จากข่าวของนโยบายจากรัฐบาลที่เตรียมเปิดทางให้ “เศรษฐี-นักลงทุนต่างชาติ” ซื้ออสังหาฯ “คอนโดฯ-บ้านแนวราบ” ทั้งอนุญาตให้ซื้อบ้านจัดสรรในราคา 10-15 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดให้นักลงทุนต่างชาติทำสัญญาเช่าได้สูงสุด 30 ปี จะมีการขยายเพิ่มเป็น 50 ปี และต่อได้อีก 40 ปี และขยายสิทธิซื้อคอนโดมิเนียม และถือครองกรรมสิทธิ์เป็น 78-80% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรายได้จากแหล่งใหม่
รวมถึงเป็นการดึงชาวต่างชาติที่มีความสามารถเข้ามาอยู่ในประเทศเพื่อถ่ายทอดทักษะต่างๆ โดยมุ่งเน้นกลุ่มชาวต่างชาติที่เกษียณอายุแล้วให้มาพำนักระยะยาวในประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการใช้จ่ายเงินสูงจากเงินบำนาญ เงินเก็บออม และประกันสุขภาพจากรัฐสวัสดิการ รวมถึง กลุ่มที่ต้องการเข้ามาซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สิน กลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศ (อ่านสรุปฉบับเต็มได้ที่ เปิดให้ต่างชาติซื้ออสังหาเพื่ออะไร? นโยบายนี้เป็นอย่างไร [อ่านสรุปที่นี่])
สรุปภาพรวมการซื้ออสังหาฯ ของชาวต่างชาติในประเทศไทย
ในประเด็นนี้ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมทั้งประเทศการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในช่วงปี 2561-2563 มียอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด 3 ปี สะสมรวมประมาณ 34,651 หน่วย หรือ มูลค่า 145,577 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 11,550 หน่วย มูลค่า 48,526 ล้านบาท
และเมื่อพิจารณา 5 จังหวัดที่คนต่างชาติมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดสูงสุดถึง 96.2% ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั้งประเทศแล้ว พบว่า ภาพรวมสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั้งประเทศ ในช่วงปี 2561 – 2563 มีเพียงประมาณ 9.0% (มูลค่าเท่ากับ 14.7%) โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนสูงสุด คือ
- ชลบุรี 30.3%
- เชียงใหม่ 18.5%
- ภูเก็ต 17.0%
- กรุงเทพมหานคร 7.8%
- สมุทรปราการ 6.3%
สำหรับสัดส่วนในกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในมิติของราคาห้องชุด คนต่างชาติส่วนใหญ่ 77.6% มีหน่วยที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่มีสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพียง 7.7% ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งประเทศ ขณะที่ห้องชุดในราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งมีหน่วยที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รวมกันเพียง 22.4% กลับมีสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดสูงกว่า โดยมีประมาณ 20.0%
ซึ่งข้อมูลข้างต้นได้สะท้อนประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ
- ในช่วงที่ผ่านมาชาวต่างชาติมีความสนใจที่จะซื้อห้องชุดในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองศูนย์กลางทางภูมิภาค เมืองขนาดใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว
- ในภาพรวมอัตราส่วนหน่วยกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างชาติน่าจะยังต่ำกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่อาจมีอาคารชุดในบางพื้นที่อาจเป็นที่ต้องการของคนต่างชาติมาก จึงทำให้อัตราส่วนในกรรมสิทธิ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไม่เพียงพอ
- ห้องชุดที่คนต่างชาติซื้อส่วนใหญ่ซื้อในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของคนไทยส่วนใหญ่ แต่ด้วยห้องชุดประเภทนี้มีอุปทานในตลาดมากจึงทำให้ยังมีสัดส่วนหน่วยกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างชาติไม่ถึง 10% ขณะที่ระดับราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท มีสัดส่วนประมาณ 20% แต่โดยภาพรวมทุกระดับราคาของห้องชุดยังมีสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติยังต่ำกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ การขยายสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับคนต่างชาติให้สามารถมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ได้มากกว่า 49% นั้น อาจจะมีความจำเป็นเพียงในบางพื้นที่เท่านั้น และห้องชุดในระดับราคาที่ควรส่งเสริมให้เพิ่มสัดส่วนในหน่วยกรรมสิทธิ์ให้สูงขึ้นสำหรับคนต่างชาติในการซื้อห้องชุดให้สูงขึ้นควรเป็นห้องชุดระดับราคามากกว่า 5 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ห้องชุดระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทถูกซื้อไปโดยคนต่างชาติมากเกินควรด้วย
“คนจีน” ยังสนใจอสังหาฯ ไทยอยู่
จากข้อมูลในเว็บไซต์ Anjuke ในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า คนจีนที่จะซื้ออสังหาฯ ในต่างประเทศ ประเทศติดอันดับหนึ่ง คือ ญี่ปุ่น 51% อันดับสองไทย 17% อันดับสามสหรัฐอเมริกา 11% ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศแถบเพื่อนบ้านคนจีนสนใจซื้อแค่ 2% เท่านั้น เพราะอสังหาฯ สิงคโปร์ ราคาแพงขั้นต่ำราคา 25 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหากซื้อในระดับราคานี้สามารถซื้ออสังหาฯ ในอังกฤษ อเมริกาแล้วยังสามารถไปอยู่ที่ประเทศนั้นได้ หรือถ้าเป็นประเทศเวียดนามก็ยังติดปัญหาเรื่องรัฐบาลควบคุมอยู่พอสมควร ส่วนมาเลเซียอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาจึงเป็นข้อจำกัดสำหรับคนจีน ตรงนี้ทำให้ประเทศไทยขึ้นมากลายเป็นประเทศอันดับสองที่คนจีนสนใจเข้ามาซื้ออสังหาฯ
ขณะเดียวกันเมื่อเจาะลึกลงมาเฉพาะประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากคนจีนที่เข้ามาซื้ออสังหาฯ เป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 52% อันดับสอง ฟิลิปปินส์ 15% อันดับสามสิงคโปร์ 14% อันดับสี่ มาเลเซีย 11% อันดับห้าเวียดนาม 5% และอันดับหกพม่า 3%
และสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ทำให้ชาวจีนนิยมเข้ามาลงทุนอสังหาฯ ในเมืองไทยนั้น มี 2 กลุ่มหลัก คือ
- กลุ่มแรกเป็นการซื้อเพื่อลงทุนเหมือนการซื้อหุ้น
- กลุ่มที่สองเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองโดยเฉพาะคนที่มีฐานะ มักซื้อระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไปโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดภูเก็ต และพัทยา เพราะตามหลักฮวงจุ้ย ข้างหน้าต้องเป็นทะเล ข้างหลังต้องเป็นภูเขา เป็นโลเคชั่นที่เหมาะสำหรับการเป็นที่อยู่อาศัย ทำให้คนจีนนิยมลงทุนซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทยด้วย
ที่มา : https://www.reic.or.th/Upload/PressRelease210510_21165_1620706684_66829.pdf