เดินหน้าจัดเต็ม…!! สมคิด มอบนโยบายอีอีซี 3 ด้าน ขีดเส้นครึ่งแรกปีนี้ประมูลจบทุกโครงการ เร่ง สมาร์ทซิตี้สร้างเมืองใหม่ เล็งฉะเชิงเทราเปิด “พีพีพี” ปีนี้ สั่งบีโอไอหนุนลงทุน จ่อแก้กฎหมาย ยก สกพอ.คุมเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งประเทศ “คณิศ” ชี้ บาทแข็งหนุนลงทุนภาคเอกชน
สมคิด เร่งสมาร์ทซิตี้ อีอีซี ประเดิมประมูล แปดริ้วเป็นที่แรก
นายสมคิด จาตุศรีฟพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในการขับเคลื่อน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ให้ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้อีอีซี สร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและเกิดความ เชื่อมั่นให้ผู้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในภาวะที่โลกเผชิญความไม่แน่นอนและการเมืองในประเทศมีลักษณะแบบปัจจุบัน สำหรับเรื่องสำคัญที่มอบหมายนโยบายให้ สกพอ.มี 3 ข้อสำคัญ คือ
เร่งลงทุนสมาร์ทซิตี้
1.เร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลัก 5 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาท ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งต้องได้ผู้ลงทุนภายในครึ่งแรกปี 2563 และโครงการใดที่คัดเลือกเอกชนได้แล้วให้เตรียมก่อสร้างทันที ส่วน MRO ที่ล่าช้าได้มอบหมายให้นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการต่างประเทศ สกพอ.หารือกับบริษัทแอร์บัส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะเป็นผู้ร่วมลงทุนกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เร่งตัดสินใจลงทุนภายใน 3 เดือน ซึ่งหากล่าช้าให้พิจารณาเปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นลงทุนด้วย เพราะรัฐบาลต้องการเร่งรัดให้เกิดขึ้นในอีอีซีโดยเร็ว
2.การดำเนินการเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่อยากเร่งรัดให้เกิดขึ้น โดยพื้นที่แรกคือในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งรถไฟความเร็วสูงจะเชื่อมโยงการเดินทางจากพื้นที่ดังกล่าวมายังกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดใน อีอีซี โดยโครงการนี้จะผลักดันเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ที่สามารถจะเปิดประมูลโครงการได้ภายในปี 2563 เนื่องจากมีภาคเอกชนที่สนใจที่จะลงทุนอยู่แล้ว
“หาก สกพอ.ทำให้มีความชัดเจนในเรื่องของรูปแบบการพัฒนาเมือง มาตรการส่งเสริมการลงทุน นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และดูในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมามีภาคเอกชนเสนอว่าอยากจะเข้ามาลงทุนสร้างสมาร์ทซิตี้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งก็อยากดูว่า สกพอ.มีแผนที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ก็ขอให้รีบทำเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการลงทุน ซึ่งน่าจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้”
3.เร่งรัดการพัฒนาและลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งแม้หลายกระทรวงดูแลแต่ต้องทำงานให้เกิดรูปธรรมไม่เช่นนั้นจะยุบรวมเข้ามาร่วมกัน
ศึกษาแก้ พ.ร.บ.อีอีซี
รวมทั้ง การพัฒนานวัตกรรม ภาคอุตสาหกรรมในอีอีซีต้องเชื่อมการ ยกระดับรายได้ ลดความยากจนของ เอสเอ็มอีและผู้มีรายได้น้อยในอีอีซี โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องมีส่วนร่วม รวมทั้งใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันวงเงิน 10,000 ล้านบาท ไม่เช่นนั้นจะหาวิธีโยกเงินส่วนนี้ไปให้กับกระทรวงการคลังไปทำนโยบายเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีแผนที่จะทำร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ในการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงภาคเกษตร นอกจากนี้ รัฐบาลจะเดินหน้าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพจึงมอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาแก้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้รองรับการพัฒนาเชิงพื้นที่อื่นได้ ทั้งนี้ สกพอ.อาจยกระดับเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนา พิเศษ และมีคณะกรรมการย่อยดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคใต้ เพื่อใช้อีอีซีเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่อื่น
ลุ้นศาลพิพากษาอู่ตะเภา
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า ภายในไตรมาส 1 ปีนี้ โครงสร้างพื้นฐานจะได้ผู้ร่วมลงทุนครบ ซึ่งสนามบินพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คาดว่าศาลปกครองสูงสุดจะนัดอ่านคำพิพากษาภายในเดือน ม.ค.นี้ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ศาลปกครองให้ดำเนินการตามขั้นตอนการประมูล และท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 จะเริ่มถมทะเลไตรมาส 2 ปีนี้ และรถไฟความเร็วสูงได้หารือกับผู้ชนะประมูลว่า ระยะรอส่งมอบพื้นที่ให้ช่วยแก้ปัญหาการเดินรถที่แออัดและรถขาดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน สำหรับ MRO จะลงนามระหว่าง แอร์บัสและการบินไทยไตรมาส 2 ปีนี้ โครงการนี้มีพื้นที่ 500 ไร่ โดยการบินไทยและแอร์บัสจะลงทุน 200 ไร่ ที่เหลือมีเอกชนสนใจ เช่น แอร์เอเชีย
บาทแข็งหนุนลงทุน”อีอีซี”
นายคณิศ กล่าวว่า สถานการณ์ ค่าเงินบาทแข็งค่าอาจกระทบการตัดสินใจ มาลงทุนในอีอีซีเล็กน้อย เพราะผู้มาลงทุน ในอีอีซีหวังที่เป็นฐานการผลิตเพื่อ ส่งออกสินค้า แต่คาดว่าการลงทุนในอีอีซีปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย 3 แสนล้านบาท มาจากการลงทุนของภาคเอกชน 1 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าเป็นโอกาสดีที่เอกชนจะนำเข้าสินค้า โดยใช้เงินดอลลาร์ในประเทศที่มีมากสั่งซื้อสินค้าทุน ซึ่งได้หารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง เพื่อส่งเสริมเอกชนที่ จะนำเข้าสินค้าทุน เช่น วัสดุโครงการรถไฟไทย-จีน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะสนับสนุนใช้เงินดอลลาร์ไปนำเข้าก็จะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
“ได้คุยกับ ธปท.เป้าหมาย คือ ไม่อยากให้เงินบาทหลุดระดับ 30 บาท ก็ต้องใช้วิธีแบบนี้ให้มีการลงทุน ซึ่งต่อไปถ้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีเสร็จแล้ว ปัญหาค่าเงินบาทไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะถึงวันนั้นถ้าเงินบาทแข็งค่า ก็มาจากศักยภาพเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น”
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ