DotProperty.co.th

สิ่งที่ต้องรู้!!! ถ้าจะ กู้ร่วมซื้อบ้าน …

กู้ร่วม,กู้ร่วมซื้อบ้าน,กู้ซื้อบ้าน,สินเชื่อบ้าน,ขอสินเชื่อ,ลดหย่อนภาษี

ต้องรู้ก่อนถ้าจะ กู้ร่วมซื้อบ้าน By K-Expert

“อยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่ง” เชื่อว่าเป็นความฝันที่ทุกคนมีเหมือนๆ กัน ซึ่งปัจจุบันเราสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอเก็บเป็นเงินก้อนใหญ่ก็สามารถกู้เงินซื้อบ้านได้ โดยผู้ที่มีฐานรายได้สูงอาจทำเรื่องกู้บ้านเพียงคนเดียวก็ผ่าน แต่ผู้ที่มีรายได้ไม่สูงนัก หรือมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นมากทำให้มีความสามารถในการผ่อนชำระค่าบ้านลดลง หากยังต้องการซื้อบ้าน เพื่อให้สามารถกู้ผ่าน ก็จะต้องหาผู้กู้ร่วม ทั้งนี้ การกู้ร่วมนั้นมีประเด็นสำคัญๆ ที่ควรคำนึงถึง 3 เรื่องด้วยกัน

กู้ร่วม,กู้ซื้อบ้าน,สินเชื่อบ้าน,ขอสินเชื่อ,ลดหย่อนภาษี

ผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน … เป็นใครได้บ้าง

แม้ว่าการกู้ร่วมจะเป็นทางออกที่ช่วยให้การกู้เงินซื้อบ้านง่ายขึ้น และได้วงเงินกู้เพิ่มขึ้น แต่ใช่ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้กู้ร่วมก็ได้ หรือกู้ร่วมกี่คนก็ได้ เนื่องจากธนาคารจะมีเงื่อนไขของการกู้ร่วมไว้ โดยทั่วไปกำหนดว่าผู้กู้ร่วม ต้องมีสายโลหิตเดียวกัน หรือมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่น

– ผู้ที่มีนามสกุลเดียวกัน อาจเป็นสามีภรรยา พี่น้อง พ่อ/แม่กับลูก รวมทั้งเป็นญาติกันโดยมีนามสกุลเดียวกัน
– พี่น้องท้องเดียวกันแต่คนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมกันได้ เพียงแต่แสดงทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรระบุว่าพ่อแม่เดียวกัน
– กรณีสมรสไม่จดทะเบียนก็แสดงหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายงานแต่ง การ์ดแต่ง หรือการมีบุตรร่วมกัน แต่กรณีผู้ที่เป็นแฟนกันเฉยๆ โดยทั่วไปมักจะกู้ร่วมไม่ได้

นอกจากนี้ ธนาคารอาจกำหนดจำนวนผู้กู้ร่วมไว้ เช่น กู้ร่วมได้ไม่เกิน 2 คน เป็นต้น สำหรับการอนุมัติสินเชื่อบ้านของการกู้ร่วม จะพิจารณารายได้ของทุกคน หักภาระค่าใช้จ่ายของทุกคนแล้วดูว่ามีความสามารถที่จะผ่อนได้ต่อเดือนเท่าไรแล้วพิจารณาวงเงินสินเชื่อกู้บ้าน

กรรมสิทธิ์ในอสังหาฯ … เป็นของคนเดียว หรือ หลายคน

แน่นอนว่ากรณีของการกู้เดี่ยว เมื่อผ่อนชำระสินเชื่อบ้านหมดแล้ว กรรมสิทธ์ในบ้านหลังนั้นจะเป็นของผู้กู้ สำหรับกรณีของการกู้ร่วมนั้น โดยทั่วไป การกู้ร่วมซื้อบ้านทำได้ 2 แบบ แบบแรกคือ การใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เวลากู้ยืมใช้หลายคนมากู้ร่วม และแบบที่สอง การกู้ร่วมโดยใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

ในทางปฏิบัติ ส่วนใหญ่แล้วผู้กู้จะเลือกแบบที่สอง เพราะผู้กู้ทุกคนมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหรืออสังหาฯ นั้นร่วมกัน แต่การถือกรรมสิทธิ์ร่วม มีเรื่องที่ต้องคำนึงคือ หากต้องการขายบ้านหรืออสังหาฯ นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคน หรือแม้กระทั่ง ต้องการยกกรรมสิทธิ์ในบ้านหรืออสังหาฯ ให้เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อยู่ในชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมนั้น กรมที่ดินจะถือว่า มีการซื้อขายบ้านหรืออสังหาฯ เกิดขึ้น ทำให้มีค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมถึงค่าอากรแสตมป์หรือภาษีธุรกิจเฉพาะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากดอกเบี้ยจ่าย … ลดหย่อนอย่างไร

ดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้บ้านสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีภาษี ดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้บ้านสามารถดูได้จากหนังสือรับรองดอกเบี้ยจ่ายที่สถาบันการเงินจะส่งมาให้ผู้กู้ตอนต้นปี กรณีของการกู้เดี่ยว การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยบ้านดังกล่าวจะเป็นของผู้กู้เพียงผู้เดียว จ่ายดอกเบี้ยทั้งปีเท่าไร ก็ลดหย่อนได้เท่านั้น แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เช่น ดอกเบี้ยจ่ายทั้งปี 80,000 บาท ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 80,000 บาท แต่หากดอกเบี้ยจ่ายทั้งปีอยู่ที่ 120,000 บาท ก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เพียง 100,000 บาท

สำหรับกรณีของการกู้ร่วม ให้หารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ กรณีกู้ร่วมสองคนก็คือหารครึ่งนั่นเอง สมมติจ่ายดอกเบี้ยทั้งปี 80,000 บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 40,000 บาท จะแบ่งเองว่าฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้

ทั้งนี้ มีข้อควรทราบเกี่ยวกับการใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยสำหรับการกู้ร่วมคือ สมมติว่ากู้ร่วมกันสองคน ปรากฏว่าทั้งปีจ่ายดอกเบี้ยไป 140,000 บาท ไม่ใช่ว่า จะสามารถหารครึ่งแล้วใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคนละ 70,000 บาท เนื่องจากสัญญาเงินกู้บ้านนั้นจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เพียง 100,000 บาท นั่นคือ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้จะสังเกตได้ว่าแต่ละฝ่ายยังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยไม่เต็มสิทธิ 100,000 บาท ดังนั้น หากมีดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาฯ อื่น เช่น อาจกู้ไว้เองหรือกู้ร่วมกับคนอื่น ก็ยังสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มเติมสูงสุด 50,000 บาท

กรณีที่ต้องการซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย แต่กู้คนเดียวไม่ผ่านหรือรายได้ไม่พอ การกู้ร่วมเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาที่นิยมเลือกใช้ ทั้งนี้ ก่อนจะกู้ซื้อบ้าน ต้องคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระ ซึ่งตามเกณฑ์คือยอดผ่อนชำระไม่เกิน 40% ของรายได้ และควรมีเงินก้อนเผื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ ค่าธรรมเนียมการโอน คิดที่ 2% ของราคาประเมิน (ขึ้นอยู่กับว่าผู้ซื้อ หรือผู้ขายจะเป็นผู้ออก หรือแบ่งครึ่งกัน) รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าส่วนกลางกรณีซื้อบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรร หรือค่าเฟอร์นิเจอร์ ค่าตกแต่งบ้านต่างๆ จะต้องวางแผนการเงินให้รอบคอบ เพื่อชีวิตจะได้มีความสุข

กรณีกู้ร่วม แต่ต้องผ่อนบ้านลำพังเพียงคนเดียว อย่าลืมคำนวณว่ารายได้เพียงพอกับค่าผ่อนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละเดือนหรือไม่ คำนวณเงินสำหรับดาวน์บ้านอย่างน้อย 10-20% ของมูลค่าบ้าน ถ้ายังมีไม่เพียงพอ จะได้เก็บออมเงินเพิ่มเติม ผู้กู้ร่วมทุกคนควรทำประกันคุ้มครองภาระหนี้สิน เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นแก่ฝ่ายหนึ่ง การผ่อนบ้านจะได้ไม่เป็นภาระของอีกฝ่ายทั้งหมด

ขอขอบคุณบทความและรุูปจาก คุณ นิชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP® ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

                                                                                                                                           

Dot Property เว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ซื้อ-ขาย อย่างมืออาชีพ…

ท่านต้องการขายอสังหาริมทรัพย์อยู่หรือไม่ ลงประกาศขายกับ Dot Property ฟรี!!! ไม่มีค่าใช้จ่าย ลงประกาศง่าย ขายได้ไว
หรือหากท่านกำลังมองหา คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน เว็บไซต์ Dot Property มีให้ท่านเลือกมากกว่า 300,000 รายการ ได้ตรงตามความต้องการ ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย