“พาณิชย์” เผยดัชนีราคา วัสดุก่อสร้าง เดือน มิ.ย.61 เพิ่มขึ้น 4.4% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 55 เหตุความต้องการใช้เพิ่มจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล หุ้นกลุ่มรับเหมาฯ จับตาการลงทุนครึ่งปีหลัง
เพราะอะไร วัสดุก่อสร้าง ราคาถึงขึ้นได้ขึ้นได้ขนาดนี้
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและ ยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาวัสดุก่อสร้างในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากความต้องการใช้ที่มากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ รวมถึงราคาวัตถุดิบและราคานำเข้าที่สูงขึ้น
โดยล่าสุดดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิ.ย.2561 เท่ากับ 108.1 เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.2560 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และเพิ่มสูงสุดในรอบ 6 ปี นับจากเดือน มิ.ย.2555 ที่เพิ่มขึ้น 4.5% และเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.2561 เพิ่มขึ้น 0.7% ขณะที่ดัชนีเฉลี่ย 6 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 3.2%
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน มิ.ย.2561 ที่สูงขึ้นถึง 4.4% เป็นเพราะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์ (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย, เหล็กรูป ตัวซี, เหล็กฉาก, เหล็กรูปตัวไอ, เหล็กรูปตัวเอช, เหล็กรางน้ำ, ลวด เหล็กเสริมคอนกรีต) เพิ่มขึ้น 15.5% จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทั้งแร่ เหล็ก บิลเล็ต (เหล็กแท่ง)
และ เศษเหล็ก และหมวดซีเมนต์ (ปูน ซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ขาว) เพิ่มขึ้น 3.6% จากการปรับราคาสู่ภาวะปกติ เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ผลิตให้ส่วนลดสูงเพื่อเพิ่มยอดจำหน่าย ประกอบกับต้นทุนสูงขึ้นตามราคาถ่านหิน
นอกจากนี้ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้น-คานคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ชีทไพล์คอน กรีต) เพิ่มขึ้น 1.8% ตามราคาปูน ซีเมนต์และลวดเหล็กอัดแรง ขณะที่หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ (ทรายถมที่ ดินถมที่ ดินลูกรัง หินคลุก ทรายหยาบ ทรายละเอียด หินย่อย อิฐมอญ) เพิ่มขึ้น 2.3%
ส่วนหมวดกระเบื้อง เพิ่มขึ้น 0.5% จากความต้องการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 0.3% จากไม้นำเข้าที่ปรับราคาขึ้น แต่หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลง 0.4% และ 0.6% ตามลำดับ ขณะที่หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาไม่เปลี่ยน แปลง
“แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากโครงการก่อสร้างภาครัฐที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเร่งก่อสร้างโครงการต่างๆ เพื่อให้ทันเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2561
และยังมีความคาดหวังจากการเดินหน้าของภาครัฐในการลงทุนโครงการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกจำนวนมาก ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้าสาย สีต่างๆ โครงการพัฒนาถนน ท่า เรือ ท่าอากาศยาน และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
พ.ร.บ. ซื้อจัดจ้าง และ วินัยการเงินการคลัง ฉบับใหม่ ทำพิษ
ด้านนายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. เอเซีย พลัส เปิดเผยถึงแนวโน้มหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างว่า ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ทำให้การเปิดประมูลการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในปีนี้อาจล่าช้าออกไป และมีแนวโน้มปรับลดลงเหลือ 470,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ 800,000 ล้านบาท
เนื่องจากทั้ง 2 กฎหมาย มีขั้นตอนปฏิบัติงานของหน่วยราชการที่มีความยุ่งยาก และปัญหาเกี่ยวกับแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการ รวมถึงการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง
“การลงทุนโครงการขนาดใหญ่จากภาครัฐ ถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยช่วงครึ่งปีแรกแทบจะไม่เห็นความคืบหน้าของงานประมูลออกมามากนัก เนื่องจากมีหลายสาเหตุที่เกิดขึ้น ทั้งข้อกฎหมาย รูปแบบการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เพื่อลดขั้นตอนการใช้งบประมาณภาครัฐ
แต่เชื่อว่าภาครัฐจะเร่งผลักดันงานประมูลต่างๆ ให้ออกมามากที่สุด ก่อนที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะจัดเลือกตั้งทั่วไปในต้นปี 62 เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ทางด่วนดาวคะนองพระราม 3, งานบำรุงรักษามอเตอร์ เวย์บางปะอิน-โคราช และบาง ใหญ่-กาญจนบุรี เป็นต้น” นายประสิทธิ์กล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์