“บาเนีย” แจง ผลสำรวจคนซื้อบ้านผ่านสื่อสังคมออนไลน์ พบกังวลเรื่องขอสินเชื่ออันดับหนึ่ง หลังแบงก์เข้มปล่อย สินเชื่อบ้าน ราคาบ้านพุ่ง พร้อมเปิดบริการ วิเคราะห์ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ เจาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
นายวีรวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท บาเนีย(ประเทศไทย)จำกัด บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาเกี่ยวกับ Big Data ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในรูปแบบ Comprehensive Marketplace และ Data Platform รายแรกของไทย กล่าวว่า
บริษัทได้ เปิดบริการ Baania Pulse ซึ่งเป็น Deep Social Analytics Platform ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ อย่างเป็นทางการ โดยการพัฒนา Unstructured Data ที่มีอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ มาจัดการอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์โดยทีม Data Siencetist และ Data Analytics ทำให้ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ร่วมกับ Structured Data มีความครบถ้วน ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันการสื่อสารบนสื่อสังคมออนไลน์มีมากกว่า 10 ล้านคอมเมนต์ต่อวัน ซึ่งถือเป็นUnstructured Dataที่มีอยู่อย่างมหาศาล แต่เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถจัดการข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นหมวดหมู่และนำมาวิเคราะห์เจาะลึกเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ซึ่ง Baania Pluse เป็นเครื่องมือที่ทำให้การเข้าถึง ผู้บริโภคในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเรื่องง่าย ในเวลาอันสั้น โดยใช้เทคโนโลยีที่ผสมผสานหลายศาสตร์ รวมถึงใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อปรับกระบวนการการทำKeyword Optimizationให้ได้ข้อมูลเชิงลึก ในด้านพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค”
นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า Baania Pulse ได้ตรวจสอบพฤติกรรมการ โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและขายที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมในรอบ3เดือนที่ผ่านมา สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า กลุ่มคนที่โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการซื้อบ้านมีข้อความกังวลในเรื่องของการขอสินเชื่อ
ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นได้ในอนาคต ประกอบกับ ภาระหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ถูกปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อได้
นอกจากนี้ เรื่องของราคาบ้านที่สูงเกินไปเป็นอีกข้อกังวลที่ถูกพูดถึงกันมากในสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากที่ผ่านมา ราคาบ้านปรับตัว สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากต้นทุนที่ดินที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ค่าครองชีพของประชาชนทั่วไปปรับขึ้นน้อย ทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลงในภาวะที่ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ