สืบเนื่องมาจากราคาเหล็กรูปพรรณที่มีการขึ้นราคาจาก 20 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 23.3 บาทต่อกิโลกรัม นั้นหลายคนมองราคาไม่แพง แต่ในความเป็นจริงราคาขายตามร้านวัสดุก่อสร้าง หรือ บริษัทที่นำเข้าเหล็ก หรือ ผลิตเหล็กเส้นสำหรับการก่อสร้างที่จำหน่ายอยู่นั้นราคาสูงกว่านี้ เพราะนี่เป็นราคามาตรฐาน และ ในการก่อสร้างนั้นเหล็กเป็นสิ่งสำคัญ ปริมาณการใช้นั้นคิดกันเป็นตันๆเลยทีเดียว
ซึ่งทางผู้ประกอบการอสังหาฯรายย่อย หวังให้ คสช.เข้าควบคุมราคาเพราะเชื่อว่าการขึ้นราคานั้นมีผลประโยชน์แอบแฝงและดูเป็นการผูกขาดตลาดของผู้จำหน่ายเหล็กเส้นรายใหญ่ และ ยังเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่ๆอีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้นั้น นายนิธิ ตากวิริยนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สรรสิ่งดี จำกัด ผู้พัฒนาโครงการบ้านนารา เปิดเผยว่า ปัญหาของราคาเหล็กเส้นนั้นมีมาหลายปีแล้ว เพราะมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจอสังหาฯเพราะเหล็กเป็นปัจจัยหลักในการก่อสร้าง และ มีส่วนในการกำหนดกำไรขาดทุนของผู้ประกอบการเลยทีเดียว และได้มีการตรวจสอบข้อมูลต่างๆพบว่า การออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา ตั้งแต่การประกาศมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (anti-dumping) ซึ่งมีผลต่อการจำกัดนำเข้าสินค้าจากบางประเทศ จนมาถึงมาตรการปกป้องการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศโดยสมบูรณ์ (safeguard) ส่งผลให้เหลือผู้ผลิตเหล็กเพียง 2 รายที่ผูกขาดตลาด
จากนั้นผู้ผลิต 2 รายใหญ่ดังกล่าวได้ประกาศขึ้นราคาเหล็กภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับราคาเหล็กในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงปรับราคาลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ โดยราคาเหล็กรีดร้อนในประเทศไทยได้เริ่มขยับสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 หลังจากออกมาตรการเซฟการ์ดตามคำขอของบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ ซึ่งสร้างผลกระทบด้านการแบกราคาเหล็กที่สูงขึ้นของกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เหล็กเป็นวัสดุหลักในการดำเนินกิจการ ตั้งแต่ธุรกิจก่อสร้าง ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า ผลจากการประกาศมาตรการเซฟการ์ดราคาเหล็กได้เพิ่มขึ้นจาก 20 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนธันวาคม 2556 เป็น 21 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนมกราคม และขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน 2557 ที่ราคาเหล็กในประเทศไทยไต่ระดับขึ้นมาถึง 23.3 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเหล็กรีดร้อนในต่างประเทศยังมีราคาเสนอขายที่ประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดทำให้พอสรุปได้ว่าปัญหาราคาเหล็กที่สูงขึ้นนั้นส่งผลประทบต่อผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งมีผลต่อราคาขายบ้าน เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ราคาบ้านก็ต้องสูงขึ้นตาม ซึ่งบ้านแต่ละหลังนั้นคิดราคาค่าเหล็กออกมาแล้วไม่ต่ำกว่าหลังละ 3-4 แสนบาทสำหรับบ้านราคาไม่เกิน 2 ล้าน ซึ่งหากปล่อยให้มีการขึ้นราคาเหล็กได้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าในอนาคตราคาบ้านก็จะสูงคนประชาชนทั่วไปที่มีรายได้น้อย หรือ ปานกลาง อาจจะซื้อบ้านเป็นของตัวเองไม่ได้ และ ผู้ประกอบการรายย่อยก็จะอยู่ไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน หรือ ผู้รับเหมาที่รับเหมาก่อสร้าง ทั้งจากผู้ประกอบการรายย่อย หรือ รับสร้างบ้านทั่วไป อาจใช้วิธีลดต้นทุนโดยการใช้เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ลดขนาด ลดจำนวน ซึ่งส่งผลให้บ้านไม่ได้มาตรฐาน และ ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อยู่อาศัย
ทั้งนี้ กลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก นำโดย นายปิติพัฒน์ ปรีดานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปรีดาโฮลดิ้ง จำกัด ผู้พัฒนาโครงการ กรีเน่คอนโด แจ้งวัฒนะ, นายธนยศ อมกฤตวาริน รองประธานกรรมการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Modern House Property และตน ต้องการแสดงจุดยืนต่อกรณีการขึ้นราคาสินค้าเหล็กที่ไม่สอดคล้องต่อกลไกตลาด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการที่เดือดร้อน เพื่อยื่นจดหมายร้องเรียนถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ เพื่อหวังให้มีนโยบายควบคุมราคา เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนของค่าเหล็กที่สูงขึ้น และ เพื่อไม่ให้เป็นการผูกขาดตลาด
อนึ่ง ในสมัยที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศใช้มาตรการเซฟการ์ดเมื่อปี 56 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า ผู้ผลิตในประเทศ 4 ราย ซึ่งประกอบด้วย บริษัทสหวิริยาอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) บริษัท สหวิริยาเพลทมิล จำกัด (มหาชน) บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) และบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นขอตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2555 ให้ใช้มาตรการชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กดังกล่าว เพราะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2553 เพิ่มขึ้น 72% จากปี 2552 ปี 2554 เพิ่มขึ้น 97% จากปี 2553 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 นำเข้าเพิ่มขึ้น 72% จากช่วงเดียวกันของปี 2554 ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตทำให้มีระดับการขาย การผลิต การใช้กำลังการผลิต การจ้างงาน ตลอดจนกำไรลดลง
ข่าวและบทความข้างต้นนี้จัดทำโดย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ดอท พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการส่งข่าวเกี่ยวกับแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประชาสัมพันธ์ สามารถติดต่อได้ที่ [email protected]