีอาร์ทีให้ดีขึ้นได้ แต่นี่ กทม.ได้ต่อสู้มาเพื่อลดการขาดทุนโดยการขึ้นค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลากว่า 4 เดือน ปรากฏว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น ขาดทุนน้อยลง กทม.เดินมาถูกทางแล้ว แต่ทำไมจึงหยุดเดิน หาก กทม.ต่อสู้ต่อไปโดยการยกระดับคุณภาพในการให้บริการ เช่น มี Wifi ในรถ ที่สถานีมีป้ายบอกเวลาว่ารถบีอาร์ทีคันต่อไปจะมาถึงเมื่อไหร่ ใช้ตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าได้ทุกสาย รวมทั้งมาตรการที่ผมได้เสนอไว้ข้างต้น ผมมั่นใจว่าจะมีผู้โดยสารและรายได้เพิ่มขึ้น การขาดทุนก็จะลดลง

การยกเลิกบีอาร์ทีเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดของ กทม.เพื่อป้องกันปัญหาที่ กทม.เกรงว่าจะมาถึงตัวผู้รับผิดชอบหากไม่ยกเลิก แต่จะเป็นทางเลือกที่ยากที่สุดของหน่วยงานอื่นที่ต้องการจะประยุกต์ใช้บีอาร์ทีในหัวเมืองหลักในภูมิภาค ดังนั้น ต่อจากนี้ไป การแก้ปัญหาจราจรด้วยระบบขนส่งมวลชนจะมุ่งไปที่รถไฟฟ้าเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด มีประชากรมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ทำให้เป็นการลงทุนมากเกินตัว พูดได้ว่าเป็นการ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน”

ด้วยเหตุนี้ ก่อนถึงวันที่ 30 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการให้บริการบีอาร์ที ผมอยากขอให้ กทม.พิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง หาก กทม.มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงบีอาร์ที ผมมั่นใจว่า กทม.จะสามารถลดการขาดทุนได้แน่ เพราะ กทม.มีผู้โดยสารอยู่ในมือแล้วถึงวันละกว่า 20,000 คน เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเพิ่มผู้โดยสาร และ/หรือเพิ่มรายได้ หาก กทม.ไม่ถอดใจ

แต่ถ้า กทม.ไม่อยากบริหารจัดการเดินรถบีอาร์ทีด้วยตนเอง กทม.ควรพิจารณาเปิดโอกาสให้เอกชนรับสัมปทานไปเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็ยังดีกว่ายกเลิก เพราะเป็นการใช้เงินลงทุนก่อสร้างบีอาร์ทีระยะทาง 15.9 กิโลเมตร จำนวน 2,009.7 ล้านบาท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คิดใหม่เถอะครับ เพื่อประโยชน์ของประชาชนของผู้ใช้บริการ และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมในการช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง ลดก๊าซเรือนกระจก และประหยัดเวลาการเดินทาง

ขอขอบคุณ  มติชนออนไลน์

อ่านหน้า 1

 

ต้องการซื้อ-เช่ !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่

ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย