หากจะกล่าวกันถึงสิ่งหนึ่งที่เป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของประเทศหมู่เกาะเช่นญี่ปุ่นแล้วนั้น ถ้าไม่นับการฟื้นตัวเองขึ้นมาจากฐานะผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างแข็งขัน การวางโครงข่ายสาธารณูปโภคอย่างเช่นระบบ ‘รถไฟราง’ ก็นับได้ว่าเป็นปัจจัยที่ส่งให้ญี่ปุ่นก้าวกระโดดไปไกลได้อย่างรวดเร็วชนิดที่คาดไม่ถึง (สถานีชินกังเซ็นแรกในปี 1964 สามารถเนรมิตรพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นเมือง ชินโยโกฮาม่า ได้ในเวลาเพียง 40 ปี…) และด้วยสิ่งเหล่านี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ส่งผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงอสังหาริมทรัพย์ของประเทศอย่างใหญ่หลวง
ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย แม้จะเป็นข้อคัดง้างคาราคาซังกันมาเป็นเวลาเกือบสามปี กับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ และเกิดขึ้นโดยใคร (รวมถึงงบประมาณที่ใช้ ควรจะเป็นไปด้วยจำนวนเท่าใด…) แต่ดูเหมือนว่าความเป็นไปได้ ที่รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ภายใต้การมาถึงของประเทศจีน ก็ดูเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากยิ่งๆ ขึ้นไป
แต่กระนั้น มันยังคงมีปัจจัยปลีกย่อยอื่นๆ ที่ควรได้รับการพิจารณา ในจังหวะก้าวมาถึงของอนาคตใหม่ในภายภาคหน้านี้ ที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งด้วยเช่นกัน
ในเบื้องต้น ณ ขณะนี้ มีการรประเมินกันว่า มูลค่าของการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อภูมิภาคทั้งสี่สาย อันได้แก่
-สายกรุงเทพ-พิษณุโลก
-สายกรุงเทพ-นครราชสีมา
-สายกรุงเทพ-หัวหิน
-สายกรุงเทพ-พัทยา-ระยอง
นั้น น่าจะสูงเกือบ 400,000 ล้านบาท แน่นอนว่าด้วยจำนวนเงินดังกล่าว กับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน โครงการนี้จึงเป็นการเดินทาง ‘ระยะยาว’ ที่ต้องผ่านการวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งในประเทศยังประสบปัญหาด้านทรัพยากรสำหรับการก่อสร้าง ที่มีเพียง 1/3 และองค์ความรู้สำหรับการสร้างและการบำรุงรักษา ที่ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ (ทั้งก่อน และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ)
แผนที่เส้นทางเดินรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นทั้งสี่สาย
Credits: construction-post.com
โชคดี ที่นานาประเทศก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี ก็สามารถวางโครงข่ายระบบรถรางความเร็วสูงได้ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ทั้งยังออกแคมเปญประชาสัมพันธ์ถึงคุณสมบัติอันเพียบพร้อมมานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และความเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าว จะประสบความสำเร็จ เมื่อมาอยู่ในการดูแลของจีนแผ่นดินใหญ่ ฟังดูเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ (ทั้งตำแหน่งสถานี เส้นทางที่พาดผ่าน และค่าใข้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน)
แต่ ณ ที่นี้ เรากำลังพูดถึงแวดวงอสังหาฯ กับการมาถึงของรถไฟฟ้าความเร็วสูง และสิ่งเหล่านั้น มีราคาที่ต้อง ‘จ่าย‘
ตามเงื่อนไขการพัฒนาเมืองใหม่ ในมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้โดยมีญี่ปุ่นเป็นต้นแบบนั้น จะต้องเป็นพื้นที่โล่งขนาด 2000-5000 ไร่ขึ้นไป และอยู่ห่างจากเมือง 5-10 กิโลเมตรเพื่อเว้นช่วงไว้สำหรับการพัฒนา ซึ่งถ้าลองคิดสะระตะขนาดในหัวกันโดยคร่าวๆ แล้วจะพบว่า เป็นจำนวนพื้นที่ที่ไม่น้อย พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้ไม่ยาก
แต่กระนั้น โมเดลเพื่อการพัฒนาเมืองใหม่ดังกล่าว ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ว่าจะจัดสรรกันโดยมาตรฐานใด ก็กลายเป็นสุญญากาศเล็กๆ ที่สำคัญ ที่จะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวอสังหาริมทรัพย์ของหัวเมืองที่สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงพาดผ่าน เพราะในขณะที่หลายๆ ฝ่ายยังไม่อาจจะแน่ใจ แต่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ ก็พร้อมเดินหน้า และเบิกร่องโครงการในพื้นที่่ต่างจังหวัดไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย (เช่น AP กับ LPN ที่ปักธงพื้นที่อุดรธานีได้เร็วก่อนใครในช่วงสองปีที่ผ่านมา)
แม้จะยังไม่มีกำหนดสร้างที่ชัดเจน แต่อุดรธานี ก็เป็นที่หมายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วในรอบสองถึงสามปีที่ผ่านมา
Credits: udonechamber.com
เหล่านี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จะส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่รอบนอกให้ทะยานสูงขึ้น ก่อนที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะแล้วเสร็จ ยังไม่นับรวมข่าวคราวว่าสองยักษ์ใหญ่อย่างซีพีและไทยเบฟเอง ก็เริ่มจับจองขอร่วมทุนกับเส้นทางหลัก สองจากสี่สาย ที่แทบจะสามารถปักป้ายประกาศไปได้ล่วงหน้า อีกทั้งข้อสัญญาจากทางประเทศจีนเองก็เป็นเรื่องที่ต้องพึงระวัง เพราะพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ต้องกันสำรองให้คนจีนนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจทำให้รู้สึกสบายใจได้…มากนัก
อย่างไรก็ดี ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทางฝั่งภาครัฐนำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขุนคลังคนใหม่ ก็พยายามผลักดันและเร่งให้การประมูลผู้รับเหมาเกิดขึ้น แม้จะไม่สามารถเสร็จสิ้นได้ในปี 2558 อย่างที่ตั้งใจ แต่เชื่อว่าประเด็น ‘รถไฟ’ คงถูกให้ความสำคัญขึ้นมามากยิ่งขึ้น
ด้วยสภาวะเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นโจทย์หลักในปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากประเทศจีน ก็คงเป็นอีหนึ่งปัจจัยที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต้องพิจารณาอย่างไม่อาจมองข้าม
Credits: most.go.th
ทั้งหมดนี้ คือความเคลื่อนไหวด้านอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจ ในการมาถึงของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากประเทศจีน ที่แม้ว่าจะยังไม่ได้เริ่มดำเนินการวางเสาเข็ม แต่ทุกคนก็พร้อมทะยานไปสู่อนาคตกันในอัตราเร่งที่น่าตระหนก และเชื่อว่า เมื่อโครงการสามารถเดินเครื่องไปที่เฟสแรก อสังหริมทรัพย์ในเขตรอบนอก และพื้นที่เกิดใหม่ คงทำให้แวดวงมีอะไรที่น่าสนใจให้ได้ติดตาม และมันจะไม่นานอย่างที่หลายคนเข้าใจ…