อนุทิน ชาญวีรกูล หรือ “เสี่ยหนู” ได้ใช้ตัวตนที่มีความกล้า ทะลุกลางปล้อง นำเงื่อนตายทีโออาร์ ริบเงินประกันซอง 2,000 ล้านบาท เพื่อขึ้นแบล็กลิสต์ มาเป็นตัวเร่ง แลกกับความล่าช้าของการเซ็นสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง หลังเจรจามาแล้วหลายยก จนสุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกโรง เพื่อให้เมกะดีลที่ยื้อมานาน จบลงด้วยดี
อนุทิน พร้อมเดินเกม เขย่าสัมปทานสายสีส้ม ไม่ให้ช้าแบบไฮสปีด
สังคมเริ่มวิพากษ์มากขึ้น ทั้งด้านบวกและด้านลบ กรณีที่รองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน” แอ็กชั่นแรงกับโครงการไฮสปีดเจ้าสัว
ประเด็นหนึ่งที่ทับซ้อนกันอยู่ คือ บริษัทคู่แข่งของกลุ่ม ซี.พี. ที่ร่วมทุนกับพันธมิตรไทยและทั่วโลกนั้น คือ กลุ่ม BSR ซึ่งมี “บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชกรุ๊ป” ร่วมทุนในงานประมูลชิงโปรเจ็กต์ประวัติศาสตร์ด้วย
เนื่องจากตระกูล “ชาญวีรกูล” ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างชื่อ “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งเคยฝากผลงาน
ชิ้นเอกมาแล้วมูลค่า 7,000 ล้านบาท โดยสร้าง “อาคารสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์” ให้เจ้าสัว ซี.พี. ที่ปากช่อง นครราชสีมา
วันนี้ประเทศไทยกำลังเร่งสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ ด้วยมูลค่าแสน ๆ ล้านบาท ในรอบ 10 ปี จึงเป็นช่วงจังหวะของ 2 บิ๊กพรรคภูมิใจไทย ที่ร่วมรัฐบาล “ประยุทธ์” ต้องมี “ภารกิจใหม่” เพิ่ม
โดยเฉพาะการกำกับดูแลนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหัวใจหลัก ทั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เป็นหน่วยงานควบคุมทั้ง “ทางด่วน” และ “รถไฟฟ้า”
งานที่กำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง คือ การนำผลเจรจาขยายสัญญา 3 ทางด่วน รวมถึง “ทางด่วนขั้นที่ 2” ที่จะหมดสัญญา 28 ก.พ. 2563 ซึ่งบอร์ด กทพ.เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ว่าจะต่อสัญญา BEM (บริษัทในเครือ ช.การช่าง) อีก 30 ปีหรือไม่ เพื่อแลกการยุติข้อพิพาท คดีทางแข่งขันและค่าผ่านทาง มูลค่า 137,517 ล้านบาท
ล่าสุด กรณีนี้ถูกนำกลับมาพิจารณาใหม่ โดย ฯพณฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ได้อำนาจการดูแลหน่วยงาน กทพ.โดยตรง รวมถึงการแก้ปัญหาข้อพิพาททางด่วนด้วย
“จะตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และ BEM ใหม่ จะสรุปใน 1 เดือน จากเดิมเป็นสมมุติฐานเดิมที่ให้ กทพ.เจรจากับ BEM เพราะมองว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มว่า กทพ.จะแพ้ทุกคดี ไม่สามารถต่อสู้ได้ แต่ขณะนี้พบว่า กทพ.เพิ่งชนะคดี BEM ไป แสดงว่าสมมุติฐานดังกล่าวไม่ถูกต้อง” นายศักดิ์สยามกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คณะทำงานที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้เสนอผลเจรจาให้นายศักดิ์สยามพิจารณาแล้ว คือ จะขยายอายุสัญญาให้ 20 ปี โดยตัดการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 วงเงิน 31,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ
จากปัญหายืดเยื้อมีการวิเคราะห์ว่า การเจรจาคงไม่ง่าย เพราะต่างฝ่ายต่างรู้จักกันดี เพราะธุรกิจในสายงานเดียวกัน
ข่าวลึกแต่ไม่ลับแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร BEM ได้หารือ ฯพณฯ ศักดิ์สยามแล้ว แต่ไม่มีข้อยุติ เพราะติดใจประเด็นก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 หาก BEM ได้ขยายสัมปทาน ค่ายนี้อาจได้งานก่อสร้าง 3 หมื่นล้านไปด้วย จึงต้องเจรจาใหม่พร้อมขยายผลไปถึงสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ รฟม.จะเปิด PPP net cost ให้เอกชนลงทุน ก่อสร้างช่วงตะวันตกของกรุงเทพฯ สัมปทาน 30 ปี และเดินรถสายสีส้มตลอดสายตลิ่งชัน-มีนบุรี มูลค่า 122,041 ล้านบาท โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท
เป็นไปได้ว่า อาจมีการปรับรูปแบบการลงทุนจาก PPP โดยเอกชนรายเดียว แยกเป็นงานก่อสร้างหลายสัญญา และเปิดสัมปทานเดินรถต่างหาก โดยหยิบประเด็นภาระดอกเบี้ยที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชน 10 ปี 40,000 ล้านบาท เป็นข้อพิจารณา
ส่งผลให้ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ต้องช้าลงแต่จะช้าซ้ำรอยแบบ “ไฮสปีด” 3 สนามบินหรือไม่ ต้องรอดู
ที่มา prachachat.net
เจ้าสัวซีพี โชว์เหนือสร้าง เมืองรีเทล มักกะสัน 1.4 แสนล. แซง วันแบงค็อก 1.2 แสนล้านบาท ของ เจ้าสัวเจริญ
บ้านและคอนโด ใน กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เหลือขาย มหาศาลจริงหรือ?