ในตอนนี้ เป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังการประกาศลดค่าโอนจดจำนอง เหลือ 0.01% ตามนโยบายกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของทางภาครัฐ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ซื้อและผู้ประกอบการ รวมถึงเพิ่มความคล่องตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมให้เกิดขึ้น หลังมีการชะลอตัวอย่างมากในตลอดปี พ.ศ.2558 ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมด ส่งผลดีต่อผู้ที่มีความต้องการซื้ออสังหาฯ และที่อยู่อาศัย เนื่องด้วยการลดค่าจดจำนองจากอัตรา 2% มาอยู่ที่ 0.01% นั้น ถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อย เมื่อพิจารณาจากจำนวนที่ต้องส่งเพื่อจดจำนองก่อนส่งมอบในทางปฏิบัติปกติ
นำร่องนโยบายด้วยธนาคารอาคารสงเคราะห์ กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ลดค่าจดจำนอง และค่าธรรมเนียมโอน
Credits: Twitter ธนาคารอาคารสงเคราะห์
อย่างไรก็ตาม กับระยะทางอีก 6 เดือนถัดจากนี้ ที่มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ กับค่าจดจำนอง 0.01% จะมีผลบังคับใช้ จนถึงประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.2559 ที่จะถึงนี้ ยังคงมีอีกหลายสิ่งที่เรา ในฐานะผู้ซื้อ จะต้องเฝ้าระวังและจับตามองในความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ถี่ถ้วนกันอีกสักนิดหนึ่ง
//ประโยชน์สำหรับผู้มีความพร้อม
อันที่จริงแล้ว นโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการลดค่าธรรมเนียมโอนและค่าจดจำนองจากทางภาครัฐนั้น แม้จะค่อนข้างมีความครอบคลุมอสังหาฯ ด้านต่างๆ แต่ต้องไม่ลืมความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ยังคงมีเงื่อนไขของมูลค่าอสังหาฯ ในราคาที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นตัวกันชน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นมูลค่าที่ไม่มาก แต่ด้วยราคาของต้นทุนในการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี มันก็ดูจะเป็นการยากสำหรับผู้ที่ยังไม่มีความพร้อมเพื่อขอสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย (แม้จะในอัตราที่ต่ำที่สุดก็ตาม) เช่นนั้น ก็อยากจะให้มองนโยบายดังกล่าวเป็นส่วนเสริม แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักในการตัดสินใจ และการตัดสินใจเพียงเพราะส่วนลด อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีในระยะยาวมากนัก
//เมื่อธนาคารพาณิชย์ ‘ไม่เล่นด้วย’
ธนาคารกรุงไทย คือหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ ที่ยืนยันในแนวทางสินเชื่อสำหรับทุกระดับ โดยพิจารณาจากความสามารถในการผ่อนชำระเป็นสำคัญ
Credits: gpf.or.th
สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ตามนโยบายของภาครัฐ ที่เริ่มปล่อยให้ประชาชนทั่วไปที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์หรือ ธอส. นั้น ไม่ใช่มาตรการที่ถูกบังคับใช้ในธนาคารพาณิชย์อื่นๆ โดยทั้งหมด ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ เช่น ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทย ต่างก็ยืนยันว่า ไม่คิดที่จะไปแข่งในสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่จะยังคงยืนยันการปล่อยสินเชื่อสำหรับทุกระดับ โดยพิจารณาจากขีดความสามารถในการจ่ายชำระเป็นเกณฑ์ และตัวเลขของการปฏิเสธสินเชื่อในปี พ.ศ.2558 ที่สูงถึง 30% นั้น ก็อาจจะเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องใช้มากกว่าการลดค่าธรรมเนียมโอนและค่าจดจำนองดังกล่าว
//สภาพเศรษฐกิจโดยรวม
เพราะอสังหาริมทรัพย์ เป็นเพียงหนึ่งในดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายด้านอื่นๆ จึงต้องถูกนำมาพิจารณาประกอบกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Credits: whatsad.asia
ปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา คงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นปีที่ดีสำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม แต่ในปี พ.ศ.2559 ที่จะมาถึงนั้น น่าจะเป็นวาระที่หนักหน่วงต่อยอดจากปัญหาเดิมขึ้นไปอีกขั้น ไม่ว่าจะทั้งรายงานของยอดจองอสังหาฯ จากผู้ประกอบการที่ยังไม่ถึงเป้า (ที่มุ่งจะเก็บตกในปีถัดไป) ก็ดี หรือสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่สู้จะคล่องตัวมากนัก จนถึงปัญหาทางด้านสังคมที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในภาพรวม มันไม่มีอะไรที่จะรับประกันได้ว่า นโยบายอสังหาฯ จากภาครัฐในอีกหกเดือนข้างหน้า จะให้ผลทางบวก หรือช่วยกอบกู้ทุกสิ่งให้คืนมาได้ในทันที เราคงจะต้องรอความชัดเจนทางนโยบายอื่นๆ ที่จะตามมาในช่วงไตรมาสแรกกันอีกครั้ง
//6 เดือนนับจากวันนี้
กล่าวโดยสรุป แม้จะไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า นโยบายกระตุ้นอสังหาฯ และการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 นั้น จะนำไปสู่ปลายทางแบบใด แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างมั่นใจนั้น คือการเคลื่อนไหวของแวดวงที่เริ่มมีสภาพคล่องในช่วงต้น ที่อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีถึงการฟื้นตัวที่จะมาถึงในปี 2559 ที่จะถึงนี้ก็เป็นได้